|

Big Idea
โดย
วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ผมอยากเห็นองค์กรธุรกิจที่เข้าใจ "คุณค่าระดับโลก" คิดและทำบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
เอาเป็นว่า 3 บริษัทที่นิตยสารฝรั่ง (BusinessWeek) ว่าเป็นกิจการใน 1,000 อันดับแรกของโลกนี้ก็แล้วกัน ปตท. (อันดับที่ 498) เอไอเอส (อันดับที่ 840) และเครือซิเมนต์ไทย (อันดับที่ 846) ซึ่งวัดจากสิ่งที่เรียกว่า Market Value โดยคำนวณจากราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งว่ากันว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญอนาคตของบริษัท สำหรับผมยังมองว่าทั้งสาม ยังต้องคิดการอะไรที่ใหญ่กว่านี้ แล้วจะมีอนาคตมากกว่านี้แน่
ปตท.ใหญ่โตเพราะผูกขาดธุรกิจการนำเข้าน้ำมัน เพื่อการบริโภคของประเทศที่มีแนวโน้มสูงทั้งความต้องการและราคา ขณะเดียวกันธุรกิจนี้ ระดับโลกมีอิทธิพลมากและมากขึ้นในเวลานี้ และเรื่องที่ผมเสนอก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ปตท.มากที่สุด ส่วนเอไอเอส โตเพราะคนไทยใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสาร ที่ไม่ใช่ของตนเอง เป็นองค์ประกอบของธุรกิจที่เติบโตที่สุดในเมืองไทย เช่นเดียวกับเครือซิเมนต์ไทยที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดส่วนใหญ่ในประเทศ เช่น หิน ดิน แร่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ มาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มากนัก จากเครื่องจักรและเทคโนโลยีของต่างชาติ
ผมอยากเห็นทั้งสามบริษัทร่วมมือกันคิดสร้าง "คุณค่าระดับโลก" ที่มีความหมายมากขึ้น โดยเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่เมืองไทย มี "ความพร้อม" มากที่สุด นั่นคือธุรกิจพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างพลังงานหลักที่ใช้ในประเทศ เพื่อทดแทนน้ำมัน ขณะเดียวกัน สร้างธุรกิจระดับโลกที่มีตลาดที่กว้างขวาง สำหรับประเทศที่มีแดด เฉลี่ยเกินวันละ 6 ชั่วโมง
ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน ความจริงเรื่องนี้คิดกันอยู่แล้ว ด้วยความคิดที่ไม่เข้าใจ "คุณค่าระดับโลก" จริงๆ เป็นกำแพง เพราะไปคิดว่าเทคโนโลยีนี้เป็นของตะวันตก ราคาแพง ไม่คุ้มค่า เป็นความคิดที่ตกค้างที่ไม่เชื่อมั่นตนเอง หวังพึ่งพิงตะวันตกอันเป็นผลพวงมาจากยุคการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าในอดีตที่ล้าหลังไปแล้ว
แสงอาทิตย์เป็นทรัพยากรธรรมชาติ เป็นวัตถุดิบไม่มีต้นทุน ที่ไม่มีระบบสัมปทานมีไม่จำกัด และมีอยู่อย่างคงเส้น คงวาที่สุด แต่ความจริงอีกด้านหนึ่ง ประเทศที่มีแสงแดดส่วนใหญ่ไม่เข้าใจจุดแข็งของตนเอง ไม่ได้เป็นเจ้าของ สิทธิบัตร หรืองานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานจากแสงอาทิตย์เลยก็ว่าได้ ทั้งยัง มีความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ประเทศที่มีแสงแดดน้อยและมีอิทธิพลในอุตสาหกรรมน้ำมัน สักวันจะหันมาพัฒนาและวิจัยเพื่อสร้างพลังงานแสงแดดในราคาถูกให้กับประเทศที่มีแสงแดดมาก
แค่เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ยุทธศาสตร์ว่าด้วยพลังงานของโลกจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ด้วยการลงทุนจำนวนมาก ความจริงประเทศไทย ธุรกิจไทย สามารถระดมทุนนับหมื่นล้านได้ ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว ในช่วง 10 ปี มานี้ คนไทยได้พิสูจน์ในสังคมธุรกิจระดับโลก เห็นว่าระดมเงินจากทั่วโลกได้เก่ง และที่ไม่ค่อยเก่ง ก็คือการใช้เงินต่างหาก การระดมทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเรื่องนี้ มีเป้าหมายอย่างชัดเจนที่สุด เพื่อความเป็นเจ้าของเทคโนโลยีพลังงานจากแสงอาทิตย์
ผมคิดต่ออีกว่า หากจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยชินวัตรด้วย ก็เป็นการดีขึ้นไปอีก
สถาบันใหม่จะกว้านเช่าหรือซื้อเทคโนโลยี หรือสิทธิบัตรว่าด้วยพลังงานจากแสงแดด จากทั่วโลกมาให้มากที่สุด จากนั้นจะจ้างนักวิทยาศาสตร์ที่ชำนาญเรื่องนี้ในโลกมาทำงานด้านวิจัยและพัฒนาอย่างขนานใหญ่ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ของไทยที่มีอยู่เดิมและสร้างขึ้นมาใหม่โดยผ่านมหาวิทยาลัยชินวัตร หากใครได้อ่านหนังสือ (ไม่ใช่ภาพยนตร์) เรื่อง A Beautiful Mind จะเข้าใจว่า สหรัฐฯ เติบโตหลังสงครามโลกครั้งที่สองในเรื่องเทคโนโลยี เพราะมีเงินจ้างนักวิทยาศาสตร์มาจากยุโรป (รวมทั้งไอน์สไตน์ด้วย) มาสอนหนังสือ และทำงานในสถาบันต่างๆ อย่างมากมาย
จากนั้นผมเชื่อว่าใช้เวลาไม่มากจนเกินฝัน สถาบันไทยแห่งนี้จะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและสินค้าที่ว่าด้วยการสร้างพลังงานจากแสงแดดที่เหมาะสมกับประเทศที่มีแดดขึ้นมาได้
การบริหารโครงการนี้ มิใช่ศาสตร์การบริหารชั้นสูง ที่คนไทยทำไม่ได้แต่อย่างใด
ในที่สุดอุปกรณ์เหล่านี้จะผลิตโดยโรงงานที่ไหนในโลกก็ได้ ที่ตอบสนองความต้องการพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับครัวเรือน กิจการระดับกลางและเล็กเป็นต้นไป ที่สำคัญตอบสนอง แนวคิดใหม่ในอนาคต (ซึ่งความจริงคือแนวคิดเก่าในอดีต) ในการบริหารพลังงานของครัวเรือน หรือกิจการ โดยผู้ใช้เองอย่างอิสระ ไม่ผูกพันกับเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ เช่นพลังงานน้ำมันในปัจจุบัน จนกลายเป็นความเสี่ยงที่มีมากขึ้นๆ
ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เป็นไอเดียเชิงธุรกิจ เพื่อตอบสนอง ตลาดฐานล่างที่กว้างใหญ่อย่างยั่งยืน ในเชิงอุดมคติจริงๆ
ผมเชื่อว่าเราทำได้ และที่สามารถสร้างจุดแข็งของสังคมไทยขึ้นชั่วเวลาไม่นานนัก เพื่อไม่ต้องตามแก้ปัญหากันวันต่อวันอย่างทุกวันนี้
หากจำเป็นผมจะขยายความเรื่องนี้อีก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|