สังวร ลานยศ ส่งออกกระดาษสาทำเงินปีละ 40 ล้าน

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

"ปีที่แล้ว เราส่งออกได้ประมาณ 40 ล้านบาท" สังวร ลานยศ บอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษสาในปี 2543 ของบริษัทเชียงใหม่ อินเตอร์เนชั่นแนล เดค

ตัวเลขนี้อาจเป็นรายได้ที่ดูไม่มากนัก ถ้าจะเปรียบ เทียบกับบริษัทใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ

แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางหรือย่อม อย่างผู้ผลิตงานหัตถกรรมเพื่อการส่งออกแล้ว รายได้ขนาดนี้ถือว่าสูงพอสมควรทีเดียว

ทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา กำลังเป็นดาวรุ่งของการส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของเชียงใหม่ "เฉพาะที่ห้าง MAJER ในสหรัฐอเมริกาที่เดียว มีออร์เดอร์สั่งการ์ดที่ทำจากกระดาษสาของเชียงใหม่ไปขาย ปีหนึ่งเป็นล้านๆ แผ่น" ผู้ส่งออกงานหัตถกรรมผู้หนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

มีผู้ประกอบการหลายรายที่เข้ามา จับธุรกิจนี้ แต่เชียงใหม่ อินเตอร์ฯ เดค เป็นรุ่นแรกๆ และดูเหมือนจะเป็นรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในขณะนี้ "ตอนนี้ถ้าลองไปเดินในยุโรป ในอเมริกา ตามห้างใหญ่ๆ จะมีผลิตภัณฑ์กระดาษสาของคุณสังวรวางขายเต็มไปหมด" ผู้ส่งออกรายเดิมบอก

เชียงใหม่ อินเตอร์ฯ เดค ก่อตั้งขึ้นใน ปี 2532 โดยสังวร ลานยศ

เขาเป็นคนสันกำแพง พื้นฐานครอบ ครัวเดิมนั้น พ่อของเขาเคยเป็นผู้ผลิตร่มขาย อยู่ในหมู่บ้านบ่อสร้าง เขาจึงมีความคุ้นเคยกับงานหัตถกรรม โดยเฉพาะจากกระดาษสามาพอสมควร

เขาจึงเลือกที่จะผลิตชิ้นงานจาก กระดาษสาตั้งแต่เริ่มต้นตั้งบริษัท

"กระดาษสาสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย และที่สำคัญ ผมเป็นคนชอบงานศิลปะ ชอบงานออกแบบแม้จะไม่ได้เรียนจบมาทางนี้" สังวรให้เหตุผล

สังวรจบปริญญาตรี ด้านการตลาด จากวิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ ในปี 2530 หลังจากนั้นได้ไปเป็นลูกจ้างอยู่ในบริษัท ส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก ซึ่งที่นี่เขาได้สั่งสมประสบการณ์ด้านการค้าขาย จนมองเห็นช่องทาง จึงลาออกเพื่อมาเปิดบริษัทของตัวเองในอีก 2 ปีต่อมา

ช่วงที่เขาตัดสินใจเปิดบริษัทนั้น ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนัก "ผมถือว่าเรามีส่วนร่วมผู้บุกเบิก image ของผลิตภัณฑ์กระดาษสา ทำให้คนรู้ว่ามีคุณค่า สามารถทำอะไรได้อย่าง variety"

ด้วยความ variety นี่เอง ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในเวลาต่อมา

บริษัทเชียงใหม่ อินเตอร์ฯ เดค ของสังวร ก็เติบโตขึ้น ตามความนิยมของตลาด

บรรดาผู้ส่งออกงานหัตถกรรมด้วยกัน ยอมรับว่าเหตุผลหนึ่งที่ธุรกิจของสังวรประสบความสำเร็จ เพราะเขาทำอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การผลิตแผ่นกระดาษ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่สุด ไปจนถึงการออกแบบ และการประดิษฐ์ ทำให้เขาสามารถควบคุมคุณภาพงานให้ได้มาตรฐาน ตามที่ลูกค้าในต่างประเทศต้องการ

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสายังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นของขวัญ ของที่ระลึก เครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องเขียน สมุดบันทึก อัลบั้ม รูป การ์ดอวยพร ฯลฯ ตลาดจึงมีกว้างกว่างานหัตถกรรมประเภทอื่น
หลายปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ อินเตอร์ฯ เดค ต้องมีการนำผลิตภัณฑ์ไปออกร้านตามงานนิทรรศการ เฉลี่ยประมาณถึง 7-8 ครั้ง ถี่กว่าผู้ผลิตงานประเภทอื่น ที่อย่างมากจะออก งานปีละ 2-3 ครั้ง

"ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการอะไร เราก็สามารถนำสินค้าของเราไปร่วมออกร้านได้หมด"

แต่จุดสำคัญที่สุด ที่ทำให้เขาได้เปรียบผู้ผลิตงานหัตถกรรมรายอื่น คือ การที่เขาได้เข้าเป็นตัวแทนในคณะกรรมการของ Design Center ที่ประเทศฝรั่งเศส

องค์กรแห่งนี้มีบทบาทสูงในการออกแบบงานแฟชั่น และงานหัตถกรรมทั่วโลก เพราะ เป็นองค์กรกลางที่ดีไซเนอร์ทุกคนเชื่อถือ หน้าที่สำคัญขององค์กรนี้ คือการเป็นผู้กำหนดและประกาศ trend ของรูปแบบ และสีสันของงานฝีมือล่วงหน้าของแต่ละปี ดังนั้นดีไซเนอร์ทุกรายไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น การตกแต่งบ้าน รวมถึงงานหัตถกรรม จะต้องรอดู trend ที่มีการประกาศจากองค์กรนี้ก่อน จึงจะออกแบบสินค้าได้

"ถ้าเราไม่ดู trend หรือสินค้าที่เราออกแบบไปมันหลุดจาก trend มันก็จะไม่สามารถไป combine กับสินค้าที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆ ที่อยู่ใน trend เดียวกันได้ ลูกค้าเขาก็จะไม่สั่งสินค้าของเรา"สังวรบอกเหตุผล

การที่สังวรมีที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการ ชุดนี้ ทำให้เขาสามารถรับรู้ข้อมูลว่า trend ที่ กำลังจะประกาศออกมาจะเป็นอย่างไร เขาจึงสามารถออกแบบงานที่จะรองรับแนวโน้ม ของตลาดล่วงหน้าได้ก่อนคนอื่น

กลางปีก่อน เมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำคณะรัฐมนตรีเดินทางขึ้นไปประชุมที่เชียงใหม่ บริษัทเชียงใหม่ อินเตอร์ฯ เดค ได้ถูกเสนอเป็นบริษัทตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการจัดการตามนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ดังนั้นสังวรจึงต้องเป็นตัวแทนนำเสนอข้อมูลของบริษัทให้กับคณะรัฐมนตรี และพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ถือให้รูปแบบ การจัดการของเขาเป็น 1 ในต้นแบบของการ บริหารตามนโยบายนี้

"บริษัทของผมได้รับการสนับสนุนจากเจโทร ซึ่งเป็นต้นความคิดที่รัฐบาลนำไป ใช้เป็นนโยบาย 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นมาประชุมที่เชียงใหม่ ทางเจโทรเขาก็แนะนำให้คณะรัฐมนตรีมาดูข้อมูล ของบริษัทผม เหมือนเป็นโครงการตัวอย่าง"

ทุกวันนี้ มีชาวบ้านที่เป็นแรงงานให้กับเชียงใหม่ อินเตอร์ฯ เดค ประมาณ 300 กว่าคน กินพื้นที่ประมาณ 10 ตำบล ในเขตอำเภอสันกำแพง ดอยสะเก็ด สารภี และกิ่งอำเภอแม่ออน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.