บุญรอดดันโฮลดิ้งถือ9บ.เข้าระดมทุนตลท.ทั้งยวง


ผู้จัดการรายวัน(1 กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"บุญรอดบริวเวอรี่" ตามรอยเบียร์ช้าง เล็งตั้ง โฮลดิ้ง คอมพานี ถือหุ้น 9 บริษัทในเครือ ก่อนดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ คาดได้ข้อสรุปภายใน 1 ปี นอกจากนั้นเปิดแผนธุรกิจ 10 ปี ใช้เงินลงทุนร่วม 10,000 ล้านบาท ในการขยายกำลังการผลิตและการตลาด

นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนในการลงทุนขยายธุรกิจ ทั้งในส่วนของการขยายกำลังการผลิต และการตลาดเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งจะใช้เงินทุน 10,000 ล้านบาท โดยมีกำหนดระยะเวลาเริ่ม แผนตั้งแต่ปี 2548-2558 สำหรับการระดมทุนจากตลาดทุนโดยการจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาและคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายใน 1 ปี ในส่วนของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินยังไม่ได้มีการกำหนดว่าเป็นบริษัทใด

ทั้งนี้ การที่บริษัทฯ ยังไม่ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในขณะนี้เนื่องจากความไม่เหมาะสมของภาวะตลาด ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังจะต้องดูทิศทางจากการเลือกตั้งในปี 2548 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจด้วย ทั้งนี้การนำบริษัทฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นจะเข้าในลักษณะโฮลดิ้ง คอมพานี คือนำบริษัทใน เครือทั้ง 9 บริษัทเข้าจดทะเบียน

"บริษัทในเครือของบุญรอดบริวเวอรี่ ที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีด้วยกัน 9 บริษัท คือ บุญรอดบริวเวอรี่, บุญรอดอินคอร์เปอเรชั่น, บุญรอดเทรดดิ้ง, บุญรอดเทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล, สามเสน บริวเวอรี่, ปทุมธานี บริวเวอรี่, เชียงใหม่ เบเวอเรช, วังน้อย เบเวอเรช และบริษัทสุราษฎร์ธานี เบเวอเรช จำกัด ซึ่งจะนำเข้าจดทะเบียนในลักษณะโฮลดิ้ง คอมพานี" นายจุตินันท์กล่าว

นายจุตินันท์ กล่าวต่อว่า ในระยะเวลา 4 ปีจากนี้ บริษัทฯ เตรียมที่จะขยายกำลังการผลิตอีก 2 ครั้ง โดยเป็นการซื้อเครื่องจักร และโรงงานใหม่เพื่อเป็นการขยายกำลังการผลิต เพราะในปัจจุบันที่กำลังการผลิต 650 ล้านลิตรต่อปี ถือว่าเต็มกำลังการผลิตแล้ว โดยที่สัดส่วนการผลิตเบียร์อยู่ที่ 80% และอีก 20% เป็นการผลิตน้ำดื่มและโซดา โดยในปี 2547 ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 30-40% หรือ 2.4-2.5 หมื่นล้าน จากปีที่ผ่านมา มียอดขายจำนวน 20,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 30-35% รองจากคู่แข่งขันที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด 60%

สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากต้นทุนของการผลิตส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันดีเซล และขณะนี้รัฐยังคงพยุงราคาน้ำมันดีเซลอยู่จึงไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ในด้านการส่งออก บริษัทฯมีแผนที่จะส่งออกเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 3-4% โดยจะเน้นไปใน 4 ภูมิภาคได้แก่ กลุ่ม NAFTA, AFTA, EU และประเทศแอฟริกาใต้ และจะใช้กลยุทธ์ในการขยายสินค้าในร้านอาหารไทยเป็นหลัก และในขณะนี้ตลาดเครื่องดื่มในประเทศอังกฤษได้รับความสำเร็จอย่างมากโดยมีสัดส่วนในการส่งออก 80-90%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.