|
หอคอยสีงาช้างของอดีตผู้นำอิสราเอล
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ยุคนาซีเรืองอำนาจในเยอรมนีจนเป็นเหตุให้ประชาชนทุกชนชั้นในสังคมต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนนั้น ปี 1934 Erich Mendelsohn สถาปนิกเยอรมันก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่เลือกขึ้นฝั่งปาเลสไตน์ซึ่งอยู่ในปกครองของอังกฤษ เป็นการละทิ้งความรุ่งเรืองในวิชาชีพที่เขามีบทบาทสร้างสรรค์ผลงานเด่นทั้งในเยอรมนีและอังกฤษด้วย
อย่างไรก็ตาม Mendelsohn พำนักอยู่ในปาเลสไตน์เพียง 7 ปีเท่านั้น แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่มีความหมายและคุณค่ามหาศาลเลยทีเดียว เพราะได้ฝากผลงานการออกแบบอาคารต่างๆ ที่กลายเป็นหลักวิชาสำคัญของสถาปัตยกรรมศาสตร์ของอิสราเอลยุคเริ่มแรกไว้ไม่น้อย อาทิ อาคารแพทยศาสตร์ของ Hebrew University ที่ยังเป็นแลนด์มาร์คของกรุง Jerusalem จนถึงทุกวันนี้ หรือ Anglo-Palestine Bank (Bank Leumi ในปัจจุบัน) ก็ยังโดดเด่นอยู่กลางนครหลวงไม่แพ้กัน
นิตยสาร Wallpaper ฉบับเดือนพฤษภาคม 2004 เจาะลึกในรายละเอียดของ Villa Weizmann ผลงานของ Mendelsohn ที่ถือว่าทรงคุณค่าสูงสุดต่อสถาปัตยกรรมศาสตร์ของประเทศว่า เคยเป็นที่พำนักของ Chaim Weizmann ประธานาธิบดีคนแรกของอิสราเอล ต่อมาเป็นที่ตั้งของ Weizmann Institute of Science
หอคอยสีงาช้างขนาด 22 ห้องนอนนี้ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางป่าละเมาะบนเนื้อที่ 11 เอเคอร์ใน Rehovot ทางใต้ของ Tel Aviv เดิมบริเวณนี้เป็นเพียงพื้นที่เกษตรกรรมเท่านั้น แต่เมื่อสร้าง Villa Weizmann เสร็จ (ปี 1934-1936) ก็สามารถเป็นตัวอย่างผลงานสไตล์ East-meets-West เพียวๆ ของ Mendelsohn ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะมีบันไดเวียนอันเป็นสัญลักษณ์ของสถาปนิกผู้นี้และวงการสถาปัตยกรรมยุโรปรู้จักกันดี
บันไดเวียนสูง 3 ชั้นนี้มีหอคอยเตี้ยทรงกลมครอบเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง ตัวบันไดตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างด้านหน้าของตัวคฤหาสน์และลานบ้านสไตล์อาระเบียที่อยู่ด้านใน ลานนี้เป็นที่ตั้งของสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งขนาบด้วยห้องสมุดด้านหนึ่งและห้องรับแขกอีกด้านหนึ่ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อแรกสร้างเสร็จ คฤหาสน์หลังนี้ไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แต่อาศัยการออกแบบให้มีหน้าต่างมากมายเพื่อระบายและหมุนเวียนอากาศแทน สำหรับชั้นล่างใช้วิธีเจาะหน้าต่างรูปวงกลม (porthole windows) ที่ความสูงระดับเพดานของห้อง ขณะที่ประตูกระจกขนาดใหญ่ทำหน้าที่ชี้นำผู้อยู่ในห้องสมุดและห้องรับแขกให้เดินออกมาพบสระน้ำที่ลานด้านในโดยตรง แม้แต่ช่องกระจกแนวดิ่งบนผนังคอนกรีตที่เป็นส่วนหนึ่งของหอคอยที่สร้างครอบบันไดเวียนเอาไว้ก็สามารถเปิดออกเพื่อระบายอากาศได้
แม้ว่าสภาพภูมิอากาศของเมือง Rehovot จะเป็นอันตรายต่อตัวคฤหาสน์อย่างยิ่ง เพราะอากาศร้อนจัดและมีความชื้นสูงมาก แต่ก็เป็นโอกาสให้ Mendelsohn ได้โชว์ฝีมือแก้ปัญหาเชิงสถาปัตยกรรมได้อย่างดีเลิศ ด้วยการใช้หินอ่อนที่มีคุณสมบัติป้องกันความชื้นและความร้อนได้ดีปูพื้นตลอดตัวอาคาร จากนั้นก็ออกแบบให้มีต้นไม้และสวนหย่อมโดยรอบ ซึ่งตัดกับความแข็งทื่อเป็นเส้นตรงของตัวอาคาร ทำให้แลดูอ่อนโยนขึ้นได้มาก
แม้ว่าจะมีอายุเกือบ 70 ปีแล้ว Villa Weizmann ก็ยังคงความเป็นเอกเชิงสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ปี 2001 ที่ผ่านมา สถาปนิก Hillel Schocken ซึ่งเป็นหลานของ Salman Schocken ผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของ Mendelsohn ขณะอยู่ในเบอร์ลิน เข้ามามีบทบาทสำคัญในโครงการบูรณะซ่อมแซม Villa Weizmann เพราะปัจจุบันเขาเป็นศาสตราจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม ศาสตร์ประจำ Tel Aviv University เขานำความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ มาให้คือ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศในตัวอาคาร ปูกระเบื้องเซรามิกในห้องครัวเสียใหม่ ตกแต่งหน้าต่างที่มีจำนวนมากมาย และฉาบปูนบริเวณด้านหน้าอาคารใหม่ด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|