กทช.สัญญาณร้ายทศท/กสท ไม่เร่งปรับตัวอนาคตมืดมน


ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

การเกิดขึ้นของกทช.ไม่เพียงส่งสัญญาณดีกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งระบบ แต่ส่งสัญญาณร้ายถึงทศทและกสท หากไม่เร่งปรับตัว ก็ต้องเริ่มนับถอยหลัง นักวิเคราะห์ฟันธงทศทได้ รับผลกระทบหนัก 3 ด้าน ในภาวะแวดล้อมที่อ่อนแอไม่มีซีอีโอตัวจริง บอร์ดไม่เป็นเอกภาพมีการอ้างชื่อการเมืองหากินโครงการขนาดใหญ่ สหภาพฯเปลี่ยนขั้วหมดบทบาท ส่วนกสทเคราะห์ซ้ำกรรมซัด นอก จากใบอนุญาตโทร.ต่างประเทศที่กทช. สามารถให้คู่แข่งได้ทันทีแล้ว โครงการอนาคตอย่างซีดีเอ็มเอ ยังถูกอำนาจมืดหวังทุบโต๊ะประเคนให้ 2 เวนเดอร์ ทำร้ายองค์กรและประเทศชาติ

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวถึงการเกิดขึ้นของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ว่าภาคเอกชนที่ทำธุรกิจโดยมีสัญญาร่วมการงานกับบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่นและบริษัท กสท โทรคมนาคม ต่างเห็นว่าเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมโดยรวมเพราะเป็นการลดสภาพสุญญากาศที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามตลาดประเทศไทยแตกต่างจากตลาดต่างประเทศ เพราะไทยมีผู้ประกอบการหลายรายอยู่ในสภาพการแข่งขันเสรีเต็มที่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดเท่านั้นแต่จุดอ่อนที่สำคัญในวันนี้คือโครงสร้างการแข่งขันของเอกชนไทย แข่งขันกันจนอยู่ในระดับ "มั่ว" ก่อน มีกทช. ซึ่งต่างจากในต่างประเทศซึ่งส่วนมากมีรายใหญ่รายเดียวในตลาดและทำหน้าที่กำกับดูแลด้วยเมื่อเกิดกทช. จึงทำหน้าที่ในการสร้างการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมได้ไม่ยาก เพราะกทช.สามารถออกกฎระเบียบมากำกับดูแลตามโครงสร้างการแข่งขันที่ต้องการ

ในประเด็นนี้เอง ขณะที่เอกชน ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่หน่วยงานรัฐ ที่มีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น ทั้งทศทและกสทจะเป็นองค์กรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะทศท ที่มีรายได้จากส่วนแบ่งตามสัญญาร่วมการงาน ปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท ย่อมถูกผลักดันจากเอกชนภายหลังจากที่กทช.กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมา เพื่อนำไปสู่การแปรสัญญาที่จะมีผลกระทบกับรายได้จากสัญญาร่วมการงาน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ผลกระทบที่เห็นได้ชัดของทศทคือ 1.อำนาจการกำกับดูแลหมดไปอย่างสิ้นเชิงการมีอำนาจเหนือเอกชนที่เป็นคู่สัญญาร่วมการงานจะหมดไป ความเกรงใจที่เคยมีก็เป็นเรื่องไม่จำเป็น เช่นการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมเดิมเอกชนอยู่ใต้อำนาจ ทศท จากนี้ไปถือเป็นหน้าที่ของกทช. แล้ว 2.กทช.มีหน้าที่ทำให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม ความได้เปรียบด้านการตลาดที่ทศทเคย มีเหนือเอกชนก็หมดไปด้วย เช่นกรณีทรูหรือทีทีแอนด์ที เดิมจะทำโปรโมชันการตลาดอะไรจำเป็น ต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจากทศทก่อน ก็จะเปลี่ยนไปตามกฎเกณฑ์ของกทช.ซึ่งรวมทั้งทศท ก็ต้องเดินตามกฎของกทช. ด้วยหาก ได้รับผลกระทบก็กลายเป็นความเสี่ยงทั้งที่เดิมทศทไม่เคยมีความเสี่ยงในเรื่องเหล่านี้เลย

3.การกำหนดกฎกติกาของกทช.จะกลายเป็นข้ออ้างของบริษัทร่วมการงานเอกชนในการไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมการงานซึ่งจะนำไปสู่การฟ้องร้องมากมายโดยเอกชนจะยื่นฟ้องขอเปลี่ยนเงื่อนไขจากสัญญาเดิม เพื่อให้สามารถได้รับความเป็นธรรมจากกฎใหม่ที่ออกโดยกทช.ในทุกกรณี จึงมีโอกาสเกิดกรณีความทับซ้อน คือกฎใหม่ที่กทช. ออกมาก็ปฏิบัติกันไป แต่การยื่นฟ้องร้องคัดค้านก็ดำเนินคู่ขนานกันไป เพื่อเลิกเงื่อนไขตามสัญญาเดิม

ตัวอย่างการขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นตามสัญญาใหม่ สมมติเรื่องสัญญาการเช่าบ้าน ทศทให้ทรูเช่าบ้านอัตราเดือนละ 2 หมื่นบาท แต่พอ กทช.กำหนดกฎเกณฑ์ว่าค่าเช่าบ้านในบริเวณนั้นมีเพดานสูงสุด ไม่เกิน 1 หมื่นบาท หมายถึงทรูก็อาศัยกฎเกณฑ์ของ กทช.ใหม่นี้ เพื่อเปลี่ยน แปลงค่าเช่าจากสัญญาเดิมในขณะที่ทศทก็อาจฟ้องว่าทรูไม่ปฏิบัติตามสัญญาร่วมการงานเดิม

"เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายเอกชนหลายแห่งเตรียมการมาก่อนเกิดกทช.แล้วโดยต้องดูความเป็นไปได้ทุกรายการในเงื่อนไขเดิม และมั่นใจว่าเมื่อกทช.ออกกฎเกณฑ์ใดที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิมที่รับภาระอยู่ เอกชนจะหยิบยกประเด็นขึ้นมาทันที"

แหล่งข่าวกล่าวว่าวันนี้ ทศทและกสทเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงนับถอยหลัง (Count Down) โดยเฉพาะ ทศท เดือดร้อนหนักแน่หากไม่ปรับตัว แต่วันนี้ทศทยังนิ่งอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากแต่เป็นเพราะอยู่ในช่วงสุญญากาศทั้งไม่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ตัวจริง บอร์ดที่ไม่เป็นเอกภาพมากนักมีการอ้างชื่อการเมือง หาประโยชน์จากโครงการประมูลขนาดใหญ่และสหภาพฯทศทที่มีการ เปลี่ยนขั้วอำนาจจากเดิมที่แข็งแรงมาก มาเป็นอึมครึมแม้กระทั่งในขณะที่ยังไม่ได้บริหารงานอะไร แต่เกิดข่าวลือแพร่สะพัดถึงความไม่ชอบมาพากลต่างๆ

"ทศทน่าจะเป็นหน่วยงานที่วิตกมากที่สุด และต้องวางกลยุทธ์อย่างเร่งด่วนกว่าใคร ต้องเอาเรื่อง USO หรือ Universal Service Obligation มาเป็นโอกาสในการถือสิทธิให้บริการที่จำเป็นต้องมีในอนาคต"

สำหรับผลประกอบการทศทในช่วงครึ่งปีแรกมีรายได้รวม 31,600 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 21,200 ล้านบาท กำไรเบื้องต้น 10,300 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิประมาณ 6,800 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของ ปี 2546 จำนวน 6.6%

อย่างไรก็ตาม ผลกำไรสุทธิ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2003 ที่มีกำไรสุทธิ 7,080 ล้านบาท ถือว่ามีอัตราที่ลดลงประมาณ 280 ล้านบาทโดยมีสาเหตุจากรายได้ต่อเลขหมาย ของโทรศัพท์พื้นฐานลดลงเนื่อง จากมีการลดค่าโทร.ทางไกล ภายในประเทศซึ่งถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้เดิมประกอบกับโทรศัพท์มือถือลดค่าโทร.ลงมาเป็นอย่างมากทำให้รายได้จากบริการ ดังกล่าวของปี 2004 มีรายได้ 11,000 ล้านบาทลดลง 3% เมื่อเทียบกับ 2003

นอกจากนี้เรื่องการลดค่าโทร. ต่างประเทศถูกกระทบ 5% โดยปี 2003 มีรายได้ 1,500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมากระทรวง ไอซีทีได้มีนโยบายให้ทศทยกบริการ โทร.ทางไกลต่างประเทศให้ กสทและแบ่งส่วนแบ่งรายได้คนละครึ่งซึ่งขณะนี้ยังตกลงเรื่องส่วนแบ่งไม่ลงตัว และเมื่อเดือนก.ค. ทศทได้ลด ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้กสท เหลือ นาทีละ 3 บาทจาก 6 บาท เพื่อแลกกับการลดค่าเช่าเกตเวย์ของกสท ด้านนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ดทศทกล่าวว่าในครึ่งปีหลังธุรกิจโทรคมนาคมจะมีการแข่งขันสูงขึ้น อย่างไรก็ตามช่องทางและโอกาสทางธุรกิจด้านโทรคมนาคมยังมีอีกมาก ซึ่งด้วยศักยภาพทศทใน เร็วๆนี้ บริการโทรคมนาคมที่ทันสมัย และคอนเทนต์และแอปพลิเคชันต่างๆ จะเปิดให้บริการได้อีกมาก

แหล่งข่าวกล่าวว่าสำหรับกสทในระยะสั้นได้ผลกระทบรุนแรง เช่น ความเสียหายจากธุรกิจโทรศัพท์ต่างประเทศ ซึ่งเดิมถือเป็นสิทธิผูก ขาดเพราะธุรกิจนี้กทช. สามารถให้ใบอนุญาตได้ทันที แต่ระยะยาวหากใช้โทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอ เป็นยุทธศาสตร์หลักอาจไปรอด จึงไม่แปลกที่บอร์ดกสท ให้ความสำคัญมากโดยเฉพาะความพยายามทบทวนสัญญาที่ทำไว้กับฮัทช์ เนื่องจาก กสทอยู่ระหว่างทำโครงการซีดีเอ็มเอในภูมิภาค

"น่าจะเรียกว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะซีดีเอ็มเอกำลังจะจบอยู่แล้ว แต่เกิดความพยายามทำให้ทีโออาร์บิดเบี้ยว เกิดการงัดข้อกันในบอร์ด หวังอาศัยเรื่องเทคโนโลยีและยืมมือควอคอมม์ มาเป็นเหตุผลจูงใจ เพื่อเอื้อประโยชน์ไม่ให้เกิดความเป็นธรรม เป็นการต่อสู้ระหว่างกรรมการ บอร์ดที่ต้องการรักษาประโยชน์องค์กร และประเทศชาติ กับกรรมการบอร์ดที่เป็นทาสรับใช้การเมืองกับเวนเดอร์ 2 ราย ซึ่งในสัปดาห์นี้น่าจะรู้ผลหลังจากที่บอร์ดกสทเมื่อ 27 ส.ค.ตีกลับทีโออาร์"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.