ทีมบริหารเครือซิเมนต์ไทย 2549

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

กานต์ ตระกูลฮุน จะเป็น "ลูกหม้อ" อย่างแท้จริงคนแรกที่ก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่

เรื่องราวของเขาผมเขียนถึงมาสองครั้งแล้ว (นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2543 และธันวาคม 2546) และคาดการก้าวขึ้นมาของเขาได้อย่างถูกต้อง

เขาใช้เวลาทำงานไต่เต้ายาวนานที่สุดในบรรดาผู้จัดการใหญ่ที่เป็น "คนใน" ถึงประมาณ 28 ปี ในฐานะที่ทำงานที่เครือซิเมนต์ไทยแห่งเดียวเท่านั้นในชีวิต ก็ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม (พารณ อิศรเสนาฯ ใช้เวลาทั้งหมดรวมกับทำงานที่อื่นมาด้วยรวม 29 ปี ส่วนชุมพล ณ ลำเลียง ใช้เวลาประมาณ 25 ปี)

การไต่เต้าของเขาสะท้อนถึงการเปลี่ยนโครงสร้างบุคลากรในเครือซิเมนต์ไทยอย่างเด่นชัด กว่าเขาจะได้ก้าวขึ้นบริหารกลุ่มธุรกิจอย่างแท้จริงต้องใช้เวลาถึง 22 ปี เริ่มต้นในปี 2542 ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเซรามิคซิเมนต์ไทย ดูแลกิจการในกลุ่มเซรามิก

เส้นทางของเขาล้วนใกล้เคียงผู้บริหารรุ่นเดียวกันที่ขึ้นดูแล Strategic Business Unit ในคราวเดียวกันนี้

ในช่วงก่อนปี 2542 เครือซิเมนต์ไทยเต็มไปด้วยผู้มีความสามารถ ผู้อาวุโสจำนวนมาก แต่ครั้นผ่านวิกฤติการณ์มา บุคลากรเหล่านี้ทยอยออกจากบริษัทไป ทั้งนี้จะด้วยเหตุผลที่พวกเขามาสู่ทางตันในตำแหน่ง เนื่องจากผู้จัดการใหญ่อายุน้อยกว่า หรือการปรับโครงสร้างกิจการเสียจนพวกเขาไม่อาจจะปรับตัวได้ ก็ตามที

ถ้ามองในมุมนี้ถือว่า กานต์ ตระกูลฮุน และทีมบริหารชุดใหม่ มีประสบการณ์ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบผู้จัดการใหญ่คนก่อนๆ

พารณอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่นานประมาณ 10 ปี พอๆ กับชุมพล ในขณะที่กานต์มีประสบการณ์ระดับนี้ไม่ถึง 5 ปี

พวกเขาล้วนเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างธุรกิจเมื่อปี 2542 ที่พิสูจน์บทบาทนำในการเปลี่ยน แปลงองค์กรครั้งใหญ่ที่สุด ท่ามกลางวิกฤติการณ์ ว่าไปแล้ว เครือซิเมนต์ไทยยุคใหม่ (ตั้งแต่ปี 2506 เป็นต้นมา-ตามความคิดของหนังสือยุทธศาสตร์ความใหญ่เครือซิเมนต์ไทย ของผมเอง) ไม่เคยเผชิญวิกฤติการณ์ร้ายแรงเช่นนี้มาก่อน

พวกเขาเป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อยที่สุดในทีมบริหารที่เคยเป็นมา ย่อมมีความหมายที่เหมาะสมกับการบริหารยุคหน้าดีทีเดียว

ยุคหน้าของพวกเขาท้าทายกว่าปี 2542 มากนัก เช่นเดียวกับยุคชุมพล ณ ลำเลียง ได้ผ่านช่วงที่ดีที่สุดที่เหมาะสมกับพวกเขาไปแล้ว นั่นคือการพลิกฟื้นฐานะกิจการหลังวิกฤติการณ์ครั้งล่าสุด พวกเขาคงไม่มีแรงบันดาลใจในความท้าทายใหม่ๆ แล้วก็ว่าได้

แม้ว่า "ผู้จัดการ 100" ของนิตยสารผู้จัดการ (ฉบับมิถุนายน 2547) ซึ่งประเมินจากตัวเลขทางบัญชี (โดยเฉพาะรายได้) เครือซิเมนต์ไทยยังคงเป็นบริษัทระดับต้นๆ ของประเทศไทยอยู่ แต่หากมองตามแนวคิดตะวันตก ว่าด้วย Market Value เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง "The Global 1000" (BusinessWeek July 26-August 2, 2004) ระบุว่า Market Value ของเครือซิเมนต์ไทยอยู่อันดับ 3 ของประเทศไทย โดยเฉพาะเป็นรอง AIS (Advance Info Services) ของตระกูลชินวัตรเพียงบริษัทเดียว ซึ่งก่อตั้งมาประมาณ 20 ปีเท่านั้น

เครือซิเมนต์ไทยในยุคหลังปี 2542 ให้ความสำคัญของความคิดเห็นของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมีวิธีคิดเช่นเดียวกับที่ BusinessWeek เสนอ ย่อมเป็นโจทย์ที่มีความหมายกว้างขวางและลึกมากทีเดียวสำหรับทีมบริหารรุ่นใหม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.