กลต.เย้ยเอกยุทธข้อมูลเก่า


ผู้จัดการรายวัน(14 กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เลขาฯก.ล.ต.เย้ยข้อมูล "เอกยุทธ" ไม่มีอะไรใหม่ อ้างเจ้าตัวยอมรับเองไม่มีหลักฐาน ทั้งยังไม่เคยเอ่ยชื่อ ส. กับ ป. ระบุข้อมูลที่ให้เป็นแค่การ ซื้อขายแบบหักลบกลบหนี้ ไม่ใช่การสร้างราคา แต่ขอเวลา 2 อาทิตย์ก่อนสรุป ขณะที่ "เอกยุทธ" ยันพร้อมเดินหน้าแฉข้อมูลโดยตรงกับประชาชน "ทักษิณ" รูดซิปปาก ส่วนคลังพร้อมตรวจสอบส.ส.กลุ่ม 16 "วราเทพ" ลั่นพร้อมให้ปปง.ตรวจ สอบการถูกกล่าวหาพัวพันคดีบีบีซี นักกฎหมายเตือนไม่มีกฎหมายรองรับให้ยึดทรัพย์ย้อนหลัง ด้านสันติบาลยัน "เอกยุทธ" ปลอดภัย

วานนี้ (13 ก.ย.) นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ประธานกรรมการบริหาร เครือโอเรียนเต็ล มาร์ท กรุ๊ป ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยนายประพันธ์ คูณมี ทนายความ ได้เดินทางไปให้ข้อมูลกรณีที่ออกมาชี้เบาะแสการปั่นหุ้น SCIB-C1 กับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยได้ยื่นเอกสาร ชุดเดียวกับที่ได้เคยยื่นให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นายเอกยุทธกล่าวหลังจากเข้าพบก.ล.ต.ว่า จากข้อมูลที่ให้ ก.ล.ต.เชื่อว่าทำให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง น่าจะได้ข้อสรุปที่ ชัดเจนภายใน 1 วัน เพราะมีรายละเอียดชัดเจนชื่อบริษัท วันเวลาในการสร้างราคาและปริมาณการซื้อขาย แต่ก.ล.ต.ขอเวลามากกว่า 3 วันโดยอ้างว่าที่ล่าช้าเพราะหลายโบรกเกอร์ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลลูกค้า

นายเอกยุทธระบุว่าเชื่อในกระบวนการตรวจสอบและขั้นตอนกฎหมาย แต่มีเผด็จการเข้ามาครอบงำระบบยุติธรรม

"ภายใน 2 สัปดาห์ หากเรื่องดังกล่าวไม่มีความชัดเจนจะนำข้อมูลที่พร้อมจะเปิดเผยกับประชาชนเอง ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ตัวอื่น การไซฟ่อนเงิน และจะติดตามการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป"

กรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่าผลการตรวจสอบ SCIB-C1 ไม่พบความผิดปกติ และแนะนำบุคคลที่เสียหายจากการพาดพิงในกรณีดังกล่าวฟ้องกลับนายเอกยุทธนั้น เห็นว่าในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับดูแล ไม่ควรจะออกมาพูด เพราะเป็นการก้าว ก่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่

ส่วนการฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายเอกยุทธกล่าวว่ากำลัง ศึกษาว่ามีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ เพราะตนเป็นผู้บริสุทธิ์ตามคำสั่งศาล

นายประพันธ์ กล่าวว่ายังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใหม่ในตอนนี้ แต่จะรอการตรวจสอบของก.ล.ต.ก่อน เพราะเรื่อง SCIB C1 เกี่ยวโยงไปยังการไซฟ่อนเงิน บริษัทจดทะเบียนกว่า 3 พันล้าน ขณะที่ทนายความส่วนตัวของนายเอกยุทธ ที่ประเทศอังกฤษได้ดำเนินการยื่นฟ้องศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ

เผยเอกยุทธยอมรับไม่มีหลักฐาน

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แถลงข่าวว่าข้อมูลนายเอกยุทธมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบ และส่วนที่สองเป็นข้อมูลเดียวกับที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งซึ่งข้อมูลดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำการตรวจสอบแล้ว แต่ไม่พบว่าเข้าข่ายการปั่นหุ้น

ส่วนการให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ก.ล.ต. นายเอกยุทธแจ้งว่าไม่เคยพูดว่า ป.ปลา หรือส.เสือเป็นคนปั่นหุ้น และยอมรับว่าไม่มีหลักฐาน ส่วนที่ระบุว่า มีการสร้างราคา SCIB-C1 เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ได้สังเกตจากระบบการซื้อขายที่เป็นข้อมูลสาธารณะ

"ผลการตรวจสอบที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งมาให้ ก.ล.ต. ระบุว่า ไม่พบการซื้อข่ายที่เข้าข่ายการสร้างราคา ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายในลักษณะหักลบ กลบหนี้ (net settlement) โดยปริมาณของผู้ซื้อขายสูงสุด 30 รายแรกมีสัดส่วนของมูลค่าซื้อรวมกัน เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายรวม มิได้มีนัยสำคัญ"

นายธีระชัยยืนยันว่า หากผลออกมาพบมีผู้กระทำความผิด ก.ล.ต. จะดำเนินคดีทุกกรณี ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่ประชุมได้กำชับให้ตรวจสอบอย่างละเอียด ดังนั้นเมื่อมีข้อสรุปเบื้องต้นภาย ในสำนักงานแล้ว จะนำเสนอเรื่องพร้อมข้อมูลทั้งหมด ต่อคณะกรรมการก.ล.ต.โดยจะแสดงชื่อจริง นามสกุลจริงของผู้ซื้อและผู้ขายรายใหญ่ทุกราย ที่ซื้อขายในแต่ละวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่นายเอกยุทธ ตั้งข้อสงสัย รวมทั้งผลการตรวจสอบในทางลึกอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไป เพื่อให้กรรมการ ก.ล.ต. แต่ละท่านพิจารณาข้อเท็จจริงด้วยตัวเองทั้งหมด และหากกรรมการท่านใดเห็นว่าควรมีการตรวจสอบเพิ่มเติมในจุดใด ก็จะดำเนินการจนครบถ้วน"

"ผมตระหนักดีว่า ประชาชนสนใจข้อกล่าวหาปั่นหุ้น SCIB-C1 มาก จึงจะดำเนินการอย่างรัดกุมโปร่งใสที่สุด และสุดท้ายเมื่อได้ผลประการใดก็จะเปิดเผยข้อมูลแก่สื่อมวลชนให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ดังนั้น เรื่องนี้จึงจะมีการกลั่นกรองถึง 4 ชั้น ชั้นแรกโดยตลาดหลักทรัพย์ ชั้นที่สองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. ซึ่งมีอำนาจเจาะลึกถึงทาง เงินผ่านบัญชีธนาคารต่างๆ ชั้นที่สามโดยคณะกรรม การก.ล.ต. และชั้นสุดท้ายโดยการแถลงข้อมูลต่อสื่อมวลชน" นายธีระชัยกล่าว

นายกฯรูดซิปปากแล้วคลังพร้อมสอบกลุ่ม 16

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงนายเอกยุทธ แม้ผู้สื่อข่าวจะพยายามถามตลอดทั้งวัน ส่วนกรณีที่นายพิเชฐ พัฒนโชติ ส.ว.นครราชสีมา เสนอให้รัฐบาลตรวจสอบการทุจริตและฉ้อโกงประชาชนของนักการเมือง กลุ่ม 16 ซึ่งขณะนี้เป็นนักการเมืองในรัฐบาลหลายคนที่กู้เงินจากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การหรือบีบีซี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าจะมอบหมายให้นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากรในฐานะปลัดกระทรวงฯคนใหม่เข้าไปดูแล

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนกลุ่ม 16 เปิดเผยว่า พร้อมที่จะให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้าไปตรวจสอบกรณีการทุจริตการ ปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ (บีบีซี) เชื่อว่าปปง.จะไม่เลือกปฏิบัติแต่จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายทุกประการ

"ส่วนตัวเชื่อว่ากลุ่ม 16 มีความยินดีที่จะให้ ปปง.เข้ามาตรวจสอบ แต่ถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกอย่างต้องยุติ"

ก่อนหน้านี้ว่าที่ร.ต.ไพโรจน์ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่ม 16 กล่าวว่าไม่หนักใจ แต่หากเป็นไปได้อยากให้นาย พิเชฐระบุชื่อบุคคลให้ชัดเจนว่าใคร เพราะอดีตส.ส.ที่เคยได้ชื่อว่ากลุ่ม 16 นั้นเริ่มต้นอาจมีแค่ 16 คน แต่ตอนสุดท้ายมีมากถึง 36 คน และขณะนี้ก็เป็นรัฐมนตรีและร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน 4 คน ได้แก่ นาย วราเทพ นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระ-ทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับการพัวพันความเสียหายของบีบีซีของกลุ่ม 16 เป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อนายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องหาคดีบีบีซีออกมาเปิดประเด็นข้ามประเทศว่าได้บริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองบางพรรคถึง 300 ล้านบาท กลุ่ม 16 จึงถูกเพ่งเล็งเพราะเคยกู้เงินจากบีบีซีวงเงินกว่า 2 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินที่วงเงินปล่อยกู้แต่ละโครงการมีมูลค่าสูงกว่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน

นอกจากนี้ ยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในกันผ่องถ่ายเงินร่วมกับนายราเกซเทกโอเวอร์บริษัท จดทะเบียนช่วงปี 2536-2537 โดยเข้าไปไล่ซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นที่กลุ่ม 16 เข้าซื้อ เช่น บริษัทน้ำมันพืชไทย บริษัทชลประทานซิเมนต์ บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น ก่อนจะขาย ต่อราคาสูง

ทั้งนี้ วันที่ 30 ก.ย.นี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี ฟังคำพิพากษคดีที่นายราเกซกับพวกรวม5 คน ปล่อยกู้บริษัทกระดาษของนายราเกซ กว่า 1.6 พันล้านบาทเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีแรก จากทั้งหมด 27 คดี ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล มูลค่าความเสียหายเกือบ 3 หมื่นล้านบาท รวมจำเลยกว่า 10 คน

ติงปปง.ต้องทำเป็นความลับ

นายสัก กอแสงเรือง ส.ว.กทม.กล่าวถึงกรณีที่ปปง.จะตรวจและยึดทรัพย์ของนายเอกยุทธว่าสิ่งที่ประชาชนยังคลางแคลงใจก็คือมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ เลือกปฏิบัติหรือไม่ หรือเป็น การตรวจสอบในจังหวะที่สมควรหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วการตรวจสอบหรือทำหน้าที่ของ ปปง.ควรจะต้อง ทำเป็นความลับ ไม่ใช่ออกมาดำเนินการให้ข่าวในทำนองที่อาจจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

"ในการตรวจสอบต้องมีการเชื่อมโยงกันว่า เมื่อทำความผิดมูลฐานแล้วได้มีการฟอกเงินอย่างไร มีการซุกเงิน มีการยักย้ายถ่ายเทอย่างไร มีการเชื่อมโยงของเงินที่ได้จากการทำผิดมูลฐานอย่างไร แต่ไม่ใช่ไปอายัดทรัพย์สินทั้งหมดที่ยังไม่มีการตรวจสอบ"

ส่วนปปง.จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากเกินไปหรือไม่ นายสักกล่าวว่าปปง.จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าได้ทำในจังหวะ ในภาวะ และในลักษณะที่อาจจะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหรือไม่ ส่วนกรณีนี้จะนำเอาสิ่งที่ศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับปปง. มาใช้ได้หรือไม่นั้น นายสักกล่าวว่าคนละกรณีเพราะกรณีนายเอกยุทธ เป็นเรื่องของการดำเนินการ เกี่ยวกับทรัพย์สินไม่ใช่เรื่องธุรกิจ

นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ส.ว.สิงห์บุรี และประธานคณะกรรมาธิการการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบ คอบ เพราะเท่าที่ดูในขณะนี้ ไม่มีกฎหมายใดรอง รับให้รัฐบาลดำเนินการได้ แม้จะอ้างว่ามีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยึดทรัพย์ย้อนหลังได้ก็ตาม

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกฎหมายมหาชน กล่าวไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบย้อนหลัง เพราะมีปัญหาเยอะ

"ถ้าจะไม่จำกัดหรือไม่กำหนดอายุความ เราไม่ต้องย้อนหลังคดีต่างๆ ไปอีกเป็นร้อยๆ คดี ทั้งคนที่มีคดี ปฏิวัติรัฐประหาร ฉ้อโกงประชาชน พวกนี้ผิดทั้งนั้น ผมว่าจะไปกันใหญ่ ปปง.ต้องเป็นกลาง อย่าให้ใครนำไปเป็นเครื่องมือ"

พ.ต.อ.ยุทธบูล ดิสสะมาน รองเลขาธิการปปง. กล่าวว่า ขณะนี้การตรวจสอบทรัพย์สินดำเนินไปตามขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน ซึ่งกระบวนการทุกอย่างต้องปกปิดเป็นความลับจึงไม่สามารถเปิดเผยความคืบหน้า โดยจะเปิดเผยข้อเท็จจริงได้ต่อเมื่อคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีมติให้ยึดอายัดทรัพย์

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่าไม่ได้รู้สึกหวั่นเกรงกับการฟ้องศาลโลกของนายเอกยุทธ เพราะการปฏิบัติหน้าที่มีคำสั่งทางปกครองลงไป ผู้ที่เห็นว่าถูกละเมิดตามคำสั่งก็สามารถยื่นฟ้องได้ ซึ่งตนก็ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยในคดีจำนวนไม่น้อย ส่วนการทำงานของปปง.ตนไม่เคยเข้าไปก้าวก่าย

"เท่าที่ทราบ ปปง.ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของทุกคนที่มีการซื้อขาย หรือโอนหุ้น เกินวงเงิน 2 ล้านบาท โดยจะตรวจสอบลึกถึงธุรกรรมการเงินต้องสงสัย โดยกระบวนการสอบสวนจะดำเนินไปในทางลับ ไม่มีใครทราบว่าถูก ปปง. ตรวจสอบจนกว่า จะมีการยึดทรัพย์ ไม่เพียง ส.ส.กลุ่ม 16 เท่านั้น คนในพรรคไทยรักไทย หรือแม้แต่รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลก็ถูก ปปง.ตรวจสอบทั้งหมด เพียงแต่รายละเอียดไม่ได้ถูกป่าวประกาศ เพราะกฎหมายปิดปากห้ามพูด ผมจึงไม่หวั่นวิตกต่อคำขู่ของนายเอกยุทธ ที่จะฟ้องผมต่อศาลโลก ที่สำคัญผมยังไม่รู้ว่าจะฟ้องผมต่อศาลโลกใบไหน และศาลนั้นจะมีสภาพบังคับต่อคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรือไม่" นายพงศ์เทพกล่าว

ตร.ยัน "เอกยุทธ" ปลอดภัย

พล.ต.ท.ปรุง บุญผดุง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล กล่าวว่า นายเอกยุทธ ไม่น่าจะได้รับผลร้าย จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหายตัวไปอย่างลึกลับ เช่นเดียวกับนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายเจไอ เพราะหากนายเอกยุทธ หายตัวไปจริงๆ รัฐบาลคงอยู่ไม่ได้ และเท่าที่ทราบความเคลื่อนไหวของนายเอกยุทธขณะนี้ เป็นไปในลักษณะปิดลับ ไม่มีใครทราบได้ว่า นายเอกยุทธ จะออกมาเคลื่อนไหวเวลาใด และอย่างไร ที่อยู่ก็ไม่เป็นที่เปิดเผย

เหยื่อแชร์ชาร์เตอร์เพิ่ม

พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.)ได้ลงนามในหนังสือสรุปเรื่องร้องเรียนของผู้เสียหายในคดีแชร์ชาร์เตอร์ ที่ได้เข้าร้องเรียนกับฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ ระหว่างวันที่ 7-10 ก.ย.รวม 13 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวนประมาณ 23,400,000 บาท พร้อมทั้งบันทึกปากคำผู้เสียหายที่ร้องเรียนและเอกสารแสดงสิทธิ์การร้องเรียนรวม 313 หน้า เสนอไปยังฝ่ายติดตามตรวจสอบทรัพย์สินของปปง.เพื่อดำเนินการตาม กม.ฟอกเงินต่อไป ทั้งนี้ บช.ก.จะสรุปเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคดีแชร์ชาร์เตอร์ เสนอไปยัง ปปง.เป็นประจำในทุกสัปดาห์

วานนี้ (13 ก.ย.)มี ประชาชนผู้เสียหายจากคดีดังกล่าว เข้าร้องเรียนเพิ่มเติมอีก 5 ราย รวมมูลค่า ความเสียหายประมาณ 5,485,000 บาท ซึ่งหากรวมผู้ร้องเรียนทั้งหมด มีผู้เสียหายรวม 18 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 28,885,000 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.