ไทยประสิทธิฯ หมดยุคธุรกิจครอบครัว


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยประสิทธิประกันภัยของตระกูลจันทร์ศรีชวาลา ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานใหม่ให้มีความสามารถ รับมือกับสถานการณ์การตกต่ำของตลาด ทั้งการแข่งขัน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

วิธีการหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้คือ การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจหรือบริษัทร่วมทุนต่างชาติ ที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของโลกเข้ามาเสริมทัพสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางด้านฐานลูกค้า เทคโนโลยี และโนว์ฮาวรวมทั้งเครือข่ายโยงใยในต่างประเทศของบริษัทพันธมิตรด้วย

สถานการณ์ตอนนี้เหมาะสม อย่างมากสำหรับไทยประสิทธิประกันภัย ในการหาพันธมิตรร่วมทุน (Joint Venture) เพราะราคาหุ้นตกลงอย่างมาก และเป็นเรื่องลำบากในการระดมทุนด้วยตัวเอง

ไทยประสิทธิ หนึ่งในสี่บริษัทประกันภัยในประเทศไทย ที่ถือใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ 2 ใบ คือ ธุรกิจประกันชีวิต และประกันภัยได้ทำการแยกธุรกิจออกจากกันโดยเด็ดขาดแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โดยธุรกิจประกันภัยได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เป็น "มิตรแท้ประกันภัย" และทำการเพิ่ม ทุนจดทะเบียนจาก 360 ล้านบาท เป็น 1.14 พันล้านบาท โดยตระกูลจันทร์ศรีชวาลา

ขณะที่ธุรกิจประกันชีวิตของตระกูลดัง กลับต้องอาศัยพันธมิตรใหม่ "เนชั่นไวด์ โกลบอล โฮลดิ้ง" สัญชาติอเมริกันเข้ามาเพิ่มทุนให้จากเดิม 175 ล้านบาท เป็น 375 ล้านบาท การเพิ่มทุน จำนวน 200 ล้านบาทนี้ เนชั่นไวด์รับไปทั้งหมดส่งผลให้เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 25% เป็นพันธมิตรใหม่ของจันทร์ศรีชวาลา พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ไทยประสิทธิเนชั่นไวด์"

สุนทร บุญสาย กรรมการผู้จัด การไทยประสิทธิเนชั่นไวด์ กล่าวถึงดีล นี้ว่า ไม่มีทางเลือกอื่นในสถานการณ์แบบนี้ บริษัท ที่แสวงหาการเจริญเติบโตให้กับตนเองจำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนสนับสนุน "ถ้าไม่มีปัจจัยนี้เราคงจะขยายงานออกไปไม่ได้แม้ว่าจะต้องสูญเสียสัดส่วนการถือหุ้นออกไปบ้างก็ตาม"

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นแผนการดำเนินงานจะเป็นไปตามแผนเดิม ที่ได้วางไว้เมื่อต้นปี "การเปลี่ยนแปลง ที่เป็นรูปธรรมขณะนี้เกิดขึ้นเฉพาะการร่วมทุน มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการชุดใหม่ อำนาจการบริหารงานจะขึ้นอยู่กับเนชั่นไวด์ โดยมีเงื่อนไขว่าให้ผมนั่งทำงานเหมือนเดิม" สุนทรบอก

เม็ดเงิน ที่ไทยประสิทธิได้จากการขายหุ้นให้กับเนชั่นไวด์จำนวน 200 ล้านบาทจะนำไปไถ่ถอน ทรัพย์สินออกไปจำนวนพันกว่าล้านบาท "ปัจจุบันเรามีเงินสดในมือประมาณ 1,500 ล้านบาทจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้"

สิ่งที่ไทยประสิทธิจะได้จากเนชั่นไวด์ นอกเหนือจากเม็ดเงินแล้วยังรวมถึงเทคโนโลยี และโนว์ฮาวด้วย โดย เฉพาะด้านการพัฒนารูปแบบการออมจะเปลี่ยนแปลงโดยจะคล้อยตามกันหมดทั่วโลก คือ การประกันชีวิตจะแปรรูปจาก traditional policy หรือ traditional product ไปเป็น invest-ment product สิ่งเหล่านี้ไทยประสิทธิจะต้องอาศัยเนชั่นไวด์ในการดำเนินธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งจะมีความหมาย มากขึ้น

สำหรับแผนงานของไทยประสิทธิ ที่เนชั่นไวด์ไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ก็คือ เป้าหมายเบี้ยประกันปีแรก ที่ปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ ที่ระดับ 170% เมื่อเทียบ กับปีที่แล้ว และ 5 เดือนแรกปีนี้เติบโตไปแล้ว 154% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกัน ของปีก่อน

"ส่วนเบี้ยปีต่ออายุเราตั้งเป้าโตไม่ต่ำกว่า 80% ของเบี้ยประกันรวมของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของตลาด แสดง ว่าเบี้ยประกันรวมจะอยู่ ที่ 1,150 ล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้วทำได้ 690 ล้านบาท หมายความว่าเบี้ยรวมเราจะโตประมาณ 67%"

อย่างไรก็ตามสำหรับการเปิดศักราชใหม่ภายใต้ไทยประสิทธิเนชั่น ไวด์ปีนี้จะขาดทุนอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นสูงในปี แรก "ยิ่งเราขยายตัวมากเท่าไหร่โอกาส ที่เราจะขาดทุนก็มากเท่านั้น เช่น เบี้ยประกัน 100 บาท ที่เก็บเข้ามาค่าใช้จ่ายจะมากตามสินไหม ที่เกิดขึ้นในปีแรกจะมาก แต่เมื่อขยายตัว และเก็บเบี้ยปีแรกเข้ามาแล้ว พอปีต่อไปจะเป็นเบี้ยต่ออายุ ค่าใช้จ่ายลดลงอย่างมาก นั่นคือ กำไรของเรา ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของธุรกิจประกันชีวิต ที่ปีแรก margin แทบจะไม่มีเลยหรือติดลบมหาศาลด้วยซ้ำ บริษัทจะขาดทุนไป 1-2 ปีข้างหน้าจากนั้น ถึงจะเริ่มมีกำไร"

สำหรับแผนงานในระยะยาวของไทยประสิทธิเนชั่นไวด์ ปัจจุบันกำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะเดินไปทางไหน แต่ ที่ชัดเจน และมีความเป็นไปได้มากที่สุดน่าจะอยู่ ที่แผนการเพิ่มทุนอีกประมาณ 600 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้าเพราะจะเป็นลู่ทางให้เนชั่นไวด์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด นั่นจะทำให้ความเป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูลจันทร์ศรีชวาลาในไทยประสิทธิหมดลงทั้งจำนวนหุ้น และอำนาจการบริหารงาน สะท้อนได้จากในขณะนี้ ที่เนชั่นไวด์เริ่มมีบทบาทอย่างเห็นได้ชัด คงจะต้องดูกันต่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า หน้าตาของไทยประสิทธิ เนชั่นไวด์จะเหลือเค้าโครงความเป็นบริษัทท้องถิ่นหรือไม่

ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ที่บริษัทประกันภัยจากตะวันตกกำลังคืบคลานเข้ามาสร้างฐานธุรกิจ แต่การดำเนินการเป็นไปทั่วเอเชีย ภายใต้ข้อจำกัดทางธุรกิจของเหล่าบรรดาบริษัทท้องถิ่นทั้งหลาย หลังจากเจอวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

จับตาดูให้ดีจากนี้ไปโอกาส ที่บริษัทประกันท้องถิ่นจะดำรงสถานะอยู่รอดปลอดภัยจะลดลง และในที่สุดบริษัทเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นลูกครึ่ง หรือกลายพันธุ์ไปเลย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.