ตำแหน่งดีดีการบินไทย ยังไม่ลงตัว

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ (ดีดี) ของการบินไทยคนใหม่ สืบต่อจากพิศิฐ กุศลาไสยานนท์

เพราะแม้คณะกรรมการสรรหา ชุดที่มีชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นประธาน สามารถได้ข้อสรุปแล้วว่าทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายพาณิชย์ คือ บุคคลที่มีคะแนนสูงสุดในการคัดเลือกจากการสัมภาษณ์ แต่วีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กรรมการ และรักษาการดีดี ยังไม่มีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ และยังมีแนวโน้มว่าอาจจะยกเลิกกระบวนการสรรหา ดังกล่าว แล้วมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่

เรื่องนี้เลยกลายเป็นความไม่พอใจกันลึกๆ ระหว่างชัยอนันต์ และวีรพงษ์ เพื่อนร่วมรุ่นรัฐศาสตร์ จุฬา ที่คนหนึ่งเคยเป็นประธาน การบินไทย และอีกคนหนึ่งเป็นประธานคนปัจจุบัน แม้ว่าโดยภาพภายนอกวีรพงษ์ จะออกมาปฏิเสธความขัดแย้งครั้งนี้แล้วก็ตาม

"เรื่องขัดแย้งไม่มี ที่คุณชัยอนันต์ออกมาโต้แย้ง เพราะความ หวังดีมากกว่า" เขาบอกกับนักข่าว

แต่เขาก็ยอมรับว่าโดยส่วนตัวยังไม่พอใจกับตัวบุคคลที่ได้จากการสรรหา จึงมีแนวคิดว่าจะเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่อีกครั้ง "แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นที่จะพิจารณา"

สำหรับผู้สมัครในตำแหน่งดีดีของการบินไทย ที่ถูกเสนอตัวมาให้คณะกรรมการสรรหาชุดชัยอนันต์เป็นประธาน มีทั้งหมด 12 คน ได้แก่ อุทัย อัครพัฒนากูล, โสภณ วัชรสินธุ์, ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ, ธรรมนูญ จุลมณีโชติ, ธรรมนูญ โสภารัตน์, สุเมธ อมรจารุชิต, กนก วงษ์ตระหง่าน, ขรรค์ ประจวบเหมาะ, สรจักร เกษมสุวรรณ, ทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา, สุเทพ สืบสันติวงศ์ และประจักษ์ แจ่มรัศมีโชติ

เรื่องราวในการบินไทยยุคที่มีวีรพงษ์ เป็นประธานกรรมการ และรักษาการกรรมการดีดี ดูเหมือนจะมีสีสันในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ไม่มีลักษณะน้ำเน่าเช่นการประท้วงไม่ยอมขึ้นบินของกัปตัน และการขู่ วางระเบิดเครื่องบิน ที่ทำให้ภาพลักษณ์ทั้งของการบินไทยเองและ ประเทศชาติเสียหายเหมือนในยุคก่อน

การบริหารงานของวีรพงษ์ ดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่ยอม รับความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะการตัดสินใจปรับเพิ่มค่าโดยสาร สายการบินภายในประเทศ แม้ว่าจะถูกทักท้วงจากหลายๆ ฝ่าย เพราะที่ผ่านมาการบินไทยต้องแบกรับผลขาดทุนจากการบินในประเทศถึงกว่า 2,000 ล้านบาท ดังนั้น หากยังคงบินในราคาเดิมต่อไปก็จะเสียหายมากขึ้นอีก

รวมทั้งการอุดรอยโหว่ ที่เคยเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต ทั้งหลาย ซึ่งทำให้เงินที่ควรจะเป็นรายได้ของการบินไทย ไหลออกจากระบบเป็นจำนวนมาก

ตอนนี้ก็ยังคงเหลือเพียงเรื่องตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นดีดีเท่านั้นเองที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และก็มีความเป็นไปได้ว่าคงจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

เพราะในฐานะรักษาการดีดีของวีรพงษ์ เขากำลังวางราก ฐานใหม่ให้กับการบินไทย เป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงาน เพื่อปูทางให้คนที่จะเข้ามาเป็นดีดีคนใหม่ สามารถ เดินหน้าพัฒนากิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ไม่ถูกระบบเดิมๆ ดึงให้กลับเข้าสู่วังวนเก่าๆ ที่ไม่ว่าใครก็ตามจะเข้ามาเป็นดีดีการบินไทย ก็ไม่สามารถต้านทานกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่สายการบินแห่งชาติสายการบินนี้นำมา ล่อตาล่อใจเอาไว้ได้อีก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.