เครือสหวิริยาตบเท้ายื่นพินิจตั้งโรงถลุงเหล็ก5.2แสนล้าน


ผู้จัดการรายวัน(14 กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เครือสหวิริยาตบเท้าพบ "พินิจ" ยื่นแผนตั้งโรงถลุงเหล็ก ผุดอภิมหาอมตะโปรเจกต์ 15 ปี(2548-2562) ลงทุน 5.24 แสนล้านบาท ที่ประจวบคีรีขันธ์ ดันไทยสู่ประเทศผู้นำการผลิตเหล็กระดับโลก ขณะที่ "พินิจ" รับลูกตั้งคณะทำงานศึกษาก่อนสรุปแผนการสนับสนุนอีก 30 วัน ส่วนปัญหาเอดีเหล็กรีดร้อน "วัฒนา" แย้มถ้า 19 ก.ย.นี้ ไม่ประชุมกรรมการเอดี มาตรการยกเว้นเอดีเหล็กชั่วคราวจบ แล้วจะใช้เอดีเหล็กกับ 14 ประเทศต่อ

วานนี้ (13 ก.ย.) เครือสหวิริยานำโดย นายวิทย์ วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารเครือสหวิริยา นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการบริหารเครือสหวิริยา ได้นำผู้บริหารของเครือเข้าพบนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยื่นเสนอแผนการลงทุนตั้งโรงถลุงเหล็ก อย่างเป็นทางการตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการให้ไทยมีโรงถลุงเพื่อลดการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ

นายวิทย์กล่าวว่า เครือสหวิริยา ได้ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโครงการถลุงเหล็กขนาดกำลังการผลิต 30 ล้านตันต่อปี โดยจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 5 เฟสภายในเวลา 15 ปี ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 13,105,000,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 524,200,000,000 บาท

โดยเฟสแรกจะเสร็จในปี 2550 ลงทุนไม่เกิน 80,000 ล้านบาทหรือ 2,070 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตแสลปและบิลเลต 4.5 ล้านตันต่อปี โดยระยะนี้จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในเครือของบริษัทที่อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ทั้งหมด เฟส 2 ลงทุน 1,685 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังผลิต4. 5 ล้านตันต่อปีในปี 2553 เฟส 3 ลงทุน 1,875 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิต 5 ล้านตันต่อปีเสร็จปี 2556 เฟส 4 ลงทุนประมาณ 3,495 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิต 8 ล้านตันต่อปีเสร็จในปี 2559 และเฟสที่ 5 ลงทุน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังผลิต 8 ล้านตันต่อปีเสร็จในปี 2562

ทั้งนี้ ในระยะเวลา 15 ปี (ปี 2548-2562) จะทำให้มีกำลังผลิตรวม 30 ล้านตันต่อปี แล้วจะทำให้ประเทศไทยได้ดุลการค้าต่อปีสำหรับสินค้าเหล็กและ เหล็กกล้าประมาณ 13,449,000,000 เหรียญสหรัฐหรือ 537,960,000,000 บาท จากปัจจุบันไทยขาดดุลการ ค้าต่อปีประมาณ 6,000,000,000 เหรียญสหรัฐจากการนำเข้าเหล็กต่างประเทศ

"โรงเหล็กใหญ่ๆ ติดอันดับโลกจะมีกำลังการผลิตระดับ 30-40 กว่าล้านตันขึ้นไป เราจึงเลือกขนาด 30 ล้านตัน เพื่อความคุ้มทุน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะต้องสร้างท่าเรือรองรับการขนส่งสินแร่เหล็กขนาด 3 แสนตันด้วย และที่เหมาะก็คือที่บางสะพาน เพราะเป็นน้ำลึก ส่วนเทคโนโลยีเราจะต้องเปิดประมูลการแข่งขันใครเสนอมาดีสุดเราก็จะเลือก แต่ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องสนับสนุนระบบรางรถไฟ การสร้างสายส่งไฟฟ้า ถนน และระบบน้ำใต้ดินให้ด้วย" นายวิทย์กล่าว

ด้านนายวินกล่าวว่า การลงทุนพยายามเน้นให้เป็นธุรกิจของคนไทย แต่ยังมองการร่วมทุนไว้ด้วย แต่จะไม่เน้นผู้ลงทุนที่อยู่ในกิจการเหล็ก เพราะจะมีการต่อรองได้ ซึ่งการระดมทุนก็มีหลายทางอาจใช้วิธีการออกหุ้นกู้ รวมไปถึงการนำเงินจากบริษัทในเครือที่ เร็วๆ นี้ จะมีการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดคงขอเวลาศึกษาอีกระยะหนึ่ง

นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปแนวทางการสนับ สนุนภายใน 30 วัน ซึ่งส่วนตัวพร้อมจะสนับสนุนเต็มที่ หากโครงการมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ และจะไม่ปิดกั้นรายอื่นที่สนใจลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทางบริษัท จี-สตีล กลุ่มของนายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ได้เข้ามายื่นแผนการตั้งโรงงานถลุงเหล็กที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองมูลค่า 3 หมื่นล้านบาทโดยขอให้รัฐสนับสนุนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟขนส่ง (Freight Train) รอบนิคมมาบตาพุดเพื่อรองรับการ ขนวัตถุดิบมูลค่า 6,000 กว่าล้านบาท แต่นายพินิจได้ ปฏิเสธในการช่วยเหลือโดยให้เหตุผลว่า แม้ว่าเอกชน จะลงทุนระบบรางขนส่งเองก็ดูแล้วไม่น่าจะคุ้มทุน และที่สำคัญเป็นเรื่องลำบากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะไปช่วยเอกชนในการแก้ปัญหาที่ดิน ที่บางจุดต้องอาศัยอำนาจรัฐให้ยกเว้นและเห็นว่าเส้น ทางขนส่งต้นทุนต่ำก็คือการขนส่งในท่าเรือน้ำลึก

"วัฒนา" แย้มใช้เอดีเหล็กต่อ

ในวันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนา เมืองสุข รมว.พาณิชย์ ได้เชิญผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของประเทศ เช่น บริษัท สหวิริยา สตีล อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สหวิริยา เพลทมิลล์ จำกัด บริษัท จี-สตีล จำกัด (มหาชน) บริษัท นครไทย สตริป มิลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอลพีเอ็น เหล็กแผ่น จำกัด เพื่อหารือข้อมูลการผลิตเหล็กในประเทศ

นายวัฒนากล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะยกเลิกมาตรการเอดีตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน ได้หรือไม่ เพราะการจะยกเลิกเอดีหมายถึงว่าปริมาณ เหล็กในประเทศต้องขาดตลาด และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เท่าที่ได้รับฟังข้อมูลจากผู้ผลิตและผู้ใช้พบว่าปริมาณการใช้สูงกว่ากำลังการผลิตประมาณ 10,000 ตันเท่านั้น และคงต้องรอข้อมูลจากผู้ใช้ในประเทศที่ขอให้ไปรวบรวมความต้องการใช้และให้ราย งานต่อกระทรวงพาณิชย์ภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 ก.ย. เพื่อนำมาเปรียบเทียบและใช้ประกอบ การพิจารณามาตรการเอดี

ทั้งนี้ หากในวันที่ 19 ก.ย. ไม่มีการประชุมคณะ กรรมการพิจารณาการตอบโต้ตลาดและการอุดหนุน ก็แสดงว่ามาตรการยกเว้นเอดีชั่วคราว 6 เดือน ที่เริ่ม ตั้งแต่ 20 มี.ค.-19 ก.ย. ก็จะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และการใช้มาตรการเอดีกับเหล็กนำเข้าจาก 14 ประเทศก็จะดำเนินต่อไป แต่หากพบว่าข้อมูลการใช้มากกว่าการผลิต และผู้ผลิตไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิต ให้เพียงพอก็จะเปิดโควตาให้มีการนำเข้าตามจำนวน ที่ขาดคือ 10,000 ตัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายเรียวอิชิ ซาซากิ ประธานบริษัท โตโยต้า ประเทศไทย จำกัด ได้เข้าพบนายวัฒนาเพื่อให้ข้อมูลความต้องการใช้เหล็ก โดยแจ้งว่าผู้ผลิตภายในประเทศผลิตได้ไม่เพียงพอความต้องการ และวานนี้ (13 ก.ย.) กลุ่มผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศได้มาให้ข้อมูลกับนายวัฒนา ว่าผลิตได้เพียงพอความต้องการ ขณะที่ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่าปี 2546 ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้เหล็กประมาณ 4.8 ล้านตัน ปี 2547 เพิ่มขึ้น 8% หรือ 5.2 ล้านตัน ขณะที่กำลังการผลิตจริงมีประมาณ 3 ล้านตัน อีก 2 ล้านตันนำเข้าจากต่างประเทศ แสดงว่าปริมาณความต้อง การยังขาดประมาณ 200,000 ตัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.