" หากคิดคร่าวๆ ก็จะตกประมาณปีละ 25,000 ล้านบาท" ไพรัช โตวิวัฒน์
คำนวณมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีแหล่งที่มาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่กับ
"ผู้จัดการ"
ฐานของตัวเลขดังกล่าว มาจากตัวเลขรวมของการส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากประเทศไทย
ไปยังตลาดทั่วโลก ผ่านทางท่าเรือคลองเตย ที่มีการประกาศออกมาล่าสุดในปี 2543
จำนวน 50,000 ล้านบาท
ไพรัชเชื่อว่าในตัวเลข 50,000 ล้านบาท ที่ประกาศออกมานั้น กว่า 50% เป็นการส่งออกสินค้าที่มาจากภาคเหนือตอนบน
โดยเฉพาะจากจังหวัดเชียงใหม่
ถือเป็นตัวเลขที่มีการรวบรวมอย่างไม่เป็นทางการเป็นครั้งแรก
ไพรัช โตวิวัฒน์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของนักธุรกิจท้องถิ่น ที่มีพื้นฐานการเติบโตมาจากภาคการเกษตร
และได้ขยายไลน์มาเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมในภายหลัง
"ทุกวันนี้ภาคการเกษตรของเชียงใหม่ เริ่ม decline ลง เพราะมีการใช้ที่ดินที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์
พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยได้เข้ามาแย่งพื้นที่สำหรับภาคการเกษตรไปจนเกือบหมด
แม้แต่ข้าวซึ่งทุกวันนี้ ในเชียงใหม่ยังต้องซื้อข้าวจากจังหวัดอื่นมาบริโภค"
เขาให้เหตุผล
ไพรัช เป็นลูกชายของวิบูลย์ โตวิวัฒน์ เจ้าของโรงสีเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์
ผู้ซึ่งในวงการค้าข้าวรู้จักกันดีในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของภาคเหนือมาเป็นเวลากว่า
30 ปี
"ผมอยู่กับเรื่องการส่งออกมาตลอด จึงรู้ว่าสินค้าใดบ้างที่มีความต้องการของตลาดในต่างประเทศ"
ไพรัชเริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัวหลังจบการศึกษา เขาได้รับมอบหมายจากวิบูลย์
ให้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งออก ทุกอย่างสำหรับธุรกิจในกลุ่ม
ซึ่งเป็นผลให้เขาจำเป็นต้องเดินทางไปยังต่างประเทศค่อนข้างบ่อย
ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาคิดทำธุรกิจส่งออกสินค้าหัตถกรรม เป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ
โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา เขาพบว่าโรงแรมส่วนใหญ่ มักจะนิยมนำงานหัตถกรรม
โดยเฉพาะดอกไม้ประดิษฐ์มาเป็นเครื่องตกแต่งสถานที่
นอกจากนี้ ตามห้างสรรพสินค้า ใหญ่ๆ ก็มักจะวางขายดอกไม้ประดิษฐ์ให้กับลูกค้า
เพื่อนำไปใช้ตกแต่งบ้าน หรือมอบ ให้เป็นของขวัญตามโอกาสต่างๆ
ความนิยมในดอกไม้ประดิษฐ์ ของตลาดสหรัฐอเมริกา มาจากการที่เป็นสินค้าซึ่งมีความเป็นศิลปะอยู่ในตัว
งานทุกชิ้นเป็น ผลผลิตจากน้ำมือของมนุษย์ที่ประดิดประดอยขึ้นมาด้วยความประณีต
และหากมองดูอย่างผิวเผินแล้ว จะคล้ายกับดอกไม้จริง ไม่ว่าจะเป็นสีสัน หรือรูปทรงของดอก,
กลีบ และก้านดอก
นอกจากนี้ ยังเป็นดอกไม้ได้หลาย ประเภท เช่น กุหลาบ หรือลิลลี่ ที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมในการนำดอกจริงมาใช้ประดับแจกันอยู่แล้ว
ไพรัชมองว่าจังหวัดเชียงใหม่ มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นแหล่งผลิตสินค้าชนิดนี้ได้อย่างมีคุณภาพ
เพราะมีวัตถุดิบสำหรับเป็นปัจจัยในการผลิตจำนวนมาก ที่สำคัญคือคนเชียงใหม่
เป็นคนที่มีฝีมือ รักสวยรักงาม และมีความชำนาญในการประดิดประดอยสิ่งต่างๆ
อยู่ในสายเลือด
และด้วยศักยภาพ และสายสัมพันธ์ด้านการส่งออกที่เขามีมานาน เขาเชื่อว่าจะสามารถเปิดตลาดดอกไม้ประดิษฐ์ของเชียงใหม่ได้ไม่ยาก
ปี 2527 ไพรัชและพี่ชายของเขา ตัดสินใจจัดตั้งบริษัทนีแลนน์ ฟลอรัล แอนด์
คร๊าฟท์ขึ้น เพื่อทำธุรกิจส่งออกดอกไม้ และผลไม้ประดิษฐ์ โดยมีตลาดใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา
การตัดสินใจของเขา ประสบกับความสำเร็จ เพราะตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ กิจการของ
นีแลนน์ ฟลอรัล แอนด์ คร๊าฟท์ ก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บทบาทของนีแลนน์ เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของการหาตลาด และการดีไซน์สินค้า
ให้ตรงกับความต้องการของตลาด หรือเป็นไปตามที่ลูกค้าเสนอมา
ส่วนการผลิตจะว่าจ้างชาวบ้าน ซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่
เป็น ผู้ผลิตให้ ซึ่งจากผลงานที่ผ่านมา ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ถูกผลิตขึ้นมาจากชาวบ้านที่ได้รับการว่าจ้างจากนีแลนน์
เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ
"ทุกวันนี้ เราได้รับออร์เดอร์สั่งสินค้าเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 ตู้คอนเทนเนอร์"
เขาไม่ค่อยอยากบอกความสำเร็จที่แสดงออกด้วยตัวเงินมากนัก
ปี 2537 วิบูลย์ โตวิวัฒน์ ผู้เป็นพ่อได้ตัดสินใจวางมือจากธุรกิจ และได้มอบหมายกิจการในครอบครัวส่วนใหญ่ให้ไพรัชเป็นผู้ดูแล
ปัจจุบัน โครงสร้างธุรกิจในเครือเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งออก
ข้าวเป็นหลัก ได้ลดลงมาเหลือประมาณ 30% ขณะเดียวกันไพรัชได้เพิ่มธุรกิจเข้ามาในเครือ
ด้วยการเป็นตัวแทนกระจายสินค้าให้กับยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) ในจังหวัดเชียงใหม่
และลำพูน ซึ่งธุรกิจนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของธุรกิจในเครือทั้งหมด
ส่วนกิจการดอกไม้ประดิษฐ์ เขาบอกว่ายังมีสัดส่วนไม่มากนัก เฉลี่ยแล้วประมาณ
20% ของธุรกิจในเครือโดยรวม แต่ธุรกิจนี้ยังคงต้องขยายต่อไป โดยในปีหน้าเขาเตรียมที่จะเพิ่มสายการผลิตสินค้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากไม้เข้ามาอีก
นอกเหนือจากดอกไม้และผลไม้ประดิษฐ์
ทุกวันนี้ นอกจากการเป็นผู้ดูแลกิจการของครอบครัว และกรรมการผู้จัดการ
บริษัทนีแลนน์ ฟลอรัล แอนด์ คร๊าฟท์ แล้ว ไพรัชยังมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมผู้ผลิต
และผู้ส่งออก สินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ (Northern Handicrafts Manufacturers
and Exporters Association : NOHEX) ซึ่งกำลังมีบทบาทอย่างยิ่ง ในการผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่
เป็นศูนย์กลางการผลิต และส่งออกสินค้าหัตถกรรมของเอเชีย ในอนาคต
(โปรดอ่านรายละเอียด ในเรื่อง "NOHEX")