Chinita en Guatemala หมวยเล็กในแดนมายา-กัวเตมาลา

โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ไปกัวเตมาลามาค่ะ หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าประเทศนี้อยู่ในทวีปไหนของโลก กัวเตมาลาเป็นประเทศเล็กๆ ในทวีปอเมริกากลาง อยู่ทางตอนใต้ของเม็กซิโก ผู้คนเป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักประเทศไทยของเรา พอบอกเขาว่ามาจากเมืองไทยทีไร เขาก็จะพานให้ฉันมาจากเมืองจีนทุกที ไปที่ไหนก็มักจะโดนเรียกว่า "หมวยเล็ก" (Chinita) อยู่บ่อยๆ และเพราะกัวเต มาลาเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมของชาวเผ่ามายาที่เริ่มตั้งรากฐานมาตั้งแต่ 2,600 ปีก่อน คริสตกาล จนมารุ่งเรืองเอาเมื่อประมาณปี ค.ศ.250 ก่อนจะลงเอยด้วยการตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน ดังนั้นวันนี้ก็เลยจะมาขอแบ่งปันประสบการณ์ของ "หมวยเล็กในแดน มายา" กับคุณผู้อ่านทางบ้านกันสักนิด

เพราะกัวเตมาลาถูกสเปนยึดครองมาก่อน ประชาชนส่วนใหญ่เลยพูดภาษาสเปนกัน แต่ชาวเผ่ามายาในกัวเตมาลาทุกวันนี้ก็ยังพูดภาษาประจำเผ่าของตนกันอยู่ ซึ่งมีประมาณ 19 ภาษา ก็น่าชื่นชมกับความเป็นตัวของตัวเองของชาวมายา ที่ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมายาที่อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตก ของประเทศและทางแถบเทือกเขาสูง (Highlands) เช่นที่เมือง ชิชิคาสเตนังโก (Chichicas-tenango) ชาวบ้านทุกคนยังแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าของตนกันอยู่ทุกวัน เสื้อผ้าของชาวมายาสีสันสดใส เป็นเสื้อตัว หลวมปักลายดอกไม้และรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นกตามขอบคอเสื้อได้อย่างงดงาม ส่วนล่างจะเป็น ผ้าถุงลายคล้ายกับผ้าพื้นบ้านของเรา ชาวมายาไม่ชอบให้ใครถ่ายรูป ถ้าจะถ่ายก็ต้องขออนุญาตเขาก่อน เพื่อนชาวกัวเตมาลาบอกว่าคงเนื่องมาจากการที่ได้รับการกดขี่ข่มเหงจากสเปนอยู่ หลายร้อยปี ทำให้ชาวมายาปัจจุบันยังอาจรู้สึกต่อต้านชาวต่างชาติ (ผิวขาว) อยู่ลึกๆ เพราะเหมือนกับต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจ (คราวนี้ในด้านเศรษฐกิจ) ของชาวผิวขาวอีกครั้ง

กัวเตมาลาเป็นประเทศที่มีอะไรหลายอย่างขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง ภาพขุนเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกยามเช้าขัดกับภาพชีวิตอันกระเสือกกระสนของชาวมายาที่ยากจน โดย รวมแล้วการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของเขายังไปไม่ไกลเท่าประเทศไทย ดัชนีการพัฒนามนุษย์ประจำปี 2547 (Human Development Index) ที่จัดทำขึ้นโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme-UNDP) จัดให้กัวเตมาลาอยู่ในอันดับที่ 121 ในขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 76 จากทั้งหมด 177 ประเทศ ความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนรวยกับคนจนเกี่ยวพันไปถึงเรื่องเชื้อชาติและสีผิว คนรวยส่วนใหญ่จะเป็นคนผิวขาว เชื้อสายยุโรป ทั้งเยอรมัน สเปน ฯลฯ ที่เรียกกันว่ากลุ่มลาดิโน (Ladinos) ส่วนคนจน ตามชนบทมักจะเป็นชาวเผ่ามายา หลายคนเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง บ้างก็ไปเป็นกรรมกร ก่อสร้างที่สหรัฐฯ ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติกาแฟปี 2543/ 44 ที่ราคากาแฟในตลาดโลกดิ่งเหวตกต่ำสุดในรอบ 100 ปี เพราะประเทศผู้ผลิตกาแฟในแถบอเมริกากลางอย่างกัวเตมาลาถูกเวียดนาม กับบราซิลถล่มขายกาแฟราคาถูก จึงทำให้ชาวนารายย่อยหลายรายของกัวเตมาลาต้องเลิกปลูกกาแฟไปโดยปริยาย เพราะราคาที่ได้ไม่พอแม้แต่จะเอามาจ่ายค่าแรงเก็บเกี่ยว

ความแตกต่างในด้านฐานะของกลุ่มลาดิโน และชาวพื้นเมืองของกัวเตมาลานั้นไม่ได้มีให้เห็นแค่เฉพาะในเมืองกรุงเท่านั้น แต่แม้กระทั่งในหมู่บ้านตามชนบทก็ยังพบได้อยู่ทั่วไป หลายครั้งที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นี้นำไปสู่ความขัดแย้ง เช่นในชุมชนเทโซโร (Tesoro) จังหวัดชิคิมูละ (Chiquimula) ชาวมายาที่ยากจนไม่มีที่ดินทำกิน จึงขอที่ดินทำกินจากเจ้าเมืองและอพยพเข้าไปตั้งรกรากสร้างหมู่บ้านใหม่ในชุมชนเทโซโร ทำมาหากินโดยการตัดไม้ในป่าเอาไปทำฟืนหุงหาอาหาร เหลือก็เอาไปขาย แต่ชาวบ้านดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอยู่ที่นั่นมาก่อนหลายชั่วอายุคนแล้ว กลับไม่พอใจ หาว่าพวกที่มาใหม่เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า

หลายคนในกลุ่มหลังนี้เป็นชาวผิวขาว เชื้อสายยุโรป มีฐานะ บรรพบุรุษมาตั้งรกรากจับจองที่ดินผืนงามในละแวกนั้นไปเกือบหมดแล้ว จึงไม่ต้องตัดร้างถางป่าใหม่เพื่อบุกเบิกทำไร่นา รายได้ส่วนใหญ่ก็มาจากการค้าขาย ไม่ต้องพึ่งไม้และของป่ามาประทังชีวิตเหมือนคนจน ถึงจะโทษคนจนว่าเป็นพวกทำลายป่า แต่ตัวเองกลับคอยหาซื้อไม้ที่ชาวบ้านยากจนตัดมาขาย เพราะไม้ที่ว่านี้มีคุณภาพเยี่ยม ติดไฟดี เข้าทำนอง ปากว่าตาขยิบ นี่เป็นกรณี ที่ส่อให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชาวลาดิโนและชาวมายา ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคน 2 กลุ่ม นี้ได้ในอนาคต

ถึงแม้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในกัวเตมาลาจะเป็นปัญหาอันหนักหน่วงของประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลของเขาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและเอาจริงเอาจังกับการพยายามรักษาทรัพยากรธรรมชาติ เช่นในกรณีของทะเลสาบอะทิทลัน (Atitlan) แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ รัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามการปลูกสร้างตึกสูงหรือโรงแรมหลายชั้นตามเกาะต่างๆ รอบทะเลสาบ เพราะ จะขัดกับทัศนียภาพอันงดงามของธรรมชาติ ดังนั้นมองไปรอบๆ ทะเลสาบจะเห็นแต่บ้าน กระท่อม หรือโรงแรมชั้นเดียวทั้งนั้น แต่มีโรงแรมแห่งหนึ่งที่สร้างสูงผิดชาวบ้านเขา ซึ่งก็ถูกรัฐสั่งให้ทาตึกเป็นสีเขียวให้กลืนไปกับสีเขียวขจีของภูเขาที่ตั้งอยู่ข้างหลังเป็นที่เรียบร้อย อันเป็นนโยบายที่น่าชื่นชม

แต่สิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นปัญหาที่น่ากังวลของกัวเตมาลาอยู่ดี ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเข้าป่าตัดไม้เอามาทำเป็นฟืนไฟกันอยู่ เดินไปตามถนนและในตลาดสดของเขา จะเห็นชาวบ้านเอาไม้มากองเป็นมัดๆ ขายภาพเหล่านี้เราไม่ค่อยเห็นกันในเมืองไทยอีกแล้ว คงไม่ใช่เพราะคนของเรารักษาธรรมชาติมากกว่าเขา แต่น่าจะเป็นเพราะบ้านเราไม่มีป่าเหลือให้ตัดอีกต่อไปแล้วมากกว่า การที่ชาวบ้านในกัวเตมาลายังตัดไม้ขายฟืนกันอยู่จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย เพราะไม่รู้ว่าจะเหลือป่าให้ตัดกันอยู่อีกนานสักกี่ปี

แม้ว่าเศรษฐกิจของกัวเตมาลาจะพึ่งพาสหรัฐฯ มาก (เช่น ธนาคารและร้านแลก เงินทุกแห่งจะยอมแลกแต่เงินดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น เงินสกุลอื่นไม่ว่าจะเป็นปอนด์ ยูโร หรือ เยนไม่รับ) แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนของเขาภูมิใจก็คือ การไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของไก่ทอดเคเอฟซี เพราะกัวเตมาลามีร้านไก่ทอด ของเขาเองที่ตั้งมาเกือบ 20 ปีแล้วคือร้านคัมเปโร (Campero) ชื่อดังขนาดบุกตลาดอเมริกาเปิดสาขาแล้วตั้ง 11 แห่ง เป็นความภาคภูมิใจของชาวกัวเตมาลา ไก่ของเขาเป็นที่ยอดนิยมถึงขนาดที่ใครที่จะเดินทางไปเยี่ยมญาติที่อเมริกา มักจะต้องหิ้วไก่ทอดคัมเปโรไป เป็นของฝากคนละกล่องสองกล่อง เที่ยวบินกัวเตมาลา-ลอสแองเจลิสของฉัน ได้กลิ่นไก่ทอดหอมฟุ้ง เพราะคนหิ้วไก่ทอดคัมเปโรไปฝากญาติกันเป็นแถว

หมดที่เขียนพอดี ก็ต้องขอ Buenas Noches ราตรีสวัสดิ์ คุณผู้อ่านไปก่อน ณ ที่นี้ ค่ะ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.