ซิคเว่ เบรกเก้ ที่เป็นมากกว่า CEO

โดย สุธี ชยะสุนทร
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ซิคเว่ฉีกภาพเดิม ๆ ของ CEO ที่ต้องดูสุขุม มาสู่ภาพลักษณ์ที่ดูแปลกใหม่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นตัวสะท้อนของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

ซิคเว่ เบรกเก้ Co-CEO ของ TAC กลายเป็นที่รู้จักของคนในหมู่มาก หลังจากที่ยอม "ลงแรง" แสดงเป็นตัวเอกร่วมกับ Co-CEO คู่หูในภาพยนตร์โฆษณาหลายชุดของ DTAC

ภาพที่เห็นในโฆษณาทางทีวี หรือจากแคมเปญของ DTAC ที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งมอเตอร์ไซค์ออกตระเวนแจกน้ำดื่ม เมื่อครั้งออกแคมเปญ "Maximize" หรือภาพ Co-CEO ทั้งสองในชุด "เด็กแร็พ" ในงานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชนที่จัดขึ้นเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึง "การคิดนอกกรอบ"ที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด

จากผลการสำรวจ "50 ผู้จัดการ" ซิคเว่ เบรกเก้ เป็นผู้บริหารชาวต่างชาติที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด ซึ่งนอกเหนือจากผลสำเร็จของการพัฒนา TAC ไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของตัวเลขและภาพลักษณ์ของแบรนด์ DTAC แล้ว ก็น่าจะเป็นผลมาจาก "การคิดนอกกรอบ" ของ Co-CEO ชาวนอร์เวย์ผู้นี้

ทั้งนี้เหตุของ "การคิดนอกกรอบ" ก็ไม่ได้มาจากเพียงเพราะการที่เขาเป็นชาวต่างชาติ เพราะเขาเองก็ยอมรับอย่างเต็มปากเต็มคำระหว่างให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ" ว่า "I'm not a typical Norwegian"

ซิคเว่เล่าให้ฟังว่า คนนอร์เวย์โดยปกติจะเป็นคนที่คิดอะไรเป็น logic มากๆ เป็นคนที่ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์แต่ที่เหมือนกับชาวตะวันตกทั่วๆ ไป ก็คือชอบเดินทางท่องเที่ยว หลังเรียนจบก็จะทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ค่อยจะเปลี่ยนงานกัน

ผิดกับตัวซิคเว่ ที่เป็นคนชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ เขาก็จะไม่ทำมันอีกต่อไป ซึ่งก็มีข้อดีคือทำให้มีโอกาสดีๆ แต่ก็ยอมรับว่าก็เป็นข้อเสียว่าเป็นคนที่เบื่ออะไรง่ายๆ

ในฐานะลูกชายคนโตของครอบครัว ที่ทำฟาร์มเป็นอาชีพ ซิคเว่เคยถูกคาดหวังให้รับช่วงต่อจากพ่อ ถึงขนาดที่เขาต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเพื่อเข้าเรียนด้าน forestry and agriculture และทำงานเป็นคนตัดไม้ อีก 1 ปี เพื่อเป็นการเตรียมตัว

แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง เขาก็รู้ว่าตัวเองไม่เหมาะกับงานฟาร์มแม้แต่นิด ซิคเว่จึงรับปากกับครอบครัวว่าจะดูแลฟาร์มให้ พร้อมๆ กับสอนงานให้น้องชายเป็นเวลา 6 เดือน แต่ในที่สุด เขาก็เลิกล้มความตั้งใจ หลังจากเริ่มทำไปได้เพียงเดือนเดียว

หรือแม้กระทั่งเคยเป็นดีเจ ออกตระเวนแสดงตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เคยเป็นครูสอนชั้นเกรด 6 เคยทำงานขายโฆษณาให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งโดยรวมแล้ว งานเหล่านี้ได้ให้โอกาสเขาเรียนรู้ และพบ ปะผู้คนที่หลากหลาย ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีแม้กระทั่งในสายตาของชาวต่างชาติเองก็ตาม

ส่วนงานที่ถือว่าเป็น career แรกสำหรับซิคเว่ เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่เขาเรียนจบปริญญาตรีด้าน marketing/ administration เมื่อเขาได้รับ "ข้อ เสนอ" ให้เข้าสู่ถนนสายการเมืองระดับชาติอย่างเต็มตัว ในขณะที่มีอายุ 25 ปีเต็ม

โดยเริ่มงานตั้งแต่เป็นผู้ช่วย ให้กับผู้นำองค์กรเยาวชน เป็นนายกสมาคมการค้า เป็นที่ปรึกษา รัฐมนตรีกลาโหมและรองรัฐมนตรี กลาโหม เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะตัดสินใจหยุดงานด้านการเมือง หลังจากใช้เวลาทั้งหมด 10 ปีในเส้นทางการเมือง

วันที่ไปบอกนายกรัฐมนตรีว่าจะขอลาออก ก็ถามเหตุผลว่าทำไมหลังจากอธิบายถึงเหตุผล เขาก็ respect การตัดสินใจ แต่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ซิคเว่เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในวันนั้น พร้อมบอกว่าที่ลาออกทั้งๆ ที่ทุกอย่างกำลัง ไปได้ดี เพราะเคยคิดว่างานการเมืองจะสามารถนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สิ่งต่างๆ ได้ แต่เมื่อวันหนึ่งมันไม่มีอะไรที่ท้าทายอีก ก็เลยคิดอยากจะไปทำอย่างอื่นต่อ ซึ่งในขณะนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร

ในขณะนั้นซิคเว่มีอายุ 35 ปี มีครอบครัวที่ประกอบไปด้วยภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ และลูกชาย วัยซนอีก 2 คน มีวุฒิปริญญาตรีทางด้าน marketing ซึ่งเขาคิดว่าไม่เพียงพอ

ซิคเว่จึงตัดสินใจไปสมัครเข้าเป็น visiting fellow ที่ Harvard University เป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจสมัครเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งเขาไม่คิดว่าจะได้รับการคัดเลือกเนื่องจากเกรดในระดับปริญญาตรีก็ไม่สู้จะดีนัก แต่เขาก็ได้รับคัดเลือก ในที่สุดเพราะมี background ที่น่าสนใจ

ซิคเว่ใช้เวลา 1 ปีในการเรียนปริญญาโท และสามารถสร้าง connection ได้มากจากผู้คนที่มาจากทั่วโลก เมื่อเขาและครอบครัวเดินทางกลับไปนอร์เวย์ ซิคเว่ก็ได้รับการติดต่อจาก Telenor ยักษ์ใหญ่ทางด้าน telecom ซึ่งในขณะนั้นกำลังมองหาช่องทาง ลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งโชคดีที่ขณะที่อยู่ที่ Harvard เขาได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเอเชียมาบ้าง ทั้งเรื่อง Asia Development, Asia Finance, Asia Government/Business Relationship ซึ่งมีส่วนช่วยได้มาก

Telenor ใช้สิงคโปร์เป็นฐาน ครึ่งปีแรกซิคเว่ต้องเดินทางไปทั่วภูมิภาคเพื่อหา ช่องทางการลงทุน ซึ่งในที่สุด Telenor ก็ตัดสินใจลงทุนในไทย บังกลาเทศ และมาเลเซีย และในปี 2001 Telenor ก็เข้ามา เป็น partner ร่วมกับ DTAC และแต่งตั้งให้เขาเป็น Co-CEO ร่วมกับวิชัย เบญจรงคกุล ในเวลาต่อมา

ตั้งแต่ซิคเว่เข้ามาเป็น Co-CEO การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยน แปลงวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนจากองค์กร ที่มีแบบแผนให้เป็นองค์กรที่ไดนามิกมากขึ้น ซึ่งกว่าจะถึงจุดนี้ได้ต้องเริ่มที่ตัวผู้นำที่ไม่ได้มีหน้าที่คิดเพียงอย่างเดียว ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย

อย่างในงานเลี้ยงปีใหม่ แทนที่ Co-CEO ทั้ง 2 จะออก มากล่าวอะไรที่เป็นทางการ "ขอบคุณพนักงานทุกคนที่......." แต่กลับเลือกที่จะออกมาแร็พโดยใส่เนื้อเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ ในทำนองเพลง Somewhere I Belong ของ Linkin Park

"หลังจากวันนั้น ปฏิกิริยาที่พนักงานมีต่อตัว CEO ก็เริ่มเปลี่ยน เหมือนกับได้ทลายกำแพงออกไป" ซิคเว่บอก พนักงานเริ่มกล้าที่จะเข้ามาคุยมากขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้ว จะมีส่วนช่วยให้เกิดความคิดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ภารกิจของซิคเว่ในฐานะ Co-CEO ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เขากล่าวก่อนจากกันว่า ตลอดชีวิตเขาไม่เคยมีแผนระยะยาว เมื่อถึงเวลาก็จะรู้เอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.