สยามศิลาดล ผลิตภัณฑ์เพื่อรสนิยมบนโต๊ะอาหาร

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้จะทำศิลาดลเหมือนกัน แต่คอนเซ็ปต์ของสยามศิลาดลกับเตาเม็งรายก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง

"ผลิตภัณฑ์ของเรา ส่วนใหญ่เป็นประเภท tableware" จุฬาลักษณ์ วรรณกูล Marketing&Export Manager สยามศิลาดล จำแนกกับ "ผู้จัดการ"

สยามศิลาดล เป็น 1 ในบริษัทในเครือระมิงค์กรุ๊ป ของนิตย์ และเพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ เจ้าของชาระมิงค์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเสมือน สัญลักษณ์ของนักธุรกิจในเชียงใหม่

สยามศิลาดล ก่อตั้งขึ้นในปี 2519 หลังเตาเม็งราย 3 ปี เริ่มจาก International Executive Service Corp. (IESC) ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อการกุศลของสหรัฐ อเมริกา ได้มาตั้งโรงงานผลิตเครื่องเคลือบสังคโลกขึ้น เพื่อช่วยเหลือให้อาชีพกับชุมชน ในละแวกสันกำแพง พร้อมกับเปิดร้านค้าขนาดเล็กเพื่อขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว

หลังจากนั้น 5 ปี นิตย์และเพ็ญพรรณได้เข้ามาร่วมทุน และได้ซื้อกิจการทั้งหมดมาในภายหลัง

การเปลี่ยนมือเจ้าของกิจการจาก IESC มาเป็นระมิงค์กรุ๊ป เป็นการปรับเปลี่ยน คอนเซ็ปต์ของสยามศิลาดลให้เป็นธุรกิจเต็ม ตัว โดยมีการปรับปรุงกระบวนการผลิต การตกแต่งร้านค้า และเริ่มการทำตลาดส่งออก

สินค้าของสยามศิลาดล ซึ่งส่วนใหญ่ คือ จาน ชาม ได้รับการพัฒนาทางด้านการออกแบบ มีการเพิ่มรายละเอียดของลวดลาย และในการผลิตก็มีความประณีตมากขึ้น

"เราถือว่าลูกค้าที่ใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่ทำจากศิลาดล ส่วนใหญ่เป็นคนระดับสูง มีรสนิยม ดังนั้นคุณภาพของสินค้า ต้องแตกต่างจากเครื่องใช้ที่เป็นเซรามิกทั่วไป"

ทุกวันนี้ร้านค้า และโรงงานของสยามศิลาดล ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่-สันกำแพง เลยแยกเข้าบ่อสร้างไปประมาณ 1 กิโลเมตร ที่มีพนักงานรวมทั้งสล่าในโรงงานประมาณ 120 คน ถือเป็นจุดหนึ่งในลิสต์ของกรุ๊ปทัวร์ ที่ต้องแวะพัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาชมกระบวนการผลิต และซื้อสินค้ากลับไปเป็นที่ระลึก โดยรายได้จากการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว ก็ถือเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งเช่นกัน

"สัดส่วนยอดขายของเราจะใกล้เคียงกันระหว่างยอดส่งออก และยอดขายภายในประเทศ" จุฬาลักษณ์บอก

ตลาดภายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็น โรงแรมชั้น 1 ที่จะนำสินค้าไปใช้เสิร์ฟให้แขกที่เข้าพัก เช่น โรงแรมดุสิตลากูนา บันยันทรี บ้านท้องทราย โอเรียนเต็ล แมนดาริน ทั้งที่มะนิลา และกัวลาลัมเปอร์ รีเจนท์ สุโขทัย และไฮแอทเอราวัณ

นอกจากนั้นก็เป็นดีพาร์ทเมนต์สโตร์เช่น ห้างเซ็นทรัล และอิเซตัน ซึ่งเน้นขายสินค้า ระดับหรู

ส่วนตลาดส่งออกจะอยู่ในเอเชียเป็นหลัก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และสิงคโปร์ นอกจากนั้นก็มีในยุโรป ที่อังกฤษ และอิตาลี

"ลูกค้าทางสหรัฐอเมริกาก็มีบ้าง แต่เขาพยายามจะกดราคาลงมามาก เพราะเขาชินกับงานเซรามิกทางจีนมากกว่า" ถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงจุดขายงานหัตถกรรมของเชียงใหม่ ที่พยายามเน้นความมีคุณค่ามากกว่าราคา

เฉลี่ยในแต่ละปี ยอดขายของสยามศิลาดลตกประมาณ 20 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นยอดส่งออก

ทุกวันนี้ แม้สยามศิลาดล จะพยายามหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา แต่ก็ต้องคัดเลือกลูกค้ามากพอสมควร เหตุผลสำคัญเพราะว่ากำลังการผลิตมีไม่เพียงพอ

"บางครั้งมีลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาเยอะมาก แต่เราไม่มีกำลังการผลิตพอที่จะทำขนาดนั้น แล้วเราก็พอใจกับกำลังการผลิตที่มีอยู่เท่านี้ เพราะมันคือคุณภาพที่เราสามารถรักษาไว้ได้ ถ้าเราขยายกำลังการผลิตไป เราอาจจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพในอนาคต เพราะการส่งออกงานหัตถกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน" เธอให้เหตุผล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.