|
ไมเนอร์กรุ๊ปทุ่ม2.4พันล.ขยายโรงแรม-ฟาสต์ฟูด
ผู้จัดการรายวัน(27 สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มรอยัล การ์เด้น รีสอร์ท รับอานิสงส์เศรษฐกิจขาขึ้น บวกการโปรโมตการท่องเที่ยว ส่งผลรายได้ครึ่งปีแรกโต 46% พร้อมเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง เปิดเพิ่มทั้งร้านอาหารและโรงแรม รวมเม็ดเงินลงทุนปีนี้ 1,356 ล้านบาท และในปีหน้าแผนลงทุนเพิ่มอีก 1,098 ล้านบาท มองตลาดโรงแรมสดใส เทเม็ดเงินกว่าครึ่งเปิดโรงแรมเพิ่ม 2 แห่งในครึ่งปีหลัง และอีก 3 แห่งในปีหน้า
นายวิลเลี่ยม อี.ไฮเนคกี้ ประธานกลุ่มไมเนอร์กรุ๊ป และนางปรารถนา มโนมัยพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน รอยัล การ์เด้น รีสอร์ท หรือ RGR ดำเนินธุรกิจ ด้านโรงแรมที่พัก ภายใต้แบรนด์ โฟร์ซีซั่น, แมริออต, อนันทารา, มันดารา สปา และธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ เดอะพิซซ่า คอมปะนี, แดรี่ควีน, สเวนเซนส์, ซิสเลอร์ และเบอเกอร์คิงก์ ร่วมกันเปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจภายใต้การดำเนินงานของบริษัท อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกเฉพาะธุรกิจอาหาร เติบโตถึง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากปกติทุกปีธุรกิจนี้จะโตเฉลี่ย 7-9% ทั้งนี้เพราะการขยายสาขาเพิ่มเติม รวมถึงการทำโปรโมชันต่างๆ
ประกอบกับผลพวงจากไข้หวัดนกในต้นปี ที่ผ่านมา ทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาเลือกรับประทานในร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น และเมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนแล้ว แม้ไข้หวัดนกจะหายไปแต่พฤติกรรมก็ยังคงเดิม และมองว่าหากเศรษฐกิจเริ่มวิกฤต ก็จะส่งผลดีต่อผลประกอบการ เพราะคนจะเปลี่ยนจากกินอาหารภัตตาคาร มากินอาหารฟาสต์ฟูดมากขึ้น
ทั้งนี้ ครึ่งปีแรก RGR มีรายได้รวม 3,776 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 46% คิดเป็นกำไรสุทธิ 245 ล้านบาทเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 68% โดยสัดส่วนรายได้มาจาก ธุรกิจอาหาร 55% และธุรกิจโรงแรม 45% ซึ่งสัดส่วนรายได้ของธุรกิจร้านอาหารที่เพิ่มขึ้นมาจากการรวมรายได้จากทุกร้านเข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งจากเดิมธุรกิจร้านอาหารจะอยู่ที่สัดส่วน 45% อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรักษาสัดส่วนนี้เอาไว้ โดยตั้งเป้าการเติบโตของ RGR จะอยู่ที่ 20-30% ในแต่ละปี
ด้านการลงทุนของกลุ่มร้านอาหาร ครึ่งปีแรกเปิดเพิ่ม 17 ร้าน ทำให้ปัจจุบันร้านอาหารของ RGR มีทั้งสิ้น 439 แห่งทั่วประเทศ โดยภายในสิ้นปีตั้งเป้าเปิดเพิ่มเป็น 505 แห่ง เน้นทำเลย่านชุมชน ห้างสรรพสินค้า และดิสเคานต์สโตร์ต่างๆ ส่วนในปี 2548 ตั้งเป้าเปิดสาขาร้านอาหารเพิ่มอีก 93 แห่ง
สำหรับมาตรการปิดห้างสรรพสินค้าเร็วขึ้นจากเดิม มองว่าไม่มีผลกระทบกับยอดขาย เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคจะปรับตัวตามเวลาที่กำหนดอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ช่วงเวลา 21.00-22.00 น.เป็นช่วงที่ลูกค้าไม่ค่อยเข้าร้านแล้ว ส่วนปัญหาราคาน้ำมันที่จะกระทบต่อต้นทุนการผลิต จะมีก็แต่ในส่วนของค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 7% ของต้นทุน สำหรับวัตถุดิบอื่นๆ ได้เซ็นสัญญากับคู่ค้าไปถึงปีหน้า ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบอีกเช่นกัน
ธุรกิจโรงแรมสดใส เปิดเพิ่มอีก 3 แห่งปีหน้า
นางปรารถนา กล่าวถึงธุรกิจโรงแรมว่า ครึ่งปีแรกเติบโต 20% หรือมีรายได้ 1,158 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดการเติบโตที่ดี ทั้งนี้เพราะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของ ททท. โดยแผนงานในครึ่งปีหลัง เตรียมเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ อนันทารา โคโค ปาล์ม จ.พังงา เปิดเดือนกันยายนจำนวน 51 ห้อง และเดือนพฤศจิกายนเปิดอนันทารา รีสอร์ท แอนด์สปา ที่เกาะสมุย อีกประมาณ 100 ห้อง ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้ โรงแรมในเครือ RGR จะมีจำนวนห้องพักทั้งสิ้น 2,247 ห้อง จากปัจจุบันมีจำนวนห้องพักที่ 2,084 ห้อง
สำหรับแผนในปีหน้า เตรียมเปิดโรงแรมใหม่อีก 3 แห่ง คือ โฟร์ซีซั่น เทนท์ แคมพ์, โฟร์ซีซั่น รีสอร์ท สมุย และ แมร์รีออตท์ ภูเก็ต บีช คลับ โดยทั้ง 3 แห่งมีที่ดิน และออกแบบเสร็จแล้ว จะเริ่มทยอยสร้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยรวมในปี 2547 มีการลงทุนทั้งสิ้น 1,356 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม 913 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร และอื่นๆ ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะลงทุนทั้งสิ้น 1,098 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม 603 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาเงินทุน ครึ่งหนึ่งจะมาจากเงินกู้ธนาคาร และส่วนหนึ่งมาจากเงินสดหมุนเวียนในบริษัท
ทั้งนี้ มองธุรกิจในครึ่งปีหลังว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเจอปัญหาภาวะเศรษฐกิจบ้าง แต่ปัจจัยบวกยังมีอีกหลายด้าน เช่น ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ที่เบาบางลง ตลอดจนการกระตุ้นท่องเที่ยวของททท.อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมาย 12 ล้านคนในสิ้นปีนี้ ทั้งหมดจะส่งผลดีต่อธุรกิจโรงแรม ส่วนธุรกิจร้านอาหารยังคงมองว่ากำลังซื้อในธุรกิจนี้ และเซกเมนต์อาหารในกลุ่มที่บริษัทมีอยู่จะไม่ถูกกระทบกระเทือน การเปิดเพิ่มสาขาใหม่ๆ จะช่วยผลักดันยอดขายได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในต่างจังหวัดมองว่า ระดับ 4-5 ดาว ยังไม่โอเวอร์ซัปพลาย และการที่โรงแรมระดับหรูในเชนต่างๆ ไปเปิดตลาดในจังหวัดใดๆ ทำให้ เชนโรงแรมอื่นๆ ไปเปิดตาม ซึ่งส่งผลให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น เพราะเชนโรงแรมเหล่านั้นจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้กับสมาชิกทั่วโลกได้รับทราบ
ขณะที่การแข่งขันก็จะต้องมีมากขึ้นตามปริมาณโรงแรมที่เปิดเพิ่ม ซึ่งข้อได้เปรียบของโรงแรมที่บริหารโดยเชนต่างๆ จะเป็นอินเตอร์เนชันแนลมากกว่า มีระบบเครือข่ายส่งมอบลูกค้า ดังนั้น หากเกิดการแข่งขันที่รุนแรง โรงแรมที่เป็นโลคัลแบรนด์จะเสียเปรียบ
ในส่วนของ รอยัล การ์เด้น แม้จะมีแมริออต ที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง แต่ก็เข้าร่วมกับเชนระดับโลก เพื่อเข้าสู่ระบบการบริหารที่เป็นสากล ส่วนวิกฤตเรื่องน้ำมันแพง ยังส่งผลกระทบต่อโรงแรมน้อยมาก เพราะมีเรื่องของสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาช่วย ซึ่งนักท่องเที่ยวยอมที่จะจ่ายน้อย เรื่องการเดินทาง และนำเงินที่เหลือมาใช้จ่ายเรื่องค่าที่พัก ค่าอาหารและชอปปิ้ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|