ธนินท์ เจียรวนนท์ เรียนรู้อยู่เสมอ


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาเป็นผู้นำคนเดียวของสังคม ธุรกิจไทย ที่สร้างอาณาจักรธุรกิจจากเล็กๆ จนยิ่งใหญ่ระดับภูมิภาค ในช่วงวัย ที่เหมาะสมของเขาช่วงหนึ่ง ยุทธศาสตร์สำคัญของผู้นำธุรกิจคนนี้ก็คือ การศึกษา และเรียนรู้ยู่เสมอ

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มซีพี มีประสบการณ์การเรียนรู้ระดับโลก 2 ช่วง ที่สำคัญมาก สำหรับวางรากฐาน และพัฒนาธุรกิจ ที่เป็นจริง และเป็นธุรกิจ พื้นฐานที่สุดของภูมิภาคนี้ และของโลก

ครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษ 2510 คือ การเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตร ที่สำคัญจากตะวันตก โดยเฉพาะการร่วมมือกับ Aber Arcers แห่งสหรัฐฯ ในการพัฒนาพันธุ์ไก่ อันเป็นรากฐาน และ องค์ประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารครบวงจรในช่วง ที่ผ่านมา อันเป็นที่มาของโมเดลการผลิต ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง สามารถสร้างเครือข่ายการผลิต ที่กว้างขวางจากระดับประเทศ สู่ระดับภูมิภาค

ในช่วง 20 ปีจากนั้น ก็คือ การเรียนรู้ และพัฒนาการผลิตอย่างเข้มข้นอยู่เสมอจากเจ้าของเทคโนโลยีระดับเล็ก และกลางของโลก ด้วยการประยุกต์ ที่เข้ากับสังคมเกษตรของไทย และภูมิภาคได้อย่างกลมกลืน จนกลายเป็นการปฏิวัติการ ผลิตอาหาร ที่สำคัญในระดับภูมิภาคไป

ด้วยความรู้พื้นฐานการศึกษาในระบบไม่มาก เขาจึงกลายเป็นคนที่เรียนรู้จาก เพื่อนร่วมงาน และคนอื่นๆ ได้อย่างวิเศษ จนกลายเป็นบุคลิก ที่สำคัญของเขาเสมอมา จนตราบเท่าทุกวันนี้

อีกช่วงหนึ่ง ที่สำคัญมากคือ ช่วงพัฒนาการเรียนรู้เทคโนโลยีการจัดการ ตั้งแต่การได้มา ซึ่งโครงการสร้างระบบโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายในเขตเมืองหลวง ในต้นทศวรรษ ที่ 2530 ด้วยการร่วม ทุนกับ Bell Atlantic แห่งสหรัฐฯ การร่วมมือครั้งนี้ ซีพีไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี และไม่มีทางจะพัฒนาเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการสื่อสารได้ ซึ่งแตกต่างจากพันธุ์ไก่ และข้าวโพด แต่การร่วมทุนครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการมอง ที่ผลตอบแทนอย่างสูง และรวดเร็วมากกว่าอุตสาหกรรม อาหารแล้ว ก็คือ ได้เรียนรู้เทคโนโลยีการจัดการกับระบบสื่อสาร ที่มองอย่างผิวเผิน แต่ในที่สุดก็ได้พัฒนาการเรียนรู้อย่าง ถึงแก่นขององค์กรใหญ่ระดับโลก ซึ่งก็คือ เทคโนโลยีหรือโนว์ฮาวว่าด้วยการจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงของธุรกิจ เพื่อความอยู่รอด เพื่อการปรับตัว และรักษาความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

ซึ่งนับว่าเป็นการเรียนรู้ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างมาก

ปัจจุบันกลุ่มซีพีเป็นกลุ่มธุรกิจ ที่มีเครือข่ายมาก กระจายทั่วไปในระดับภูมิภาค การบริหารยุคนี้ได้ผ่านมาตรฐานการบริการ การผลิต บุคคล และการเงิน ทั่วๆ ไป และไปสู่การบริหารเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญซีพีได้ผ่านยุคการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กำลังการผลิต ที่มีปริมาณสูงกว่าในมาตรฐานทั่วไป จนกลายเป็นอาวุธพื้นฐานในช่วง 20 ปีของซีพี ในการ เข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารครบวงจร สามารถเอาชนะคู่แข่ง และครองส่วนแบ่งไว้ในมืออย่างมากมาย จนถูกเรียกว่าเป็นธุรกิจผูกขาดนั้น มาแล้ว และกำลังก้าวไปสู่การมองยุทธศาสตร์องค์กร ที่ทำให้องค์กรสามารถให้ผลตอบแทนทางธุรกิจ ที่มากขึ้น เพื่อตอบสนองภาพความสำเร็จทางธุรกิจ ที่แตกต่างจากเดิม ที่มองเชิงขยายมากกว่าคุณภาพ

แนวทางการขยายตัวท่ามกลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคค่อนข้างดี ภายใต้การแข่งขัน ที่น้อยในระยะบุกเบิก ไปสู่การแข่งขันระดับโลก ที่สูงขึ้น องค์กรธุรกิจต้องมองประสิทธิภาพระดับโลกมากขึ้น มากกว่าการผูกขาดหรือครอบงำตลาดเล็กๆ สำหรับประเทศใดประเทศหนึ่งเช่น ที่ผ่านมา

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นด้วยการวางยุทธศาสตร์ การปรับตัวองค์กรในระดับลึกว่าด้วย การจัดการสมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ ที่ถูกเวลาอย่างยิ่ง

นับเป็นช่วง ที่เหมาะสมของซีพีในการต่อสู้ เพื่อดำรงอยู่ขององค์กรตนเอง การต่อสู้ เพื่อความเข้มแข็งขององค์กร มิใช่การขยายอาณาจักรครอบงำตลาดใดตลาดหนึ่งอย่างรุนแรงเช่น ที่ผ่านมา

ธนินท์ เจียรวนนท์ ทุกวันนี้จึงต้องเรียนรู้จากองค์กรธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่ มิใช่องค์กรธุรกิจ ที่มีเทคโนโลยีการผลิตระดับลึกแต่ขนาดเล็กหรือกลางเช่นในอดีต

วันนี้เขามีพันธมิตรระดับโลก ซึ่งเป็นแนวคิด ที่แตกต่างจากอดีต ซีพีในวันนี้มีความสัมพันธ์กับ Bell Atlantic ธุรกิจสื่อสารระดับต้นๆ ของโลกจากสหรัฐฯ KfW สถาบันการเงิน ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเยอรมนี หรือ Allianz บริษัทประกันอันดับต้นๆ ของโลก การเรียนรู้จากพันธมิตรระดับโลก ซึ่งพวกเขานับว่าอยู่แนวหน้าในความชำนาญ ด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ การวางยุทธศาสตร์ และการปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อรองรับกับสังคมธุรกิจโลก ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

นี่คือ สิ่งที่ธนินท์มีมากกว่านักธุรกิจรุ่นเดียวกับเขาหรือรุ่นต่อๆ มา ที่ให้ความสำคัญ ในเรื่อง"สายสัมพันธ์"กับอำนาจรัฐแบบเดิมอย่างเข้มข้น แม้ว่าซีพี และธนินท์จะให้ความ สำคัญในสิ่งนั้น อยู่ไม่น้อย (โดยให้ความสัมพันธ์กว้างขึ้นในระดับภูมิภาค) แต่เขาก็มีสิ่งที่มากกว่าสิ่งนั้น ในเชิงสาระของความเป็นธุรกิจอีกมาก

และนี่ก็คือ สาระของการนำพากิจการใหญ่ให้อยู่รอด ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.