สวีเดนมอเตอร์ส ปรับโฉมใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

สวีเดนมอเตอร์ส คาดว่าจะสร้างกำไรกลับมาได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า และปรับตัวเองกลายเป็นเพียงดีลเลอร์จำหน่ายรถวอลโว่ แต่เพียงผู้เดียว ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่สหัสวรรษใหม่นี้เป็นต้นไป

นับตั้งแต่การลดค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 ที่ ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีหนี้ต่างประเทศจำนวนมากต่างมีผลการดำเนินงานติดลบขึ้นทันที และมูลค่าหนี้ ที่มีอยู่ก็ทวีค่าขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ทัน หลายบริษัทต้องประสบผลขาดทุน ทำให้ต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูกิจการก่อน ที่จะถูกลบชื่อออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

บริษัท สวีเดนมอเตอร์ส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหนึ่ง ที่ต้องส่งแผนฟื้นฟูให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ และคณะกรรม การ เพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูสภาพ และศักยภาพทางการเงินให้บริษัทฯสามารถขยาย และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้ง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะการเงินของบริษัทฯ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอนาคต และ ที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อคงสถานภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไว้ต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทฯได้รวบรวมสาเหตุหลัก ที่ทำให้สถานะบริษัทฯตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่ไว้ดังนี้ จากการลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ที่ส่งผลต่อค่าเงินโครนของสวีเดนอย่างรุนแรง ทำให้ราคารถนำเข้าสำเร็จรูป ราคารถยนต์ ที่ผลิตในประเทศ และราคาอะไหล่สูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศบีบให้ลดการนำเข้ารถยนต์ด้วยการขึ้นภาษี โดยแบ่งเป็น 2 ครั้งคือ ครั้งแรก เพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) เป็น 80% และครั้ง ที่ 2 ขึ้นภาษีสรรพสามิต และรถ ที่ประกอบภายในประเทศ (CKD) อีก 5%

มาตรการของรัฐบาลเหล่านี้ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ของบริษัทฯ ตกต่ำมากที่สุดจาก ที่เคยจำหน่ายได้สูงสุดถึง 5,536 คันในปี 2537 เหลือเพียง 812 คันในปี 2541 ซึ่งเมื่อ ยอดขายตกลงอย่างรวดเร็ว ก็ย่อมส่งผลให้รายได้ และ กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายของกลุ่มบริษัทฯ ลดลงด้วยเช่นกัน โดยยอดขายรวม ณ สิ้นปี 2541 มีมูลค่าเท่ากับ 1,780 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2540 ถึง 21% หรือจาก 2,267 ล้านบาท และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายต่อเนื่อง เมื่อบริษัทต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ย ที่สูงจากเงินกู้ยืมจำนวนมาก

จากสาเหตุเหล่านี้ทำให้บริษัทฯ ต้องกลายเป็นบริษัท ที่เข้าข่ายหนี้สินล้นพ้นตัว และขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จากการที่บริษัทมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ และจาก ที่บริษัทไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา และหากบริษัทไม่สามารถปรับโครงสร้างทางการเงิน และการดำเนินงานให้มีผลกำไรได้ กลุ่มบริษัทอาจจะถูกผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกฎหมายได้

ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทฯจึงเห็นว่า บริษัทจำเป็นต้องมีการกำหนดแผนฟื้นฟูให้บริษัทมีกำไรได้ภายใน 2 ปีข้างหน้า จึงได้เริ่มดำเนินการร่างแผนฟื้นฟู โดยกระบวนการฟื้นฟูทั้งหมดเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2541 ต่อจากนั้น ในไตรมาส ที่ 3 ของปีเดียวกัน เจ้าหนี้กว่า 75% ของบริษัทฯ เห็นชอบ และอนุมัติแผนการฟื้นฟูกิจการที่ทางบริษัทฯ เสนอไป จากนั้น ทั้งเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นต่างเห็นชอบในร่างแผนฟื้นฟู และอนุมัติให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูได้ จนกระทั่งวันที่ 29 พ.ย.2542 ทุกฝ่ายได้ลงนามในเอกสารฉบับสุดท้าย ที่จัดขึ้น ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ และปรับโครงสร้างทางการเงินให้สาธารณชนรับทราบเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการของสวีเดน มอเตอร์สมีรายละเอียดดังนี้ วอลโว่คาร์ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่ไม่ใช่เจ้าหนี้จะอัดฉีดเงินทุนในรูปของเงินสดประมาณ 276 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นใหม่ และจำหน่ายในราคาหุ้นละ 10 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาซื้อ-ขายครั้งสุดท้าย ที่มีมูลค่าหุ้นละ 1.3 บาท รวมทั้งวอลโว่คาร์จะซื้อทรัพย์สิน ที่ไม่ได้ใช้ในธุรกิจหลัก ที่ดิน และการลงทุนของสวีเดนมอเตอร์สมูลค่าประมาณ 486 ล้านบาท อันประกอบด้วย ที่ดินเช่า และโรงงานย่านบางนา-ตราด และหัวหมาก และผลประโยชน์ของสวีเดนมอเตอร์สในบริษัท ไทยสวีดิชแอสแซมบลีย์ (TSA) รวมถึงคลังอะไหล่รถยนต์ของสวีเดนมอเตอร์สด้วย ยิ่งกว่านั้น วอลโว่คาร์ฯ จะเข้ามารับผิดชอบดูแลตัวแทนจำหน่ายรถยนต์วอลโว่ทั่วประเทศ รวมทั้งการนำเข้าการตลาด การจัดจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ และฝึกอบรมด้านการบริการทั่วประเทศ

ส่วนบทบาทของเจ้าหนี้ ที่ประกอบด้วยธนาคาร และผู้ถือหุ้นกู้ จะแปลงหนี้จำนวน 1,717 ล้านบาทให้เป็นทุน จากหนี้ทั้งหมด ที่มีอยู่จำนวน 3,400 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน ที่ 38.8 บาท ต่อ US$1) และจะรับการชำระหนี้คืนเป็นเงินสดประมาณ 681 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของหนี้ค้างชำระทั้งหมด และหนี้ส่วน ที่เหลือของสวีเดนมอเตอร์ส ประมาณ 1,048 ล้านบาท หรือประมาณ 30% จะได้รับการปรับปรุงในสัญญาเงินกู้เงื่อนไขใหม่ (Waterfall System) โดยแบ่ง 3 ส่วนคือ เงินกู้ธรรมดาประมาณ 500 ล้านบาท อายุประมาณ 7 ปี, เงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจำนวน 425 ล้านบาท และเงินกู้มีดอกเบี้ย (5-7%) ประมาณ 123 ล้านบาท โดยสองส่วนหลังนี้จะทยอยจ่ายภายใน 6 ปี

ผลจากการปรับโครงสร้างทางการเงินครั้งนี้ทำให้โครงสร้างต้นทุนทั้งหมดของสวีเดนมอเตอร์ลดลงตามส่วน และยังคงเป็นตัวแทนจำหน่าย และผู้ให้บริการรถยนต์วอลโว่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลต่อไปอีก 5 ปี ภายใต้สัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายกับวอลโว่คาร์ฯ ส่วนทุนติดลบของสวีเดนมอเตอร์สมูลค่า 1,700 ล้านบาท จะเปลี่ยนเป็นทุน 420 ล้านบาท และหนี้สินทั้งหมดจะลดลงจากประมาณ 3,400 ล้านบาท เหลือเพียง 1,000 ล้านบาท และโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของสวีเดนมอเตอร์สจะประกอบด้วย ส่วนของเจ้าหนี้ 73% วอลโว่คาร์ฯ 15% และส่วน ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นอื่นๆ และเงื่อนไขในโครงสร้างใหม่นี้ ผู้ถือหุ้น ที่ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้อัดฉีดเงินทุนจะต้องยอมรับการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้น

"การปรับโครงสร้างของสวีเดนมอเตอร์สในครั้งนี้ นับเป็นการฟื้นฟูกิจการที่แท้จริง โดยมีการปรับปรุงโครงสร้าง ทุกอย่างใหม่หมดทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ โครงสร้างองค์กร สินทรัพย์ หุ้น และโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมั่นใจได้ว่า บริษัทนี้จะมีอนาคต ที่สดใส และต่อจากนี้ไปธนาคารเจ้าหนี้กำลังรอดูความสำเร็จของสวีเดนมอเตอร์สหลังการปรับโครงสร้างแล้ว" เป็นคำกล่าวของฟิลิปส์วิงเคิล จากสแกนดินาวิสกา เอ็นสกิลด้า แบงเค่น ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการธนาคารเจ้าหนี้ของสวีเดนมอเตอร์ส

เวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีเศษของกระบวนการทั้งหมด วันนี้ สวีเดนมอเตอร์สถือว่าเป็นบริษัทมหาชนกลุ่มแรก ที่ประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ และความสำเร็จในครั้งนี้ เจฟฟรี่ย์ โรว์ กรรมการผู้จัดการสวีเดนมอเตอร์ส เล่าว่า เกิดจากความร่วมมือ และสนับสนุนของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ธนาคารเจ้าหนี้ ผู้ถือตราสารเงินกู้ วอลโว่คาร์ฯ และฝ่ายควบคุมดูแลด้านกฎหมาย อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ฯ, ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างดี

สำหรับบทบาท และโครงสร้างการทำงานของสวีเดน มอเตอร์สในสหัสวรรรษนี้ เจฟฟรี่ย์เปิดเผยว่า เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนโลโกใหม่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ในตลาดรถยนต์ระดับหรูในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในส่วนขององค์กรใหม่ของบริษัทฯ ได้มีการลดระดับการบริหารลงเหลือเพียง 3 ระดับ โดยสำนักงานใหญ่ลดพนักงานเหลือเพียง 38 คน พร้อมทั้งยุบแผนกต่างๆ เหลือเพียง 4 แผนกเท่านั้น คือ แผนกพัฒนาธุรกิจ แผนกการเงิน และการบัญชี แผนกทรัพยากรบุคคล และแผนกตรวจสอบภายใน ซึ่งสำนักงานใหญ่จะทำหน้าที่รับผิดชอบให้การสนับสนุนธุรกิจรถยนต์ขายปลีก ซึ่งมีพนักงานขายอยู่ประมาณ 450 คน หรือ 92% ของพนักงานทั้งหมดของสวีเดนมอเตอร์ส โดยหน่วยงานทุกส่วนนั้น จะขึ้นตรงกับกรรมการผู้จัดการคือ เจฟฟรี่ย์ โรว์ คนเดิม

ฐานะใหม่ของสวีเดนมอเตอร์สจะเป็นบริษัทขายปลีกรถยนต์วอลโว่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแต่เพียงผู้เดียว โดยแบ่งพื้นที่การให้บริการของหน่วยงานขายปลีกออกเป็น 5 เขต ได้แก่ เขตกลาง (สุขุมวิท 19, สุขุมวิท 39) เขตตะวันออก (หัวหมาก) เขตเหนือ (แจ้งวัฒนะ, ลาดพร้าว, สุขาภิบาล 1) เขตตะวันตก (จรัญสนิทวงศ์, ดาวคะนอง, บางแค) และเขตใต้ (สีลม, ศรีนครินทร์) ส่วนศูนย์บริการจะตั้งอยู่ ที่บางนา พร้อมให้บริการฉุกเฉินตลอด 24 ชม. และมีบริการธุรกิจเช่ารถยนต์ด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.