วิกรณ์ พรหมชนะ รุ่นแรกของการเปิดศักราชหัตถกรรมเชียงใหม่ในตลาดโลก

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกรณ์ พรหมชนะ เป็นคนรุ่นแรกๆ ที่มองเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรมจากเชียงใหม่ และสามารถสร้างรายได้กลับคืนมาเป็นจำนวนมาก จากการส่งชิ้นงานออกไปขายในตลาดโลก ตั้งแต่ปี 2522

ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้ที่รู้เรื่องพัฒนาการ ของการส่งออกงานหัตถกรรมจากเชียงใหม่ ในช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมาดีที่สุดผู้หนึ่ง

"ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่าฐานะของเราส่วนใหญ่ ยังเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต ดังนั้น ถ้าจะพัฒนางานหัตถกรรมของเชียงใหม่ให้เป็นที่ยอมรับได้มากกว่านี้ ภาครัฐและเอกชน ควรให้ความสำคัญ และร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ"

วิกรณ์เริ่มจับงานส่งออกสินค้า หัตถกรรมเชียงใหม่ ตั้งแต่เพิ่งจบปริญญาตรี สาขาภาษาอังกฤษ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เขาเป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูลพรหมชนะ 1 ใน 3 ตระกูล ที่มีส่วนร่วมในการจุดประกาย ให้อำเภอสันกำแพงมีชื่อเสียงในฐานะแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งผลิตผ้าพื้นเมือง ด้วยการ เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านให้มีอาชีพทอผ้าเมื่อกว่า 80 ปีก่อน (รายละเอียด อ่านล้อมกรอบ "พรหมชนะ ต้นแบบผ้าฝ้ายสันกำแพง")

ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่อยู่กับงานหัตถกรรมมาตั้งแต่เกิด หลังจบการศึกษา เขาได้ไปทำงานอยู่ในโรงแรมปอยหลวงเพียง 6 เดือน ก็ลาออกเพื่อต้องการจะมาสร้างธุรกิจ เป็นของตัวเอง

ในช่วงที่วิกรณ์เรียนจบใหม่ๆ นั้น ร้าน พรหมชนะ สันกำแพง ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ที่มีกฤษดาวรรณ พรหมชนะ พี่สาวของเขาเป็นผู้ดูแล เริ่มมีบทบาทเป็นผู้ส่ง ออกผ้าฝ้าย และเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปขายยังประเทศฝรั่งเศสอยู่แล้ว

ดังนั้นการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง เขา จึงเปลี่ยนแนวสินค้าออกมาจากเสื้อผ้า โดยหันมาจับงานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมท้องถิ่นอีกประเภทหนึ่งของสันกำแพง ที่กำลังมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้น

เขาเปิดห้างหุ้นส่วนจำกัด พรหมชนะพาณิชย์ แยกออกมาต่างหาก

ก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจ วิกรณ์ได้ไปศึกษาข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ และได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานศูนย์ออกแบบสินค้า (Design Center) ของประเทศฟิลิปปินส์ (โปรดอ่านเรื่อง "Design Center" ประกอบ)

เขาเริ่มเจาะตลาดในประเทศเยอรมนีก่อน โดยได้นำงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ไปออกงานนิทรรศการครั้งแรกที่เมืองโคโลญน์ จากนั้นก็ได้ไปออกร้านอีกครั้งในงาน Ambiente ในเมือง แฟรงก์เฟิร์ต โดยครั้งหลังได้เพิ่มสินค้าพวกไม้แกะสลักเข้าไปด้วย

"ตอนนั้นฝรั่งยังไม่รู้จักงานหัตถกรรมเชียงใหม่เท่าไรนัก ก็ขายได้บ้าง แต่ยังไม่มากเท่าไร แต่ก็ได้ออร์เดอร์ตามมา เช่นพวกงานช้างแกะสลัก"

หลังจากนั้นเขาได้ขยายตลาดมายังออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง โดยได้นำสินค้า ไปออกงานนิทรรศการในประเทศบาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน และได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นมาหลายราย

แต่เขาค้าขายกับพวกตะวันออกกลางได้ไม่นาน ก็พบว่ามีปัญหาจุกจิกค่อนข้างมาก จนต้องล้มเลิกความตั้งใจที่จะเข้ามาทำตลาดแถบนี้

เขาเปลี่ยนเข็มมาเจาะตลาดญี่ปุ่น ซึ่งที่นี่ถือได้ว่าเป็นจุดพลิกผันของเขา เพราะเขาได้ลูกค้ารายใหญ่ และยังค้าขายต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

"เริ่มต้นจากออร์เดอร์แรก 50,000 บาท หลังจากนั้นเขาก็ส่งออร์เดอร์ตามมาเรื่อยๆ และในที่สุด เขาก็ให้เราเป็น buying agent เพื่อจัดหาสินค้าหัตถกรรมทุกประเภทจากเชียงใหม่ ส่งไปให้ตามที่เขาต้องการ"

การได้มีโอกาสเปิดตลาดสินค้าในญี่ปุ่น รวมทั้งการที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ buying agent ทำให้วิกรณ์จำเป็นต้องเพิ่มประเภทสินค้ามากขึ้น

ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ที่เขาขายค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้ เครื่องตกแต่งบ้าน ที่ทำจากไม้มะม่วง และไม้ไผ่ เทียนหอม และผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา ฯลฯ

การผลิตของเหล่านี้ เขากระจายงานให้กับเครือข่ายชาวบ้านในย่านสันกำแพง และใกล้เคียง ซึ่งบางส่วนเคยทำงานร่วมกับตระกูลพรหมชนะมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษเป็นผู้ผลิตให้ โดยส่วนใหญ่เป็นการทำกันภายในหมู่บ้าน

และที่สำคัญคือ เขาต้องกลับมาผลิต ผ้าฝ้ายและเสื้อผ้าสำเร็จรูปอีกครั้งหนึ่ง เพราะ ผ้าฝ้าย และเสื้อผ้าสำเร็จรูปของพรหมชนะกลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการมากในตลาดญี่ปุ่น

"ผมเพิ่งกลับมาทำผ้าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยส่งไปญี่ปุ่นที่เดียว"

เขาใช้บ้านของเขาเองในอำเภอสัน กำแพงเป็นสำนักงาน และโชว์รูม โดยแยกพื้นที่กันชัดเจน ระหว่างงานหัตถกรรมทั่วไป กับงานผลิตเสื้อผ้า

ภายในโชว์รูมของงานหัตถกรรมทั่วไป เขาได้แบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนสำหรับงาน แต่ละประเภท

ส่วนงานเสื้อผ้านั้น เขาแบ่งพื้นที่ส่วน หนึ่งทำเป็นมุมสำหรับตั้งกี่ทอผ้า และจักร ตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อโชว์ลูกค้าที่ต้องการเดินทางเข้ามาดูกระบวนการผลิต แต่การผลิตส่วนใหญ่แล้วยังกระจายไปตามหมู่บ้านต่างๆ

งานในส่วนของเสื้อผ้านั้น สุวรรณา พรหมชนะ ภรรยาของวิกรณ์เป็นผู้ดูแลทั้งด้านการออกแบบลายผ้า และการตัดเย็บด้วยตัวเอง

เฉพาะตลาดญี่ปุ่น ปัจจุบันวิกรณ์สามารถส่งสินค้าเข้าไปขายได้อย่างต่ำเดือน ละ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้าย และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนสินค้าอื่นๆ เขามีตลาดหลักอยู่ในยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐ อเมริกา และแคนาดา โดยมียอดส่งออกของ สินค้าแต่ละประเภท เฉลี่ยประมาณ 2 เดือน ต่อ 1 ตู้คอนเทนเนอร์

การที่มีประสบการณ์ในการส่งออกสินค้าหัตถกรรมมากว่า 20 ปี ทำให้เขาพบข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่าแม้ความต้องการสินค้าประเภทนี้ในตลาดโลกยังมีอยู่มาก แต่ สินค้าหัตถกรรมจากเชียง ใหม่ ยังมีข้อเสียเปรียบคู่ แข่งอยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศฟิลิปปินส์ และจีน

ข้อเสียเปรียบที่สำคัญคือรูปแบบสินค้า ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังนิยมวิธีการลอกเลียนสินค้าจาก ผู้ค้าด้วยกัน แล้วนำไปขายตัดราคากันเอง

"เรื่องก๊อบปี้มันมีมานานแล้ว ทุกวันนี้บริษัทในเชียงใหม่ มีเพียง 20-30% เท่านั้นที่มีดีไซเนอร์ของตัวเอง อีก 70% ก็ยังใช้ก๊อบปี้ หรือทำกันไปแบบไม่มีหลักวิชาการ"

นอกจากนี้งานหัตถกรรมเชียงใหม่ ยังมีข้อเสียเปรียบเรื่องของวัตถุดิบ ที่ขาดการวาง แผนการผลิตกันอย่างจริงจังและเป็นระบบ

ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องแบรนด์สินค้า เพราะทุกวันนี้สินค้าที่ถูกส่งไปจากเชียงใหม่ ส่วน ใหญ่ยังคงถูกนำไปขายตามแบรนด์ของผู้นำเข้า ซึ่งแม้ว่าลูกค้าผู้ที่ซื้อสินค้าไปใช้ จะรู้ว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งผลิตอยู่ในเชียงใหม่ แต่ก็ไม่รู้ว่าใครคือผู้ผลิตที่แท้จริง

เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา วิกรณ์ได้เริ่มคิดค้นแบรนด์ของตัวเองขึ้น โดยสินค้าประเภท เสื้อผ้าที่ส่งออกไปญี่ปุ่น จะใช้แบรนด์ "COTTON POOL" ส่วนสินค้าหัตถกรรมประเภทอื่น ใช้ แบรนด์ "COUNTRY POOL" และได้เริ่มนำสินค้าที่ขายในแบรนด์นี้ไปร่วมออกงานแสดงสินค้า ที่เยอรมนีมาแล้ว 1 ครั้ง

แม้เขาจะยอมรับว่าคงจะต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าทั้ง 2 แบรนด์ จะเป็นที่ติดตลาด แต่ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางที่จะทำให้สินค้าของเขามีอนาคตที่ยั่งยืนขึ้น เพราะหากเขายังคงบทบาทการเป็นผู้รับจ้างผลิตแต่เพียงอย่างเดียว โอกาสที่วันหนึ่งลูกค้าจะหันไปซื้อสินค้า จากแหล่งอื่นจะมีมากขึ้น ตามสภาวะการแข่งขันในยุคการค้าเสรี

"ปัญหาที่ผมพบบ่อยมากเวลาไปออกงานแสดงสินค้าที่ญี่ปุ่น คือพวกรับจ้างผลิตนั้นมีมาก จนทำให้เขาเลือกยาก เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาอาจจะหนีไปซื้อจากจีนกันหมด เมื่อถึงเวลา นั้น เราก็ตาย เพราะเราแข่งกับจีนไม่ได้ในเรื่องราคา"

ในวันนี้ สินค้าที่ขายในแบรนด์ "COTTON POOL" และ "COUNTRY POOL" เพิ่งจะปรากฏต่อสายตาของชาวโลกได้เพียงประมาณ 1 ปี

แต่ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เขาก็คงหวังไว้ในใจลึกๆ เช่นกันว่า สินค้าทั้ง 2 แบรนด์ จะเป็นสินค้าที่คนทั่วไปรู้จักในคุณค่า และได้รับความนิยมไปทั่วโลก เฉกเช่นเดียวกับนาฬิกา ROLEX หรือ OMECA จากสวิตเซอร์แลนด์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.