ธปท.บีบแบงก์ลดเอ็นพีแอลปรับเกณฑ์กันสำรองหนี้เพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(30 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติ บีบธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ สั่งกันสำรองหนี้เพิ่มสำหรับหนี้ที่ปรับโครงสร้างไม่คืบ โดยหากเกิน 12 เดือนให้กันสำรองหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ 100% หากเกิน 36 เดือนกันสำรองเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 50% หวังเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของสถาบันการเงิน ระบุแบงก์พาณิชย์ 5 แห่งมียอดเอ็นพีแอลเพิ่ม ทหารไทยนำทีมยอดหนี้สงสัยเพิ่ม 2 ไตรมาสติด

นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ส่งหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ยังไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย กันเงินสำรองเพิ่มสำหรับยอดคงค้างหลังหักเงินสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ได้กันไว้แล้ว ซึ่งอัตราส่วนการกันเงินสำรองขึ้นอยู่กับระยะเวลาการค้างชำระหนี้

ขณะเดียวกัน ได้ให้ยกเลิกเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันสำหรับสินทรัพย์ที่มีการประเมินราคาหรือตีราคาไว้เกินกว่า 12 เดือน จากเดิมที่กำหนดให้นำมาหักจากยอดคงค้างก่อนการกันเงินสำรองได้ไม่เกิน 50% ของมูลค่าที่ได้จากการประเมินราคาหรือการตีราคาโดยวัตถุประสงค์ของหนังสือเวียนฉบับดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและศักยภาพของธนาคารพาณิชย์ให้เข้มแข็งขึ้น และส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สำเร็จเร็วขึ้น ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไป

สำหรับหลักเกณฑ์การจัดชั้นสงสัยจะสูญที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น ให้ธนาคารพาณิชย์กันสำรอง โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่ลูกหนี้ค้างชำระ หากเกิน 12 เดือน แต่ไม่เกิน 24 เดือนให้ธนาคารพาณิชย์นำมูลค่าของหลักประกันซึ่งได้ประเมินราคาตามหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงินตามที่ธปท.กำหนดมาหักออกจากราคาตามบัญชีของลูกหนี้ และให้กันเงินสำรองในอัตรา 100%

หากค้างชำระเกิน 24 เดือน แต่ไม่เกิน 36 เดือน ให้กันสำรองเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 25% ของยอดคงค้างหลังหักเงินสำรองที่ได้กันไว้แล้วสำหรับลูกหนี้รายนั้นๆ และหากค้างชำระเกิน 36 เดือน แต่ไม่เกิน 48 เดือน ให้กันเงินสำรองเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 50% ส่วนลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 48 เดือน ให้ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองเพิ่มเต็มจำนวนของยอดคงค้างหลังหักเงินสำรองที่ธนาคารได้กันไว้แล้ว

ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการกันสำรองสำหรับสินทรัพย์สงสัยจะสูญแล้ว หากธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. หรือฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายในภายหลัง ธนาคารพาณิชย์แห่งนั้นไม่ต้องกันสำรองเพิ่มอีก และในกรณีที่ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามเกณฑ์ธปท. ให้ธนาคารพาณิชย์จะโอนเงินสำรองส่วนเกินกว่าจำนวนเงินสำรองพึงกันกลับเป็นรายได้

ส่วนกรณีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายภายหลังจากที่ได้ดำเนินการกันเงินสำรอง ให้ธนาคารพาณิชย์คงเงินสำรองที่กันไว้แล้ว สำหรับลูกหนี้รายนั้นๆ ไว้ในบัญชีต่อไป ส่วนเงินสำรองที่กันไว้เพิ่มขึ้น ห้ามโอนกลับเป็นรายได้ แต่สามารถโอนไปใช้เป็นเงินสำรองสำหรับลูกหนี้รายอื่นได้

อย่างไรก็ตาม หากธปท. พิจารณาเห็นว่ามีความผิดปกติในการปรับโครงสร้างหนี้ ธปท. อาจสั่งให้มีการแก้ไข หรือให้ธนาคารพาณิชย์หาผู้เชี่ยวชาญอิสระมาประเมินหรือทบทวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือสั่งการให้เปลี่ยนแปลงการจัดชั้นและการกันสำรองสำหรับลูกหนี้ในแต่ละรายได้

ด้านธนาคารพาณิชย์ รายงานยอดหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 13 แห่ง ณ ไตรมาส 2 ปี 2547 แจ้งว่า มีธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ที่หนี้สงสัยจะสูญลดลงจากไตรมาสแรก และธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งที่มียอดหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม โดยธนาคารทหารไทย มียอดหนี้สงสัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมา 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 47 ที่มีเอ็นพีแอล อยู่ที่ 32,811ล้านบาท หรือ 10.80% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นไตรมาส 4 ปีก่อน ที่มีเอ็นพีแอลเพียง 29,831 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.89% ของยอดสินเชื่อรวม ล่าสุดไตรมาส 2 ปีนี้ เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 33,446 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.10%

ส่วนธนาคารพาณิชย์ที่เหลือมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 น้อยเท่านั้นคือ ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน จำนวน 1,406 ล้านบาท หรือ 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 1,397 ล้านบาท หรือ 2.73% ธนาคารยูโอบี รัตนสิน 3.89% หรือ 1,853 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.60% หรือ 1,767 ล้านบาท ธนาคารธนชาต 1,991 ล้านบาท หรือ 6.08% เพิ่มขึ้นจาก 1,845 ล้านบาท หรือ 5.56% ขณะที่ธนาคารกรุงไทย มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากธปท.สั่งให้มีการ ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจาก 79,651 ล้านบาท หรือ 7.78% เป็น 125,697 ล้านบาท หรือ 12.29%

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ส่วนมากล้วนมีเอ็นพีแอลลดลงจากไตรมาสแรก คือ ธนาคารกรุงเทพ มีหนี้เสียลดลงจาก 193,250 ล้านบาท หรือ 22.11% เหลือ 185,436 ล้านบาท 20.49% ธนาคารกสิกรไทยมีหนี้เสียลดลงจาก 64,743 ล้านบาท หรือ 12.06% เหลือ 58,957 ล้านบาท หรือ 10.60% ธนาคารไทยพาณิชย์มีเอ็นพีแอลลดลง จาก 87,102 ล้านบาท หรือ 16.37% เหลือ 85,287 ล้านบาท 15.03% รวมถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยา นครหลวงไทย ดีบีเอส ไทยทนุ เอเชีย ไทยธนาคาร ล้วนมีหนี้สงสัยจะสูญปรับลดลงเช่นกัน

สำหรับหนี้เอ็นพีแอลของบริษัทเงินทุน (บง.) นั้น บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน ซึ่งมีแผนจะยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ ได้มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจำนวนมากจาก 3,675 ล้านบาท หรือ 13.67% เป็น 5,629 ล้านบาท หรือ 18.49% ซึ่งสวนทางกับ บง. และ บค. (บริษัทเครดิตฟองซิเอร์) แห่งอื่นที่มีแผนจะยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ ที่ล้วนมียอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงทั้งสิ้น อาทิ บง.ทิสโก้ บง.ฟินันซ่า บง.เอไอจี ไฟแนนซ์ (ประเทศไทย) รวมถึง บค.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ฯลฯ

ก่อนหน้านี้ นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย กล่าวถึงการแก้ปัญหาเอ็นพีแอลว่า เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารได้แก้ปัญหาโดยขายเอ็นพีแอลให้ บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) มูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท และธนาคารไม่มีนโยบายขายเอ็นพีออกไปอีก โดยจะขอเป็นผู้ปรับโครงสร้างเอง ซึ่งหลังจากควบรวมกิจการธนาคารเสร็จแล้ว จะมียอดเอ็นพีแอลรวม อยู่ที่ 11-12% และตั้งเป้าหมายว่าจะลดเหลือต่ำกว่า 5% ภายใน 2 ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.