AMATA เตรียมผุดนิคมฯที่ดองไนมั่นใจลุยเวียดนามระยะยาวผลรับดี


ผู้จัดการรายวัน(14 กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

AMATA เดินหน้าสร้างนิคมอุตฯ ในดองไน เวียดนาม หลังรัฐบาลเวียดนาม ให้พื้นที่ถึง 2 หมื่นไร่ เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมดึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โวจะทำแบบปลอดภาษี คาดไปได้ดีเพราะมีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะค่าแรงต่ำ รัฐหนุน ปีนี้ฟุ้งโกยรายได้ 3 พันล้านบาท และกำไรอีก 1 พันล้านบาท

นายวิกรม กรมดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (AMATA) เปิดเผยแผนการลงทุนในปีนี้ว่า AMATA มีที่ดินรอการพัฒนาอีกหลายแห่ง โดยที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ แห่งละ 2-3 พันไร่ โดยปี 47 บริษัทฯมั่นใจว่าจะขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอมตะได้ 1 พันไร่ จากปัจจุบัน ขายพื้นที่ไปแล้วประมาณ 700 ไร่

นอกจากที่ดินที่รอการพัฒนาในประเทศแล้ว AMATA ยังมีที่ดินที่อยู่ในเวียดนามที่รอการพัฒนาอีก คือที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะ ซิตี้ เบียนหัว หลังจากที่บริษัทได้เข้าพัฒนาเฟสแรกไปแล้ว และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาพื้นที่เฟส 2 ประมาณ 1,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากเฟสแรกที่มีการพัฒนาที่ดินไปแล้ว 800 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติที่ย้ายฐานการลงทุน ไปเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

นายวิกรม กล่าวว่า นอกจากที่เบียนหัว แล้ว AMATA ยังมีที่ดินที่ดองไน ที่จะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม อมตะ เอ็กซเพรส ซิตี้ ซึ่งจะจัดทำขึ้นเป็นลักษณะเขตปลอดภาษี โดยรัฐบาลเวียดนามได้ให้สิทธิ์ในที่ดินจำนวน 2 หมื่นไร่ และการได้สิทธิ์ ในที่ดินดังกล่าวนี้ ตรงกับนโยบายการลงทุน ในเวียดนามของ AMATA แม้ว่าในปัจจุบัน ผลตอบแทนจากการลงทุนในเวียดนามอาจมีกำไรน้อย แต่ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

"ผมเชื่อว่าอนาคตจะสดใส เพราะค่าแรงที่เวียดนามต่ำ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเวียดนามก็เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด ขณะที่ต้นทุนการทำนิคมฯต่ำเมื่อเทียบกับเมืองไทย รัฐบาลมั่นคง ด้านพลังงานก็มีมาก ที่สำคัญเราไม่ต้องซื้อที่ดินในการทำนิคมฯเหมือนในไทย ซึ่ง AMATA จะได้รับ สิทธิในการทำนิคมฯในเวียดนามนานถึง 50 ปี และต่ออายุได้อีก 50 ปี โดยมีค่าใช้จ่าย เพียงค่าเวนคืนที่ดินเท่านั้น" นายวิกรมกล่าว

เพราะไทยนอกจากต้องซื้อดินเพื่อพัฒนาที่ดินแล้วก็ยังต้องมาจ่ายภาษี ตลอดจนรับผิดชอบในด้านสาธารณูปโภคให้ครบครัน ตรงข้ามกับที่เวียดนาม ดังนั้น การ พัฒนาที่ดินที่ดองไน ของ AMATA จึงอยู่ ในระหว่างการเริ่มต้นเขียนแบบในการสร้าง นิคมฯ เท่านั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาได้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด AMATA ได้เปิดทางให้ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด(มหาชน) (SCCC) ซึ่งได้ลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกัน ให้เข้าไปสร้าง PLANT ที่ใช้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ เพื่อส่งขายให้กับลูกค้าที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง อมตะซิตี้และอมตะนคร เพื่อเป็นการเปิดทางให้ SCCC จำหน่ายคอนกรีตในภาคตะวันออกได้ ลดระยะทางในการส่งมอบสินค้า

นอกจากนี้ ในอนาคตบริษัทยังเปิดโอกาสในการที่จะให้ SCCC เข้าไปสร้าง PLANT ในนิคมฯ ของ AMATA ได้เพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งในนิคมที่เวียดนามด้วย ซึ่งพาร์ตเนอร์ยังมีโอกาส พร้อมกับยืนยันว่าการสร้าง PLANT ของ SCCC จะไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้าที่อยู่ในนิคมฯ เพราะ PLANT จะถูกก่อสร้างไว้ตอนท้ายของนิคมฯ แต่ละแห่ง คือห่างไกลจากที่บริษัทหรือโรงงาน ตลอดจนที่ของคนงานพักอาศัย เพื่อความปลอดภัย ด้านชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่บริษัทได้ เห็นความสำคัญของบุคลากรเป็นอย่างแรก

ก่อนหน้านี้ AMATA ได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก่อสร้างศูนย์การบริการในอมตะนครโดยลงทุนกว่า 100 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกลงทุน 70 ล้านบาท และที่เหลือใช้ในระยะที่ 2 ตั้งเป้าหมายว่าให้เป็นบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ปาร์ก เกิดขึ้นในอมตะนครซึ่งทั้งโครงการมีพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือธนาคารพาณิชย์ กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค กลุ่มหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาต การให้ถิ่นที่อยู่อาศัย และการอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องให้บริการด้าน ประกันภัยและขายตรง กลุ่มศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านการผลิตอุตสาหกรรมของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่นิคมฯ มีจำนวน 400 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ทำการส่งออก ความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีและการทำ R&D เข้าไปใช้ นับว่าเป็นจุดสำคัญอย่างยิ่งที่ไทยจะต้องรองรับความต้องการให้แก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ 3 พันล้านบาท และตั้งเป้าทำกำไรในปีนี้ 1,000 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่มีกำไร 811 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรกของปี 2547 บริษัทสามารถทำกำไรได้แล้วกว่า 500 ล้านบาท ทำให้เชื่อมั่นว่าสิ้นปีนี้จะทำกำไรได้ตามเป้าที่กำหนดไว้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.