จีอี แคปปิตอลกับภูมิภาคเอเชีย

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ธรรมชาติการขยายกิจการทางด้านการเงิน ของบรรษัทข้ามชาติมักเป็นข่าวครึกโครม แต่การบริหารงานของกลุ่มจีอี แคปปิตอล กลับวางแผนอย่างเชี่ยวชาญให้ได้มาซึ่งพันธมิตร ในภูมิภาคเอเชียปราศจากการประชาสัมพันธ์

ชื่อจีอี แคปปิตอล (GE Capital) แขน ขาธุรกิจบริการทางการเงินของเจเนอรัล อิเลคทริค (GE) ซึ่งมีอำนาจและเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน และธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในเอเชีย

แม้ว่าสถานะของจีอี แคปปิตอลที่เป็น non-banking แต่ประสบความสำเร็จในการสร้างและได้มาซึ่งการถือครองธุรกิจการเงินทั่วภูมิภาคนี้ และความคล่องแคล่วของการทำงาน บางทีอาจจะสมบูรณ์แบบมากกว่าธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นบางแห่ง

กลยุทธ์ของบริษัทเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับธนาคารพาณิชย์ แม้ในยามนี้ธนาคาร ไม่ต้องการปล่อยสินเชื่อลูกค้าแบบนี้มาก เพราะอัตราเสี่ยงสูงและยังต้องกันเงินสำรอง ด้วย แต่ในอนาคตซึ่งการแข่งขันในกิจการบริการทางการเงินมีสูงมาก เพราะธนาคารต่างชาติที่ซื้อกิจการธนาคารพาณิชย์ไทยต่าง ตระเตรียมขยายบริการเข้าสู่ฐานลูกค้ากลุ่มนี้ที่ได้จากธนาคารไทย กลยุทธ์ของ จีอีเท่ากับแข่งกับธนาคารพาณิชย์กลุ่มนี้โดยตรง

จีอี แคปปิตอลในความแตกต่างใช้ประโยชน์จากอิทธิพลทางความคิดทางการเงิน เพื่อลงทุนในการให้บริการทางการเงิน โดยเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคเอเชียนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 90 ในรูปแบบการร่วมลงทุนเป็นสำคัญซึ่งกินบริเวณพื้นที่ตั้งแต่ญี่ปุ่นลงไปจนถึงออสเตรเลีย

ปี 1997 บริษัทเริ่มต้นด้วยการเสาะแสวงหาเป้าหมายในการเข้าซื้อธุรกิจด้วยการ ใช้เงินน้อย แต่มีประสิทธิภาพการทำกำไรใน ธุรกิจบริการทางการเงิน อาทิ ลิสซิ่ง ประกัน ชีวิต และสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค

ปัจจุบันหากไม่รวมญี่ปุ่น จีอี แคปปิ ตอลมีทรัพย์สินและสิ่งที่พึงได้รับมีรวมกันสูง ถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจไม่เคยอยู่เฉยบนความพึงพอใจกับความสำเร็จ

"เป้าหมายของพวกเราต้องการสร้างความเติบโตอีกเท่าตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า" สตีฟ เบอร์ทามินี ประธานจีอี แคปปิตอล แห่งเอเชียบอก
เบอร์ทามินีเป็นผู้เชี่ยวชาญและรับผิดชอบงานด้านการควบรวมกิจการในภูมิภาคแห่งนี้ ยกเว้นญี่ปุ่น เกาหลีใต ้ และอินเดีย ภารกิจของเขา คือ การมองหาพันธมิตรที่ดี

นี่คือคุณลักษณะโดดเด่นของจีอี แคป ปิตอล ดังเช่นในกรณีช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 1997-1998 เข้ามาให้บริการสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทย จากการชนะการประมูลสินเชื่อรถยนต์ของ ปรส. (องค์การเพื่อ การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) โดยมีมูลค่า บัญชี 43,200 ล้านบาท ที่สำคัญยังลงหลักปักฐานให้แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อเครื่องบินพาณิชย์ในประเทศจีน

บริบทความยิ่งใหญ่ของจีอี แคปปิ ตอลในเอเชีย ได้ปล่อยเงินออกไป 1 พันล้านเหรียญสหรัฐกับสินเชื่อผู้บริโภคในอินเดีย และจ่ายเงินเพื่อซื้อกิจการทางการเงินและประกันภัยในญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ

หากพิจารณาถึงขนาด ตามปกติของบริษัทแห่งนี้แล้ว มักจะกล่าวถึงสินทรัพย ์ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ไป จนถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

"พวกเราไม่มีจุดมุ่งหมายการเข้าร่วม ทำงานกับสิ่งที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ" เบอร์ทามินีชี้ "บริษัทต้องการขนาด เพราะเป็น เรื่องของงบการเงินที่จะเป็นเครื่องยืนยันต่อ ความพยายามในการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งตลาด"

ความสำคัญและความคาดหวังกับตลาดเอเชียของจีอี แคปปิตอล ก็คือ เป็นพลัง ขับเคลื่อนให้เติบใหญ่บนตลาดโลกในอนาคต รวมถึงตลาดเมืองจีน "พวกเรามีผลประกอบ การดีเยี่ยมจากฐานธุรกิจที่มีศักยภาพ"

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่นับญี่ปุ่นและ ออสเตรเลีย จีอี แคปปิตอลในเมืองไทยสามารถทำรายได้เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคนี้แม้ว่าจำนวนตัวเลขจะไม่เป็นที่เปิดเผยก็ตาม เพราะเป้าหมายของจีอี แคปปิตอลในไทยอยู่ที่การสร้างธุรกิจให้เป็นธุรกิจระดับโลก ให้ เป็นบริษัทที่มีฐานะเทียบเท่าหรือเหนือกว่าบริษัทที่ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก

คำพูดของจอห์น เอฟ.เวลช์ แห่งเจเนอรัล อิเลคทริค เมื่อครั้งเดินทางมาเยือนประเทศไทย บอกว่าแนวทางที่บริษัทใช้ในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก ให้คิดในขอบข่ายโลกและกระทำในชุมชนท้องถิ่น (think glo-bally, act locally)

"ผมปรารถนาที่จะให้ไทยมองเห็นผมเป็นชาวอเมริกัน ที่อยากจะเป็นหุ้นส่วนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย" ตีความง่ายๆ ก็คือ เขาเห็นประเทศไทยมีความหมายสำหรับ จีอี แคปปิตอลเป็นอย่างยิ่ง

เครื่องหมายการค้าของบริษัท คือ การเข้าไปซื้อกิจการและดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง นั่นหมายถึงการสร้างรายได้แล้วนำกลับสู่บริษัทแม่และโอกาสการทำธุรกิจใหม่

"บางเวลายังเข้าไปร่วมลงทุนกับสถาบันอื่นๆ" เบอร์ทามินีบอก "บางกรณีหากมีโอกาสเพียงพอ พวกเราจะเข้าไปให้บริการจากศักยภาพด้วยตัวเอง"

ดังนั้นโดยหลักการพื้นฐานแล้ว จีอี แคปปิตอล จึงมีความยืดหยุ่นอย่างมากบนพื้นที่ที่มองเห็นว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อโอกาส การเติบโตบนตลาดบริการทางการเงินในประเทศแถบเอเชีย

อะไรก็ตามที่เป็นไปได้ในความแตกต่างจากสถานะผู้เล่นต่างชาติ จีอี แคปปิตอล จะพยายามหลีกเลี่ยงด้วยการใช้วิธีการและทำงานร่วมกับกิจการท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือให้เกิดความแข็งแกร่งแทนที่จะเข้ามาสร้างธุรกิจแบบปะทะกันซึ่งๆ หน้า

"พวกเราจะเชื่อมประสิทธิภาพ กระบวนการและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อความสำเร็จในตลาดท้องถิ่น"

ยกตัวอย่างเช่นบริษัทอาจจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนกับสถาบันการเงินและธนาคาร พาณิชย์โดยยินยอมร่วมมือกันเพื่อดำเนินธุรกิจผ่านเครือข่ายของพันมิตรในธุรกิจเครดิตการ์ด หรือสินเชื่อ

อีกทั้งอาจจะใช้แขนขาตัวเอง คือ Strategy Equity Division เข้าถือหุ้นน้อยในธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งหากเห็นว่าเป็นการผนึกกิจการที่ดี

หากพูดถึงผลประกอบการของจีอี แคปปิตอล ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า 80% มาจากสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค บังเอิญบริษัทได้พันธมิตรเข้ามาดีซึ่งก็คือวิธีหาลูกค้าวิธีหนึ่งด้วย และการนำโปรแกรมการปล่อยสินเชื่อจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยจึงไปได้ดี

"บางครั้งการดำเนินธุรกิจที่นี่มีความ แตกต่างไปจากสิ่งที่ทำในสหรัฐอเมริกา ที่นั่นมีธุรกิจที่พวกเราทำไม่ประสบความสำเร็จแทบจะไม่ค่อยมี" เบอร์ทามินีกล่าว "ในเอเชียบริษัทจะต้องคอยดูแลทั้งธุรกิจตัวเองและคู่ค้าไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทำได้ดีในญี่ปุ่น และออสเตรเลีย"

ช่วงปีที่ผ่านมาจีอี แคปปิตอลในเอเชียมีบทเรียนบทเล็กๆ สำหรับการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต ข้อแรก บริษัทได้ศึกษามานานกว่าปีว่าจะไม่ดำเนินธุรกิจแบบใช้กระบวนความคิดเพียงลำพัง

"เป็นครั้งแรกที่ไตร่ตรองถึงเป้าหมายด้วยตนเองหรือไม่สามารถทำงานได้ นับตั้งแต่ที่กลั่นกรองในรูปแบบของเรา ดังนั้นจึงมีความเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นอยู่กับการเข้า สู่ธุรกิจ" เบอร์ทามินีอธิบาย

เมื่อพิจารณาถึงการเข้ามาสู่ลักษณะการปฏิบัติงาน หมายถึงความสำคัญที่บริษัท มีความสามารถในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ "เมื่อเข้าทำงานจะต้องเห็นเป็นรูปเป็นร่างอย่างแท้จริง"

อย่างไรก็ดี จีอี แคปปิตอลจะพิจารณา ในเงื่อนไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและโครงสร้างว่า ถึงเวลาเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้มาซึ่งมูลค่าที่สมเหตุสมผล

สำหรับการประเมินการลงทุนในเอเชีย เบอร์ทามินีเห็นว่ามูลค่าที่ปลอดภัย คือ การมีพันธมิตรกับท้องถิ่น เนื่องจากผู้ประกอบ การเหล่านั้นมีฐานลูกค้าพร้อมกับการขยายธุรกิจที่แน่นอน ซึ่งจีอี แคปปิตอลมีการพัฒนา กลยุทธ์เข้าสู่ธุรกิจบนประสบการณ์ของตัวเอง อย่างไรก็ตามพวกเขายังต้องกลับมาทบทวน ความคิดเสียก่อน "ถ้าพวกเราไม่สามารถประเมินบริษัทได้อย่างเหมาะสม บางทีก็ตัดสินใจไม่เข้าไปลงทุนเลย"

หากจีอี แคปปิตอลเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ คงไม่สามารถคิดถึงประเด็นเหล่านี้ได้ และคงไม่มีความสามารถที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ปัจจุบันบริษัทจึงพยายามที่จะดูว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะผลักดันให้ก้าวต่อไปได้

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญเรื่องบุคลากร เพราะความคิดและแนวทางทำธุรกิจนั้น เกิดมาจากไอเดียของคน โดยเฉพาะ การทำธุรกิจในแต่ละท้องถิ่นนั้น คนท้องถิ่นจะรู้ดีที่สุด "ความแตกต่างของจีอีกับบริษัทอื่นคือ เวลาที่เราเรียนในโรงเรียนธุรกิจนั้น ต้องมีแผนการและดำเนินการ แต่สำหรับพวก เรานั้นเริ่มที่คนอเมริกัน 2 คน ไม่สามารถมา นั่งคิดแผนการอะไรที่เหมาะสมและถูกต้อง แก่ประเทศไทยได้ ต้องเป็นคนไทย 2 คนต่างหาก ซึ่งในเมืองไทยนี้เราได้พบได้ฝึกขึ้นมาแล้ว ผมเชื่อว่าคนมีความสำคัญที่สุด นั่นคือ วิญญาณของจีอี ไม่ใช่แผนการ" แจ๊กเวลช์กล่าว

เขาอธิบายอีกว่า บริษัทมองว่าตำแหน่งงานเป็นเครื่องมือหรือกลไก จีอีเป็น ผู้ที่ถือกระป๋องน้ำในมือหนึ่ง ขณะที่มืออีก ข้างถือถุงปุ๋ย "เราทำการรดน้ำลงไปยังต้นไม้ ซึ่งก็คือบุคลากรในองค์กรของเรา ใส่ปุ๋ยลงไป งานของเราคือหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตได้ตามความฝันของพวกเขา พนักงาน กว่า 2,000 คนของเรา มีโอกาสเติบโตภายใต้ การดูแลรับผิดชอบของเรา และอาจจะงอก เงยขึ้นมาเป็น 5,000 หรือ 10,000 คน นี่คือแนวทางของเรา"

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าจีอี แคปปิตอลได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขยายตัวเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย โดยอาศัยความโชคร้ายของผู้ประกอบการที่ได้รับ บาดเจ็บจากวิกฤติเศรษฐกิจ

"แน่นอนว่าวิกฤติเศรษฐกิจเปิดโอกาสให้พวกเรา แต่หากปราศจากสถาน การณ์ที่ว่าแล้ว คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะไม่เป็นเช่นปัจจุบันถึงแม้โอกาสจะยังคงมีอยู่ก็ตาม" เบอร์ทามินีบอก

ปัจจุบันบริษัทไม่อยากให้ภาพออกมา สู่สาธารณะในเชิงที่ว่ามีการขยายกิจการไปกี่บริษัทแล้ว แต่น่าจะออกมาในลักษณะที่ว่า ตอนนี้มีการจ้างงานท้องถิ่นไปกี่ตำแหน่งแล้ว และจะจ้างเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร ที่สำคัญบริษัทช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในแถบนี้อย่างไร

หากพิจารณาถึงสถิติของจีอี แคปปิ ตอลในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้เข้าซื้อธุรกิจในประเทศแถบเอเชียเฉลี่ยแล้วมากกว่า 100 ธุรกิจ จากนั้นก็ผสมผสานอุตสาห กรรมให้เข้ากับสถานการณ์ของโลก ซึ่งเนื้อหามีความเหมาะสมกับการเข้าสู่ตลาด หรือไม่ก็เห็นศักยภาพในระยะยาว โดยพึ่งพาอาศัยตลาดจากประเทศเหล่านั้น

บริษัทยังมีแนวคิดจากความรู้สึกการดำเนินงานและถ้ารู้สึกว่า ไม่มีแรงดึงดูดด้านผลตอบแทนระยะยาวเมื่อเทียบกับความพยายามไม่มีทางที่เข้าไปเสี่ยง

"ไม่มีความลำบากสำหรับการตัดสินใจหากความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่มีความ สมดุล"

วิกฤติทางเศรษฐกิจของเอเชียได้เปิด โอกาสให้บริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำของโลก เข้ามาสร้างธุรกิจแสวงหาผลกำไรกันอย่างมโหฬาร แน่นอนบริษัทต่างชาติย่อมมีข้อได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการท้องถิ่นในทุกๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานการเงิน เทคโนโลยี หรือ บุคลากร

วิกฤติครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญในแง่ที่จีอี แคปปิตอลสามารถกุมธุรกิจสำคัญในภูมิภาคนี้ได้สำเร็จแล้ว

ประวัติศาสตร์ของจีอี แคปปิตอล คือ ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายใต้แรงกดดันจากสังคมเศรษฐกิจ และการเมือง โดยถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่เกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 1933 ในธุรกิจการเงินเพื่อเข้าช่วยเหลือสินเชื่อผู้บริโภคให้กับ GE Appliances และ GE Credit

จากนั้นบริษัทได้แสวงหาหนทางในการดำเนินธุรกิจ เมื่อ George Mosher ผู้ ก่อตั้งและประธานของ GE Contracts Corporation แนะนำให้จัดตั้งบริษัททางด้านการเงินขึ้นมาเพื่อให้สินเชื่อแก่ลูกค้า

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจีอีเปลี่ยนการดำเนินงานจากการให้บริการลูกค้าสู่การผลิต พวกเขาก็ทำการเปลี่ยนชื่อไปเป็น GE Credit Corporation และกลายเป็นบริษัทลงทุนไปจนถึงให้กู้เงินและลงทุนในตราสารทางการเงิน

ในปี 1959 เป็นช่วงเดียวกับความต้องการทางด้านสินเชื่อเติบโตอย่างมาก จน บริษัทมีผลประกอบการ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ การประสบความสำเร็จอย่างงดงามเกิดจากความยืดหยุ่นของการบริหารงานและเข้าใจตลาด

ผ่านเข้าสู่ทศวรรษที่ 1980 บริษัทเริ่มมีประสบการณ์ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการขยาย ฐานและแยกธุรกิจออกจากกันถึง 20 ประเภท และในปี 1987 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น GE Capi-tal จนถึงปัจจุบัน

ปีที่ผ่านมา จีอี แคปปิตอลมีรายได้ 54,267 ล้านเหรียญสหรัฐ กำไรสุทธิ 4,289 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีสินทรัพย์รวม 332,636 ล้านเหรียญสหรัฐ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.