จีน กับ DVD ในสงครามเทคโนโลยี

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ทราบหรือไม่ว่า อุปกรณ์เลเซอร์ที่อ่านแผ่นดิสก์ที่มีความจุสูง อันเรียกว่า ดิจิตอลวิดีโอดิสก์ (Digital Video Disk), ดิจิตอลเวอซะทิลดิสก์ (Digital Versatile Disk) หรือเรียกกันติดปากย่อๆ ว่า ดีวีดี (DVD) ซึ่งวาง ขายกันอยู่ในโลกนั้นส่วนใหญ่แล้วผลิตและประกอบขึ้นในประเทศจีน?

ปัจจุบัน "ดีวีดี" ก้าวขึ้นมาแทนที่ "ซีดี" และ "แถบแม่เหล็ก" ในการเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่อ่านด้วยแสงที่มีความสะดวกกับผู้ใช้งาน สามารถเก็บข้อมูลได้มาก มีคุณภาพสูง และราคาย่อมเยา ทำให้ปัจจุบันเทคโนโลยีดีวีดีได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากขึ้นทุกวัน อย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และความบันเทิงภายในบ้าน เทคโนโลยีดีวีดีนั้นถูกประดิษฐ์มาเป็นครั้งแรกในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 เพื่อใช้ทดแทนเทคโน โลยีซีดีรอม ดิสก์ (CD-ROM Disk) ต่อมาจึงถูก พัฒนาขึ้นมาให้มีมาตรฐาน เพื่อใช้ในการผลิตเป็นอุตสาหกรรมและประกาศ ใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2538 (ค.ศ.1995) ถัดมาอีกหนึ่งปี ในเดือนเดียวกัน เครื่องเล่นดีวีดีจึงมีวางขายในประเทศญี่ปุ่น ตาม มาด้วยการวางขายในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2540 (ค.ศ.1997)

จากตัวเลขในปี 2546 โรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศ จีนผลิตเครื่องดีวีดีออกขายคิดเป็นปริมาณกว่าร้อยละ 70 ของยอดการผลิตดีวีดีทั่วโลก หรือราว 70 ล้านหน่วย จากจำนวนทั้งหมดทั่วโลก 100 ล้านหน่วย (ขณะ ที่ชาวจีนในประเทศซื้อเครื่องดีวีดีใช้เองเพียง 5 ล้านหน่วยต่อปี) โดยไม่ว่าจะเป็นเครื่องดีวีดียี่ห้อยอดนิยมในตลาดอย่างเช่น Sony, Philips, Pioneer, Panasonic ฯลฯ ต่างก็ใช้โรงงานในจีนเป็นฐานการผลิตทั้งสิ้น

ด้วยเงื่อนไขในการเป็นผู้ผลิตเครื่องดีวีดีให้กับบริษัทต่างชาติ ส่งผลให้ผู้ผลิตดีวีดีในประเทศจีน เรียนรู้เทคโนโลยีชนิดนี้แบบทะลุปรุโปร่ง จนในเวลาต่อมามีผู้ผลิตเครื่องดีวีดียี่ห้อ "จีนแผ่นดินใหญ่" ออกขายแข่งกับบริษัทต่างชาติ โดยเครื่องดีวีดียี่ห้อจีนนั้นอาศัยจุดเด่นที่ว่า ราคาถูก และสามารถอ่านแผ่นได้ทุกแบบ (ปกติแล้วจากเงื่อนไขของการผลิตตั้งแต่แรก ผู้คิดค้น ได้แบ่งชนิดของดีวีดีออกเป็น 6 โซนการชม ตามภูมิภาค ของโลก เช่น โซน 1 หมายถึง เครื่องและแผ่นสำหรับผู้ชมในแคนาดา สหรัฐอเมริกา หรือโซน 3 หมายถึง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง รวมถึงไทย)

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการแข่งขันในปัจจุบัน อย่างเช่นในประเทศไทยก็เห็นได้ชัด เครื่องดีวีดี รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่น จากประเทศจีนนั้นตีเครื่องยี่ห้อ ญี่ปุ่น หรือเกาหลี เสียยับด้วยราคาที่ถูกกว่ากันมากและ คุณภาพที่ผู้ใช้ระดับกลางถึงล่าง พอรับได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยความที่เทคโนโลยีดีวีดีนั้น ไม่ได้ถูกพัฒนาโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่ถูกพัฒนาโดยบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่หลายบริษัทของโลก และการถือสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของอุปกรณ์แต่ละชิ้นที่ประกอบเป็นเครื่องดีวีดีที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ในเวลาต่อมาผู้ผลิตเหล่านี้จึงมีการจับกลุ่มรวมตัวกัน คือ พันธมิตร 3C เป็นการจับกลุ่มกันของ Sony, Philips และ Pioneer พันธมิตร 6C เป็นการจับกลุ่มกันระหว่าง Panasonic, JVC, Hitachi, Toshiba, Mitsubishi Electric และ Time Warner และก็มีที่แยกออกมาเป็น 1C คือ Thomson ของฝรั่งเศส

เมื่อเห็นว่าผู้ผลิตเครื่องดีวีดีจีน สร้างยี่ห้อของตัวเอง และเติบโตจนกระโดดลงตลาดมาขายแข่งกับตัวเองได้ ในปี 2545 (ค.ศ.2002) พันธมิตร 3C, 6C และ 1C จึงตกลงกันที่จะเก็บค่าลิขสิทธิ์ (Royalty) เครื่องดีวีดียี่ห้อจีนที่ผลิตเพื่อการส่งออกกับผู้ผลิตจีน ในมูลค่าเครื่องละ 27.45 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราส่วนแล้วเท่ากับร้อยละ 20-30 ของต้นทุนการผลิต เครื่องดีวีดีเครื่องหนึ่ง ขณะที่หากเป็นการผลิตให้กับ กลุ่มพันธมิตร 3C, 6C และ 1C แล้ว เครื่องดีวีดีดังกล่าวก็ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์

การกระทำดังกล่าวหมายความว่า กลุ่มพันธมิตร ที่เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ต่างก็พยายามที่จะบีบให้บริษัทผู้ผลิตจีนได้รับกำไรในส่วนต่างของการผลิตแต่เพียงเล็กน้อย ขณะที่ในสัดส่วนการทำการตลาดที่หมายความถึงกำไรส่วนใหญ่ นั้นตกอยู่ในมือบริษัทญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทั้งหมด

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่ามาตรการเก็บค่าลิขสิทธิ์ ดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตเครื่องดีวีดีชาวจีนนั้นต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันร้อยละ 20-30 อันส่งผลให้ยอดการส่งออกของบริษัทดีวีดีจีนรายใหญ่อย่างเช่น Shinco, Nintaus, Skyworth, SVA หรือ Changhong ตกลงอย่างฮวบฮาบ โดยเฉพาะ Skyworth ที่ยอดการส่งออกเครื่องดีวีดีไปยังตลาดสหภาพยุโรปในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2547 นี้ตกลงกว่าร้อยละ 95 ที่หนัก กว่านั้นคือผู้ผลิตเครื่องดีวีดีจีนจำนวนมากกว่า 30 แห่ง จากจำนวน 200 แห่งต้องล้มละลาย ไม่นานหลังจากมีการบังคับใช้มาตรการเก็บ "ค่าลิขสิทธิ์" ของกลุ่มพันธมิตรดังกล่าว

เมื่อการเจรจาเพื่อให้กลุ่มพันธมิตร 3C, 6C และ 1C ลดค่าลิขสิทธิ์ลง ดูเหมือนจะไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร บริษัทผู้ผลิตจีนก็ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางธุรกิจของตนเองไปผลิตสินค้าประเภทอื่น อย่างเช่น Nintaus ก็กำลังจะเปลี่ยนสายการผลิตเครื่องดีวีดีไปเป็นทีวีสีและ โทรศัพท์มือถือ ส่วน Shinco ยี่ห้อเครื่องดีวีดีมีชื่ออีกแห่งหนึ่งก็เปลี่ยนสายการผลิตจากเครื่องดีวีดีไปผลิตเครื่องปรับอากาศ และจอแอลซีดี

สำหรับ Shinco นอกจากการเปลี่ยนสายการผลิตไปเป็นเครื่องไฟฟ้าชนิดอื่นแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้ผลิต และผู้ส่งออกเครื่องดีวีดีรายใหญ่ที่สุดของจีน ก็ยังหันมาทุ่มเทเพื่อพัฒนามาตรฐานการเก็บข้อมูลใหม่ที่เรียกว่า EVD (Enhanced Versatile Disc) รวมถึงการจับกลุ่มกับผู้ผลิตจีนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ "ผู้คิดค้น" คุยว่าเหนือกว่า DVD ไปอีกระดับหนึ่ง และในอนาคตจะเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาแทนที่ DVD

"สำหรับผู้ผลิตจีน เครื่องเล่น EVD เหนือกว่า DVD ตรงที่ EVD นั้นเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยชาวจีนเอง" ตัวแทนของ Shinco กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์หลายแห่งกลับมองว่า EVD อาจจะเป็นมาตรฐานที่ใช้กันแต่ในเพียงประเทศ จีน และไม่น่าจะไปรอดได้ในตลาดโลก สาเหตุสำคัญก็คือมาตรฐานทางเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในโลกปัจจุบัน นั้น "จีน" มิได้อยู่ในข่ายของการเป็นผู้สร้างกระแส-กำหนดกติกา แต่ "จีน" เป็นผู้เล่น ที่ต้องเคลื่อนไหวไปตามกระแสและกติกา ที่ "ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐ อเมริกา" เป็นผู้สร้างและกำหนด!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.