|
แบงก์แห่ถือหุ้นบริษัทลูก 100%
ผู้จัดการรายวัน(13 กันยายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์พาณิชย์แห่ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ หลังธปท. เปิดทางถือหุ้นบริษัทลูกได้ 100% ล่าสุด "นครหลวงไทย"ประกาศตัวเป็น Financial Bank Supermarket ชูนโยบายถือหุ้น 100% ไม่มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เล็งเทกโอเวอร์ "ลีสซิ่ง" ในปีหน้า "อดิศักดิ์" เผยเพื่อรองรับการเป็นสถาบันการเงิน ที่ให้บริการอย่างครบวงจร ขณะที่ก่อนหน้า "กสิกรไทย" ลุยซื้อบริษัทหลักทรัพย์ และเตรียมบุกธุรกิจลีสซิ่งเช่นกัน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)(SCIB) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจของธนาคารจะมุ่งเน้นการเป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร (Financial Bank Supermarket) โดยที่ผ่านมาธนาคารได้เข้าลงทุนในธุรกิจประกันชีวิต ประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นบริษัทในเครือได้ถึง 100%
สำหรับแผนในปี 2548 ธนาคารเตรียมที่จะเข้าซื้อกิจการในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) เพื่อให้บริการของธนาคารครอบคลุมทุกรูปแบบ
"เราอยู่ระหว่างตัดสินใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจลีสซิ่ง ซึ่งจะเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 100% แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยยังต่ำ ต้องรอดูทิศทางดอกเบี้ย ที่มีแนวโน้มขึ้นในปีหน้า ทำให้ปีหน้าแบงก์มีอำนาจต่อรองหรือต้นทุนในการซื้อต่ำกว่าช่วงดอกเบี้ยต่ำ"
สำหรับโครงสร้างธุรกิจในเครือของธนาคารนครหลวงไทยประกอบด้วย บริษัทแม็กซ์ประกันชีวิต ธนาคารนครหลวงไทยถือหุ้น 100% บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนครหลวงไทยถือหุ้น 100% บริษัทหลักทรัพย์นครหลวงไทย 100% บริษัทนครหลวงไทยบริการ 100% และบริษัทประกันภัยนครหลวงไทย 45.5%
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารนครหลวงไทยไม่มีนโยบายที่จะนำธุรกิจในเครือไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากต้องการอำนาจการบริหารงานเต็มที่ และที่สำคัญ การที่กระจายหุ้นออกไป จะทำให้เกิดปัญหาในทางการบริหาร เนื่องจากการทำธุรกิจของธนาคาร พาณิชย์ ที่ทำร่วมกับบริษัทในเครือหากถือหุ้นเต็มสัดส่วน การที่ธนาคารจะลดค่าธรรมเนียม หรือมีการต่อรองราคาต่างๆกับลูกค้า สามารถทำได้โดยไม่มีความขัดแย้งในการทำธุรกิจ (Conflict of Interest)
นางสาวอังคณา พูนสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) (SCIB) กล่าวว่า การที่ธนาคารไม่มีนโยบายนำหุ้นของบริษัทที่อยู่ในเครือเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากจะกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจ เพราะการที่จะเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจรได้ จะต้องถือหุ้น 100% เนื่องจากกระบวนการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับลูกค้า จะสามารถต่อรองราคาได้ หรือลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้กับลูกค้าได้
"ถ้าหากมีการกระจายหุ้น หรือธนาคารไม่ได้ถือเต็ม 100% การดำเนินธุรกิจตามแผนที่จะเป็นธนาคารที่ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจรจะลำบากมาก เพราะการลดค่าธรรมเนียม หรือการลดราคาแต่ละครั้งผู้ถือหุ้นจะเกิดคำถาม เนื่องจากการลดราคาจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผลการดำเนินงานของแบงก์ หรือบริษัทในเครือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแบงก์มีความจำเป็น ต้องรักษาผลประโยชน์ทั้งในส่วนของแบงก์เอง และธุรกิจในเครือ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ถือหุ้นอาจไม่เข้าใจ"
ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ก่อนหน้านี้ได้ประกาศขยายแผนการดำเนินธุรกิจลงไปในธุรกิจหลักทรัพย์ และเตรียมที่จะเข้าซื้อกิจการธุรกิจลีสซิ่งโดยล่าสุดได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส (ASP) และบริษัทหลักทรัพย์ แอสเซท พลัส (ASSET) เพื่อบันทึกความเข้าใจ ของแต่ละฝ่ายในการที่จะปรึกษาหารือกันต่อไปเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้มาซึ่งหุ้นทั้งหมดที่ ASP ถืออยู่ใน ASSET โดยราคา ข้อกำหนดและเงื่อนไขของธุรกรรมดังกล่าว จะกำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของคู่สัญญาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าผลการตัดสินใจของคณะกรรมการธนาคารภายในปลายเดือนกันยายน ส่วนการเข้า ไปลงทุนในธุรกิจลีสซิ่ง เพื่อขยายช่องทางและโอกาสทำธุรกิจ คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนในปีหน้า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|