เกิดอะไรขึ้นใน INLIFE


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่จอห์น แฮนคอคเข้ามาถือหุ้นใน บมจ.อินเตอร์ไลฟ์ จอห์นแฮนคอค ประกันชีวิต (INLIFE) ผลการดำเนินธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเท่า ที่ควร

ขณะที่ยักษ์ใหญ่ประกันชีวิตในอเมริกา จอห์น แฮนคอค ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.อินเตอร์ไลฟ์ จอห์นแฮนคอค ประกันชีวิต (INLIFE) โชว์รายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ 7,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีที่แล้ว โดยมีธุรกิจประกันชีวิตเพิ่มขึ้น 18% ประกันสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 71% และกองทุนรวมเพิ่มขึ้น 47%

เดวิด อเลสซานโดร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจอห์น แฮนคอคในบอสตัน กล่าวว่า บริษัทใช้กลยุทธ์การเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายให้มากขึ้น และลดค่าใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็นออกไปทำให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้น "ทำให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเพิ่มจาก 12.3% เป็น 16.7% ในปีนี้"

ในปี 2542 มีผลการดำเนินงานคิดเป็นรายได้หลังจากหักภาษีแล้วเป็นจำนวน 22,600 ล้านบาท ซึ่งมากขึ้นกว่าในปี 2541 ถึง 18,500 ล้านบาท ผลกำไรจากหน่วยลงทุนในปี 2542 เพิ่มขึ้น 13.2% เมื่อเทียบกับปี 2541

"กลยุทธ์การกระจายการลงทุนของเรายังคงประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดขายของสินค้าหลักๆ ทุกตัวทำยอดสูงมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งโบรกเกอร์ ประกันชีวิต ธนาคาร ตัวแทนจำหน่าย และการขายผ่านอินเทอร์เน็ต" อเลสซานโดรบอก

ในทางตรงกันข้าม บริษัทในเครืออย่าง INLIFE ที่จอห์น แฮนคอคถือหุ้นใหญ่จำนวน 24.97% กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จ สืบเนื่องจากการบริหารงาน ที่เป็นไปในลักษณะตะวันตก ซึ่งบางครั้งไม่เข้าใจตลาดธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย ทำให้ INLIFE "ถดถอย และไม่โต" จากความยึดมั่นการทำงาน "สไตล์ฝรั่ง"

ความจริงก่อน ที่จอห์น แฮนคอคจะเข้ามาถือหุ้นใน INLIFE ในปี 2533 มีปัญหาหลัก 2 อย่าง คือ ขาดทุนสะสม 260 ล้านบาท และความขัดแย้งระดับผู้บริหาร ที่เป็นคนไทยด้วยกัน จึงถือว่าจอห์น แฮนคอคเข้าร่วมลงทุน เพื่อการฟื้นฟูโดยแท้จริง และเป็นบริษัทประกันชีวิตต่างชาติแห่งแรก ที่เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น (ไม่นับเอ.ไอ.เอ. ซึ่งมีฐานะเป็นบริษัทต่างชาติ) แต่การเข้ามาดังกล่าวกลับไม่เป็นไปตาม ที่หวัง

ผลที่ตามมา คือ การเคลื่อนย้ายบุคลากร ที่เป็นคนไทยหรือผู้ที่มีการทำงานในรูปแบบตะวันออกออกจากบริษัทเป็นจำนวนมาก ความตกต่ำขององค์กรจึงเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง

กระนั้น ดี แอนโทนี โคลส กรรมการผู้จัดการ INLIFE ยังเชื่อว่าปีนี้ "เป็นปีทองของบริษัทในการหาตัวแทนเพิ่ม โดยเราเพิ่มความถี่ในการทำกิจกรรมหาตัวแทน และลูกค้าเพิ่มถึง 4 เท่าจากปีที่แล้ว" และสำหรับผู้ที่ย้ายไป ที่อื่นก็กลับเข้ามาใหม่ "เพราะเขารู้สึกว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างอบอุ่นรวมทั้งการสนับสนุนจากบริษัทอย่างเต็มที่" โคลสมั่นใจ เพราะกิจกรรมต่างๆ ที่ทางการตลาดได้จัดทำขึ้นทำให้มีรายชื่อของผู้มุ่งหวังจำนวนมาก ซึ่งได้สร้างความตื่นเต้น และสนใจให้แก่ตัวแทนในการติดตาม และแนะนำกรมธรรม์แก่กลุ่มลูกค้าใหม่จำนวนมาก

แม้ว่าการเข้ามาของจอห์น แฮนคอคดูจะมีทั้งบารมี และแหล่งเงินทุน ที่ไร้ขีดจำกัดแต่การสร้างบริษัทให้เติบโตยั่งยืนรวมถึงการขจัดเส้นแบ่งการบริหารระหว่างตะวันออก และตะวันตกออกไปจำเป็น "ต้องใช้เวลา"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.