ณรงค์ศักดิ์ ผ้าเจริญ หัตถกรรมเชียงใหม่โอกาสและช่องทางยังมีอีกมาก

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

การเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจผลิตงานหัตถกรรมส่งออก ของณรงค์ศักดิ์ ผ้าเจริญ มีความแปลก แตกต่างจากผู้อื่นอยู่มาก และอาจเรียกว่าเกิดขึ้นได้ด้วยความบังเอิญ

เมื่อ 4 ปีก่อน ณรงค์ศักดิ์ไม่เคยคิดเลยว่าในที่สุดแล้วเขาต้องมาทำธุรกิจนี้ แต่ทุกวันนี้ เขากลับประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง กับการเป็นผู้ผลิตและส่งออกงานเครื่องปั้นดินเผา ในนาม บริษัทคิงส์ คอลเลคชั่น

ณรงค์ศักดิ์ไม่ใช่คนเชียงใหม่ แต่เขาเคยฝันมาตลอดว่าสักวันหนึ่งเขาต้องขึ้นมามีธุรกิจของตัวเองในจังหวัดเชียงใหม่

เขาเป็นคนพะเยา แต่มาเรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนบุญญาวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง

เขาลงไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีสาขาการตลาด ที่คณะบริหารธุรกิจ มหา วิทยาลัยกรุงเทพ หลังจากนั้นได้ไปศึกษาต่อ จนได้ Diploma of Business จาก Perth Institute of Business & Technology ประเทศออสเตรเลีย

เขาเคยผ่านงานมาแล้วหลายบริษัท ทั้งไนท์สปอตโปรโมชั่น และสหโมเสคอุตสาห-กรรม ที่สุดท้ายเขาอยู่ฝ่าย New Business Development ของอเมริกันแสตนดาร์ด

ต้นปี 2541 หลังประเทศไทยประสบวิกฤติได้เพียง 6 เดือน เขาก็ตัดสินใจลาออก ทั้งๆ ที่งานประจำที่อเมริกันแสตนดาร์ดของ เขาไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ และเงินเดือนที่เขาได้รับก็อยู่ในอัตราที่สูงพอสมควร

เขานำเงินสะสมก้อนหนึ่งเดินทางขึ้นมาเชียงใหม่

"ตอนนั้นรู้สึกว่าเบื่อกรุงเทพฯ สุดขีด อยากทำอะไรให้กับตัวเอง แล้วก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะต้องเป็นที่เชียงใหม่ หลายคนว่าผมบ้า ที่อยู่ดีๆ ก็ลาออก" เขาเล่าความรู้สึกช่วงนั้นกับ "ผู้จัดการ"

ที่เชียงใหม่ ณรงค์ศักดิ์ยังไม่มีแผน การเลยว่าจะทำอะไร เขามาเปิดห้องใน โรงแรมแม่ปิงนอนเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เพื่อใช้เวลาหาช่องทางให้กับตัวเอง "ตอนนั้นผมไปทุกที่ในเชียงใหม่ ศึกษาชีวิตของคนเชียงใหม่ กลางคืนมีที่เที่ยวที่ไหนที่คนชอบเที่ยวก็ไป มีสนามกอล์ฟที่คนชอบไปตีกันที่ไหน ก็ไปตีด้วย"

วันหนึ่ง เขาขับรถเล่นไปทางหมู่บ้าน ถวาย อำเภอหางดง "ผมขับรถเข้าไป ก็ตกใจ เพราะว่ามีรถคอนเทนเนอร์วิ่งสวนออกมา ก็เกิดสงสัยว่าบ้านถวายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ถนน ก็แคบ แล้วก็ไม่มีโรงงานอยู่แถวนั้น แต่ทำไม รถคอนเทนเนอร์ถึงมาวิ่งแถวนี้ ก็ขับต่อเข้า ไป ปรากฏว่าไปเจอบริษัทชิปปิ้ง และเห็นคน กำลังช่วยกันโหลดงานหัตถกรรมของบ้านถวายขึ้นรถคอนเทนเนอร์ ก็รู้เลยว่ามันจะต้องเป็นสินค้าที่มีตลาดใหญ่แน่ๆ" เขาเล่า

งานหัตถกรรมเป็นสิ่งที่ณรงค์ศักดิ์ชอบเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว และด้วยประสบ การณ์เดิมที่เคยอยู่อเมริกันแสตนดาร์ด ซึ่ง เป็นผู้ผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ เมื่อเขาเห็นช่องทาง เช่นนี้ เขาจึงตัดสินใจได้ทันทีเลยว่าสิ่งที่เขาจะทำคือ การผลิตงานหัตถกรรมเครื่องปั้น ดินเผา

เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากวันนั้นแล้ว เขายังลงทุนจ้างเด็กให้ไปนั่งเฝ้าริมถนนทางเข้าหมู่บ้านถวาย และถนนเส้นเชียงใหม่-สันกำแพง เพื่อเก็บสถิติว่าในแต่ละวันมีรถคอนเทนเนอร์วิ่งเข้า-ออกกี่เที่ยว

และเป็นเรื่องบังเอิญ ก่อนที่ณรงค์ศักดิ์จะเริ่มต้นวางแผนจัดตั้งบริษัทอย่างจริง จัง มีเพื่อนเขาคนหนึ่ง ซึ่งทำงานเป็นชิปปิ้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา มีสินค้าที่เป็นงานหัตถกรรม ที่ลูกค้าได้ปฏิเสธจะรับสินค้าจำนวนหนึ่ง กองอยู่เต็มโกดัง เพื่อนคนนี้จึงนำสินค้าเหล่านั้นมาให้เขาลองเอาไปขายในงานเปิดท้ายขายของที่กาดสวนแก้ว

"ผมเอาของมา 100 กว่าชิ้น ประธาน ในพิธียังไม่ทันตัดริบบิ้น ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยง"

หลังจากนั้น เขาจึงลองเช่าพื้นที่ในกาดสวนแก้ว และรับสินค้าจากชาวบ้านมาลองวางขาย ปรากฏว่าขายดีมาก และเริ่มมีชาวต่างชาติหลายรายที่แสดงความสนใจสั่งซื้อ เขาจึงจำเป็นต้องไปศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออก เขาตัดสินใจเลิกเช่าพื้นที่กาดสวนแก้ว แล้วมาเปิดบริษัทคิงส์ คอลเลคชั่น เพื่อผลิตชิ้นงาน เครื่องปั้นดินเผาส่งออกโดยเฉพาะช่วงเปิดบริษัทใหม่ๆ เขาต้องพบกับอุปสรรคค่อนข้างมาก เพราะยังไม่มีประสบการณ์ด้านการส่งออกสินค้ามาก่อน เขาต้องเสียเงินไปประมาณ 1 ล้านบาท ในการร่วมทุนเปิดศูนย์กระจายสินค้าที่สหรัฐอเมริกา ร่วมกับกลุ่มผู้ส่งออกงานหัตถกรรมในจังหวัดเชียงใหม่อีก 5 ราย (รายละเอียด โปรดอ่านเรื่อง "NOMEX")

แต่เงินที่เสียไปสำหรับเขาแล้วถือว่าคุ้มค่า เพราะทำให้เขาได้เห็น และเรียนรู้ช่องทาง ในการจำหน่ายสินค้าในสหรัฐอเมริกาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 ซึ่งเป็นเดือนที่ศูนย์กระจายสินค้าในสหรัฐอเมริกาปิดตัวลง ปรากฏว่ากลายเป็นจุดเริ่มต้นการส่งออกของคิงส์ คอลเลคชั่น เพราะเริ่มมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการที่เขาได้ไปทำตลาดด้วยตัวเอง

ออฟฟิศปัจจุบันของณรงค์ศักดิ์ อยู่ในซอยวัดเจ็ดยอด ริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง พื้นที่ไม่กว้างนัก มองจากภายนอกคล้ายอู่ซ่อมรถ ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ เลยที่บ่งบอกว่าที่นี่เป็นที่ทำงานและโชว์รูมของบริษัทผู้ส่งออกงานหัตถกรรมรายใหญ่ของเชียงใหม่

แต่เมื่อเดินเข้าไปภายในจะพบว่ามีการตกแต่งให้เป็นโชว์รูมอย่างดี ไม่แพ้ร้านขายงานหัตถกรรมรายย่อย ที่ตั้งอยู่ทั่วไปตามย่านซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว

หม้อ ไห สไตล์ต่างๆ ถูกวางโชว์ไว้ด้วยอย่างมีศิลปะ สอดแทรกด้วยงานแกะสลักหินทราย ในสไตล์เขมรโบราณ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เขาเพิ่งเริ่มทำเพิ่มขึ้นจากงานเครื่องปั้นดินเผาได้ไม่นาน

งานทุกชิ้น ได้รับการออกแบบให้มีสไตล์ที่แตกต่างจากงานที่วางขายอยู่ตามร้านค้าเครื่องหัตถกรรมทั่วๆ ไป ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในเชียงใหม่

และมีบางชิ้นที่ถูกออกแบบไว้เพื่อขายในปี 2545 โดยเฉพาะ

แต่ทุกชิ้นแม้จะมีลวดลายที่แปลกตา แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของล้านนา ซึ่งเป็นจุดขายที่สำคัญที่สุด

วันที่ "ผู้จัดการ" ได้ไปพบกับณรงค์ศักดิ์ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2544 เขากำลังชื่นชมกับภาพผลงานเครื่องปั้นในชุด spring 2001 ของเขา ที่ได้ขึ้นเป็นปกนิตยสารประจำเดือนของห้าง MAJER ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศถึง 161 สาขา ในฐานะสินค้าแนะนำของห้าง

ในวันเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่เขากำลังเร่งทำเรื่องเสนอราคาสินค้า เพื่อส่งอี-เมล ไปให้กับห้าง Debenhams ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่มีอยู่ถึง 90 สาขา ทั่วเกาะอังกฤษ ที่ได้ติด ต่อส่งออร์เดอร์มาให้ผ่านทาง buying agent

ก่อนหน้านั้น 2 เดือน เขาเพิ่งกลับจากการเดินทางไปเปิดตัวสินค้าในประเทศอิตาลี

"ทุกวันนี้ผมส่งงานออกตกเดือนละประมาณ 10 ตู้คอนเทนเนอร์" เขาบอก

ตลาดของคิงส์ คอลเลคชั่น ปัจจุบันได้กระจายไปทั่วโลก ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ชิลี บราซิล หมู่เกาะแคริเบียน และญี่ปุ่น

ก่อนเกิดการก่อวินาศกรรม ตึกเวิลด์ เทรดเซ็นเตอร์ ที่สหรัฐอเมริกา เคยมีตัวแทน ซึ่งเป็นผู้จัดหาสินค้าป้อนให้กับโรงแรมแถบตะวันออกกลาง ที่มีลูกค้าอยู่ในมือถึง 50,000 ห้อง ติดต่อเข้ามาขอสั่งสินค้าจากเขา แต่เขาจำเป็นต้องปฏิเสธกลับไป

"เรากลัวว่าจะทำให้ไม่ทัน" เป็นปัญหาพื้นฐานสำหรับผู้ผลิตงานหัตถกรรมในเชียงใหม่

จากคนที่ไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องการส่งออกมาเลยเมื่อ 4 ปีก่อน แต่จากผลงานที่ผ่านมาของคิงส์ คอลเลคชั่น ทำให้ทุกวันนี้ณรงค์ศักดิ์ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาการตลาดระหว่างประเทศ ให้กับโครงการ MBA ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนิด้า

เขามองว่าโอกาส และช่องทางของงานหัตถกรรมเชียงใหม่ในตลาดโลกยังมีอยู่อีกมาก เพียงแต่ผู้ที่คิดจะก้าวเข้ามาทำอาชีพนี้ จะต้องมีความตั้งใจ มีความคิดสร้างสรรค์ พยายามออกแบบชิ้นงานของตนเองให้มีความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่ยังคงต้องยึดพื้นฐานความ เป็นล้านนา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

"ที่สำคัญต้องไม่ใช้วิธีการก๊อบปี้ และตัดราคา เพราะจะทำให้ธุรกิจโดยรวมพังลงมาด้วยกันทั้งหมด"

เขายินดี หากคนที่คิดจะเข้ามาทำธุรกิจนี้ จะยึดรูปแบบที่เขาสามารถสร้างคิงส์ คอล เลคชั่น จนประสบความสำเร็จได้ในวันนี้เป็นแนวทาง และเขาก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษา และข้อแนะนำตลอดเวลา

เพราะเขาเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีผู้ส่งออกหัตถกรรมรายใหม่ๆ ที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเขาเพิ่มขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.