วิชัย รักศรีอักษร เจ้าพ่อดิวตี้ฟรี ประกาศวางมือทางธุรกิจที่วัย 50 ปี


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลอดเวลา 20 ปีของการทำงานและ 10 ปีที่เหลือนับจากนี้ เขาทุ่มเทชีวิตให้กับงานเพียงอย่างเดียวมาโดยตลอด เขาจึงตัดสินใจที่จะเกษียณอายุให้เร็วกว่าคนอื่น เพื่อหาความสำราญกับเงินที่สร้างจากน้ำพักน้ำแรงของตนเองบ้าง

วันนี้ วิชัย รักศรีอักษร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด เป็นคนหนึ่งที่ไม่ถูกมรสุมทางเศรษฐกิจ ซัดกระหน่ำจนกระทั่งล้มหายตายจากไป  เฉกเช่นนักธุรกิจหลายคนที่กำลังประสบ ชะตากรรมเช่นนั้นอยู่  แม้ว่าธุรกิจดิวตี้ ฟรีของเขาจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาท  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะขาดทุนทั้งหมด เนื่องจากธุรกิจดิวตี้ฟรีของเขามีอยู่ในหลายประเทศ ทั้งในฮ่องกง กำแพงเมืองจีน มาเก๊า และเขมร ซึ่งรายได้จากต่างประเทศเหล่านี้ช่วยชดเชยการขาดทุนจากค่าเงินบาทได้

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังเป็นบริษัท คนไทยอีก 1 บริษัทที่ได้รับการยอมรับจากคนต่างชาติ โดยล่าสุด เขาได้นำบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์ เนชั่นแนล กรุ๊ป หรือ KPG เข้าจดทะเบียน ณ ตลาดหลักทรัพย์อเมริกา (AMERICAN STOCK EXCHANGE) อีกด้วย

ตลอดระยะเวลา  10  ปีที่ผ่านมา นับจากที่เขาเริ่มต้นศึกษาธุรกิจดิวตี้ฟรี จากคำชักชวนของเพื่อนนักธุรกิจชาวฮ่องกง ทำให้เขามีโอกาสเข้าไปซื้อหุ้นดิวตี้ฟรีที่ฮ่องกงในสัดส่วน 10% และเขาใช้เวลาเพียง 2 ปีในก้าวเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดิวตี้ฟรีที่ฮ่องกง โดยถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น  60% ขณะเดียวกันเขาก็มีความคิดว่าธุรกิจนี้น่าจะมีอนาคตที่สดใส และคนไทยก็น่าจะนำมาดำเนินการในประเทศไทยได้ดี  เขาจึงเข้ามาเจรจากับทางการท่าอากาศยาน  กองทัพอากาศไทย  ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สนามบินดอนเมืองให้ดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีเอง  เพราะในขณะนั้นทางการบินไทย เป็นผู้ดำเนินการอยู่ แต่เนื่องจากการบินไทยมุ่งเน้นแต่การพัฒนาสายการบิน จึงไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับดิวตี้ฟรีเท่าที่ควร

นั่นเป็นครั้งแรกที่วิชัยได้เข้ามาดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองไทย  โดยร่วมมือกับการท่าอากาศยานดอนเมือง แต่เขาก็ต้องพบกับความผิดหวัง  เพราะเหตุการณ์กลับกลายเป็นว่า ตัวเขากับทีมงานของบริษัท ทั้งในฮ่องกงและเมืองไทยเป็นเพียงผู้ที่นำเทคนิคการดำเนินธุรกิจนี้เข้ามาถ่ายทอดให้เท่านั้น โดยได้มีนักธุรกิจกลุ่มอื่นเข้ามาดำเนินการจริงแทน เพียงเพราะไม่มีการทำสัญญาทางธุรกิจกันเป็นลายลักษณ์อักษร

เหตุการณ์ในครั้งนั้น   ถือเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ของวิชัยในเรื่องของความเชื่อใจซึ่งกันและกันในการทำธุรกิจระดับมืออาชีพ  จากวันนั้นและทุกวันนี้ เขาจึงให้ความสำคัญกับการเชื่อใจซึ่งกันและกันมาก

"เราต้องมีหุ้นส่วนที่เชื่อใจกัน ถ้าตราบใดผมยังระแวงเขาอยู่  ผมก็จะไม่ไปลงทุนกับเขา  ในการทำธุรกิจ การรักษาคำมั่นสัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผมคิดว่าสิ่งนี้คือ 'เครดิตที่กินไม่หมด' " นี่คือหลักการในการดำเนินธุรกิจที่วิชัยยึดมั่นมาจวบจนทุกวันนี้

แม้จะประสบกับความผิดหวัง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาย่อท้อกับการที่จะลงทุนทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองไทย  ดังนั้นในช่วงปลายปี 1989 เขาก็ได้เข้าไปร่วมลงทุนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ได้รับสัมปทานให้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในเมืองเป็นแห่งแรกที่เพลินจิต

โดยคิง เพาเวอร์ฯ จะเป็นผู้ลงทุนและบริหารงานทั้งหมด หลังจากที่ทำธุรกิจที่เมืองไทยได้  3  ปี เขาก็นำทีมงานของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นบริษัทคนไทยรายแรก ที่กล้าเข้าไปบุกเบิกธุรกิจดิวตี้ฟรี ที่เขมร และก็ยังคงดำเนินการอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งในปีนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 5 แล้ว

สำหรับการลงทุนที่เขมรวิชัยเล่าว่า  แม้เขมรจะเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงมาก แต่ก็ถือว่าเป็น  OUTLET หนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างน้อยก็วันละ 2-3 แสนบาท ตราบใดที่ยังสามารถเก็บเงินจากที่นี่ได้ เขาก็จะไม่ถอยการลงทุนจากเขมร

"เราคงไม่ถอยจากเขมร  ถ้าจะต้องถอยก็คงเป็นเพราะเขายกเลิกสัมปทานเรา หรือมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล  ซึ่งรัฐบาลเขาก็เปลี่ยนมาหลายครั้งแล้ว  แต่เราก็ยังคงอยู่ มีเหมือนกันที่เขาอยากจะให้รายอื่นเข้ามาทำ เช่น ฝรั่งเศส ผมก็ยินดีถ้าเขาทำเองได้ แต่พอเขามาศึกษาจริงแล้วก็ไม่คุ้ม เพราะค่าขนส่งแพงกว่าที่เราทำมาก และเป็นเพียงแค่ OUTLET เล็กๆ เท่านั้น เหตุการณ์รุนแรงครั้งล่าสุดที่เขมร   ร้านของเราก็ถูกปล้นไปหมด  แม้แต่กลอนประตูยังเอาไปเลย แต่เราก็รู้อยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่าจะต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราก็พยายามฝึกคนของเราให้รับสถานการณ์ได้  และเราก็ต้องทำใจว่า อาจจะต้องทำฟรีให้เขา 6  เดือน  ธุรกิจก็ต้องมีขึ้นมีลง  จะให้ราบเรียบไปทั้งหมดก็ไม่ต้องทำธุรกิจแล้วล่ะ" วิชัยเล่าถึงประสบการณ์การไปลงทุนที่เขมร

ระหว่างนั้นเขาก็เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างฮ่องกง เมืองไทย และเขมร หลังจากนั้นสัมปทานที่เขาทำร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็หมดอายุลง ประจวบกับทางการท่าฯ ได้มีการเปิดประมูลร้านขายของที่ระลึกในสนามบิน   เขาจึงได้แยกทางกับการท่องเที่ยวมาประมูลร้านขายของที่ระลึก ที่ดอนเมือง และทางการท่องเที่ยวก็มีนโยบายที่จะดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีเอง จึงเกิดดิวตี้ฟรีที่เวิลด์เทรดขึ้น

ในช่วงนั้นธุรกิจที่เมืองไทยของเขาจึงมีเพียงร้านขายของที่ระลึกที่ดอนเมืองเท่านั้น เขาจึงตัดสินใจหันการลงทุนทั้งหมดไปที่ประเทศจีน  โดยเขาได้รับสัมปทานให้ทำดิวตี้ฟรีที่กำแพงเมืองจีนเป็นเวลานานถึง  50 ปี

จากนั้นประมาณปี 1994-1995 เขาก็เข้าไปประมูลที่สนามบินมาเก๊า ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกที่เข้าไปบุกเบิกเช่นเดียวกับที่เขมร แต่ที่มาเก๊ามีความเสี่ยงน้อยกว่ามาก และดิวตี้ฟรีที่สนามบินมาเก๊าก็ยังคงดำเนินอยู่ถึงปัจจุบันนี้

จะเห็นว่านับตั้งแต่ปี'87 เป็นต้น มาการลงทุนของวิชัยส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศทั้งสิ้น จนกระทั่งในปลายปี'95 สัมปทานดิวตี้ฟรีดอนเมืองที่การท่าฯ ทำอยู่หมดอายุลง เขาจึงได้เข้าไปยื่นเรื่องขอประมูลอีกครั้ง  ซึ่งในครั้งนั้นไม่มีคำว่าพลาดซ้ำสองสำหรับวิชัยอีก เขาจึงได้ทำดิวตี้ฟรีที่ดอนเมืองอย่างสมใจ แต่กระนั้นผู้ประมูลได้รายเดิมก็ยังคงอยู่ แต่ในคราวนี้มีการแบ่งอาณาเขตการรับผิดชอบอย่างชัดเจน ทุกวันนี้ดิวตี้ฟรีจึงมีสัมปทาน 2 ใบให้ผู้บริหาร 2 ราย โดยทีมของวิชัยรับผิดชอบพื้นที่บริเวณทิศเหนือของอาคาร 1 และ 2 ส่วนทางทิศใต้ของอาคาร 1 และ 2 เป็นความรับผิดชอบของอีกราย ไม่มีการก้าวก่ายซึ่งกันและกัน

และในปีนี้สัมปทานที่สนามบิน ไคตั๊กที่ฮ่องกงจะหมดอายุลง ซึ่งเขาก็ไม่ได้เป็นผู้ชนะในการประมูลที่สนามบินใหม่ของฮ่องกงด้วย ซึ่งเขาคิดว่าเป็นความโชคดีของเขาที่ประมูลไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปฮ่องกงมียอดลดลงสูงถึง 60% และคนที่เขาประมูลชนะก็เสนอตัวเลขสูงกว่าเขาเกือบเท่าตัว

"ผมยึดหลักว่า ทำธุรกิจอะไรแล้ว ถ้าไม่มีกำไร อย่าทำเลยดีกว่า"

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจในฮ่องกงของเขาจะหมดไป เพราะเขาได้เป็นผู้ดำเนินการร้านค้าพิเศษจำนวน 14 ร้านที่สนามบินใหม่ของฮ่องกง ซึ่งจะแยกการจำหน่ายเป็นร้านขายเครื่องกีฬา  ร้านขายอาหาร ร้านจิวเวลรี่ และร้านแฮรอทอีก 2 ร้านใหญ่ นอกจากนั้นเขายังเหลือดิวตี้ฟรีบนรถไฟและเรืออีกด้วย

พลาดจากฮ่องกงครั้งนี้  เป็นโอกาสอันดีที่วิชัยจะกลับมาทุ่มเทแรงกายแรงใจในการพัฒนาธุรกิจที่เมืองไทยอย่างจริงจัง เพื่อขานรับปีอะเมซิ่งไทยแลนด์


ปัจจุบันวิชัยได้สัมปทานร้านดิวตี้ฟรีที่ดอนเมืองเป็นเวลา 5 ปี และได้ต่ออายุสัมปทานร้าน TAX FEE อีก 5  ปี และร้านดิวตี้ฟรีที่เวิลด์เทรดที่รับช่วงทำต่อจากการท่องเที่ยวเป็นเวลาอีก 10 ปี

สำหรับเป้าหมายยอดขายของร้านที่มีทั้งหมดในเมืองไทย  เขาตั้งเป้าไว้ที่  6,200 ล้านบาท  เพิ่มจากปีที่แล้วกว่า 50% แบ่งเป็นยอดขายในเมืองประมาณ 1,500 ล้านบาท และเฉพาะที่สนามบินดอนเมืองอีกประมาณ 4,900 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขมหาศาลที่เขาจะนำรายได้เข้าประเทศไทย ซึ่งเขาก็อธิบายเสริมว่า

"ผมพูดถึงยอดขายที่จะทำในปีนี้ว่า  6,200 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 50% แต่ในความเป็นจริงขณะนี้ ค่าเงินประมาณ 50 กว่าบาทต่อดอลลาร์ นั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย  ฉะนั้นยอดขายจริงที่ได้จะเพิ่มขึ้นประมาณ  20% เท่านั้น ซึ่งเราจะต้องไม่ประมาท และต้องพยายามรักษาระดับนี้ไว้ให้ได้"

ส่วนยอดขายในเครือทั้งหมดของดิวตี้ฟรีสามารถทำได้ประมาณปีละ 25,000 ล้านบาท คิดเป็นมาร์จินประมาณ 57-60% ซึ่งถ้าต่ำกว่านี้ วิชัยบอกว่าเขาไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายสูง แม้ว่าจะทำรายได้ได้มากก็ตาม

"ถ้าผมได้ต่ำกว่า  57-60% ผมอยู่ไม่ได้ เพราะในมาร์จินส่วนนี้ผมต้องจ่ายให้กับรัฐ 30%  แบ่งเป็นกรมศุลกากร 15% การท่าฯ อีก 15% และที่เหลืออีก 30% ผมต้องแบ่งจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าต๋งให้บริษัททัวร์อีก เหลือจริงก็พอประมาณ" วิชัยเปิดเผย


ดิวตี้ฟรี ยึดหลักต้องถือหุ้นใหญ่ 60%
ไม่ยึดหลักการทำธุรกิจแบบครอบครัว

ธุรกิจดิวตี้ฟรี  ถือเป็นธุรกิจที่วิชัยมีความชำนาญที่สุด  ดังนั้นการเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ  เขาจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือถือไม่ต่ำกว่า 51% เพื่อจะได้มีอำนาจในการบริหารอย่างเต็มที่  แต่เขาไม่ได้ยึดหลักที่จะต้องส่งคนไทยเข้าไปนั่งบริหารยังต่างประเทศ เพราะเขามีความเชื่อใจในหุ้นส่วนท้องถิ่นของเขาที่จะดูแลธุรกิจได้  และยิ่งไปกว่านั้น เขาได้สร้างระบบขึ้นมาควบคุมการทำงานทุกอย่าง  ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นผู้ดูแล  แต่เขาในฐานะประธานใหญ่จะเป็นผู้ที่รับรู้เรื่องราวความเป็นไปทุกอย่างในบริษัท ยกเว้นที่เขมร ที่เขาจำเป็นต้องส่งคนไทยเข้าไปดูแล เนื่องจากเป็นประเทศที่ปิดมานาน ดังนั้นคนที่รู้เรื่องธุรกิจจึงยังไม่มี จึงต้องส่งคนเข้าไปคุมและที่เมืองจีน ก็ส่งระดับผู้จัดการเข้าไปประมาณ 10 คน ที่ฮ่องกงมีเลขาคนไทยคนเดียวที่คอยทำหน้าที่ประสานงาน  ส่วนที่มาเก๊า ไม่มีเลย


"คอนเนกชั่น" เบื้องหลังความสำเร็จ

ธุรกิจดิวตี้ฟรีที่วิชัยดำเนินการอยู่เป็นธุรกิจที่ต้องมีการติดต่อกับคนทั่วโลก ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชน ดังนั้น "คอนเนกชั่น" จึงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์อันดีกับซัปพลายเออร์และบริษัททัวร์ 

ซึ่งความสัมพันธ์อันดีที่สั่งสมมาเป็นเวลานับ 10 ปีของวิชัย กับซัปพลายเออร์สินค้าแบรนด์เนมทั่วโลก กับบริษัททัวร์ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ และเขาก็ได้ใช้เวลาในการสั่งสมบารมี จนเขากล้าที่จะพูดว่า ทุกวันนี้เขามีอำนาจ ในการต่อรองสูงกับซัปพลายเออร์ทั้งหลาย บนพื้นฐานของความจริงใจที่มีให้แก่กันและกัน ไม่มีการเอาเปรียบ หรือกดดันราคากัน เขาจะใช้วิธีช่วยซัปพลายเออร์ในการวางแผนการผลิตสินค้า ตามความต้องการของตลาดในแต่ละแห่งล่วงหน้า 6-8 เดือน ซึ่งซัปพลายเออร์ผู้ผลิตเหล่านั้นก็พอใจ และเขาก็ได้พิสูจน์ให้ซัปพลายเออร์ต่างๆ เห็นถึงศักยภาพในการทำธุรกิจของเขา ที่ไม่มีการทำลายภาพพจน์และชื่อเสียงของแบรนด์เนมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ฮ่องกง ที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก หรือที่เขมรที่มีความเสี่ยงมาก  เขาก็สามารถพิสูจน์ว่าเขาทำได้  ในทุกที่ที่เขาลงทุน ซัปพลายเออร์สินค้าเหล่านี้ก็พร้อมที่จะตามเขาไปด้วย

"การที่เราโตขึ้นมาได้ในทุกวันนี้   ถ้าปราศจากพวกแบรนด์เนมต่างๆ เหล่านี้ให้การสนับสนุนเรา  เราก็คงโตไม่ได้แน่  นี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเราโตเร็ว" เขากล่าวอย่างภูมิใจ

ส่วนความสัมพันธ์กับกรุ๊ปทัวร์  วิชัยถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมือง โดยเขาให้เหตุผลว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยประมาณปีละ 7 ล้านคน ครึ่งหนึ่งจะมากับบริษัททัวร์ และอีกครึ่งหนึ่งจะเดินทางมาเอง ซึ่งเป็นพวกนักธุรกิจ หรือคนที่เคยเดินทางมาแล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มหลังนี้มีโอกาสที่จะเข้ามาซื้อของในเมืองน้อย   เพราะพวกเขามีกำลังซื้อมากและสามารถซื้อในที่ที่สะดวกได้ โดยไม่ต้องเข้ามาซื้อในเมือง แต่นักท่องเที่ยวที่มากับกรุ๊ปทัวร์มีโอกาสที่จะชอปปิ้งเองน้อยมาก   เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามโปรแกรมที่ทัวร์วางไว้ ดังนั้นหากสามารถดีลกับบริษัททัวร์ต่างๆ ให้มาแวะชอปปิ้งที่ดิวตี้ฟรีของเราได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดีทั้ง 2 ฝ่าย

"ธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับบริษัททัวร์ แม้ว่าร้านเราจะมีสินค้าแบรนด์เนมจำนวนมากหลากหลาย แต่ถ้าเราไม่มีลูกค้าเราก็ตาย เราต้องมีสองสิ่งนี้บวกกัน  ถึงจะทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จได้" วิชัยกล่าว และ สองสิ่งนี้เองที่การท่องเที่ยวไม่มี จนในที่สุดต้องให้เขาและทีมงานกลับเข้ามาบริหารต่อ


ความสุขทุกอย่างอยู่ที่ใจ

สำหรับหลักการในการบริหารคนจำนวนมากของวิชัยนั้น เขาถือว่า ทุกคนเป็นหุ้นส่วนของบริษัท ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เอาเงินมาลงทุน แต่อย่างน้อยก็เป็นผู้ที่ลงแรงสมองแรงกายในการทำงาน ดังนั้นเขาจะให้เกียรติผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนในการที่จะรับฟังความคิดเห็น

"ผมเป็นประธานบริษัทที่สามารถทำได้ทุกตำแหน่ง   ผมจะเปิดใจรับฟังความคิดเห็น และพร้อมที่จะให้คำปรึกษาแก่พนักงานทุกคน ดังนั้น จะเห็นว่าพนักงานของเราจะอยู่กันนาน ไม่ค่อยออก เพราะเรามีความผูกพันกันเหมือนคนในครอบครัว" แม้จะมีความผูกพันกันเหมือนคนในครอบครัว แต่วิชัยก็ไม่นิยมการบริหารงานแบบครอบครัว เขาจะบอกกับทุกคนว่า เวลาทำงานเขาจะซีเรียส ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของแต่ละคน และต้องแบ่งแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวให้ออกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ถ้าหลังเลิกงานจะทำ อย่างไรก็ได้ตามสบาย

"ผมเป็นคนที่มีความสุขกับการทำงาน  ผมคิดว่าทุกอย่างอยู่ที่ใจ การพักผ่อนนั้นก็ขึ้นอยู่กับใจของเราเป็นผู้กำหนด ถ้าคิดว่าเรื่องงานเป็นเรื่องซีเรียส ทำอะไรก็ซีเรียสไปหมด ต่อให้พักสัก  7  วัน แต่ถ้าใจยังหงุดหงิดอยู่ คุณก็ไม่ได้พักหรอก ผมผ่านอะไรมาเยอะ แต่ผมจะมองอะไรในแง่ดีหมด ผมจึงมีความสุขของผม" เขากล่าว

กระนั้น ทุกวันอาทิตย์ วิชัยก็จะหยุดกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานทุกอย่าง เพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และทำกิจกรรมร่วมกันคือ การขี่ม้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เขาชอบเป็นพิเศษ

"ม้า" เป็นสิ่งที่วิชัยชอบและรักมากที่สุด  เพราะเขาคิดว่า ม้าเป็นสัตว์ที่ให้ความรู้สึกที่สง่าน่าเกรงขาม และให้ความรู้สึกอ่อนโยนได้ในเวลาเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น เขาคิดว่าการจะควบคุมม้าแต่ละตัวเป็นเรื่องที่ยากมาก   เพราะม้าแต่ละตัวจะมีบุคลิกที่แตกต่างกันไป จึงเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่แต่ละคนจะทำได้

"ม้าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถสื่อ สารด้วยวาจาได้   แต่เราสามารถใช้การสัมผัสควบคุมมันได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าเราบังคับม้าได้ ผมเชื่อว่าเราก็คงบังคับตัวเราเองได้"

ความชอบในกิจกรรมประเภทนี้ ทำให้วิชัยได้รับแต่งตั้งจากนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ให้รับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมชาติในการคัดตัวนักกีฬา ที่จะเข้าแข่งขันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้


ประกาศวางมือทางธุรกิจที่อายุ 50

"อายุ  50  ผมวางมือแน่ ผมไม่ไหวแล้ว วันหนึ่งทำงาน 18 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าคนอื่น ฉะนั้นผมก็ต้องเกษียณก่อนคนอื่นสัก  10 ปี ผมถือว่าต่อไปเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่เราสร้างขึ้นมาแล้ว  ไม่ใช่เราแล้ว ฉะนั้นผมจะใช้เวลาที่มีอยู่ทั้งหมดในขณะนี้ทุ่มเทให้กับงาน เพื่อจะสร้างคนให้ขึ้นมาดูแลแทนให้ได้" วิชัยกล่าว พร้อมเผยแผนที่วางไว้สำหรับลูกๆ ทั้ง 4 คนว่า

"ผมจะบอกพวกเขาอยู่เสมอว่า  อย่าหวังอะไรจากผม สมบัติที่ผมสร้างมาทั้งหมดจะแยกเป็นทรัพย์สินให้แต่ละคนแบ่งกันดูแล  โดยต้องเริ่มไต่เต้ากันเอง และผมจะเป็นที่ปรึกษาให้พวกเขา  ส่วนเงินสดผมจะใช้เอง  เพราะผมคิดว่าสิ่งที่ผมสร้างไว้น่าจะเพียงพอสำหรับพวกเขาแล้ว ซึ่งทุกคนก็เข้าใจ นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจไว้ แต่จะทำได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคต"


พัฒนา "เขาดิน" ธุรกิจเพื่อสังคม

หลังจากที่เป็นผู้หนึ่งในการเข้ามามีส่วนในการกระตุ้นให้คนไทย ที่มีเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทเพื่อช่วยชาติแล้ว วิชัยมีแนวคิดที่จะทำโครงการร่วมกับรัฐบาลในการรับสัมปทานโครงการพัฒนาสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการทางด้านเอกสาร เขาเปิดเผยว่าแนวคิดนี้มีตั้งแต่ 8 เดือนที่แล้ว และได้ส่งคนเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเขาดินให้เป็นสวนสัตว์ปี  2000 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ล้านบาท

"เราจะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ทางเข้า ที่จอดรถ สวนสนุก เราจะสร้างอควอเลี่ยมปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก  และเราจะมีร้านอาหารไทยที่มีการแสดงไทยๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชม  ต่อไปเขาดินจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งต่างชาติและคนไทยที่เข้าไปแล้วให้ความรู้สึกที่ทันสมัย เหมือนในต่างประเทศ" วิชัยเล่า

สิ่งที่เขาจะได้จากการลงทุนในครั้งนี้ก็คือ  รายได้ที่เก็บจากที่จอดรถ ค่าเข้าชมอควอเลี่ยมปลาน้ำจืดที่เป็นการลงทุนที่สูงมาก และค่าอาหาร ค่าชมการแสดงในโรงละครราหู  โดยเขาและบริษัทจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับค่าบัตรผ่านประตู ที่ทางสวนสัตว์จะเป็นผู้รับผิดชอบกำหนดขึ้นเอง ซึ่งสวนสัตว์มีนโยบายที่ไม่มุ่งเน้นในการค้ากำไร เพราะต้องการให้คนเข้าไปชมจำนวนมาก และรายได้ส่วนนี้ก็จะนำไปเลี้ยงดูบำรุงสัตว์

"ผมคิดว่าโครงการนี้ไม่น่ามีอุปสรรคใดๆ เพราะยังไม่มีคนเสนอตัวเข้าไปทำ นอกจากเรา  เราจะไม่เอาเปรียบสวนสัตว์  สิ่งที่เราทำ เราต้องตอบสังคมได้ ไม่ใช่เข้าไปกอบโกย เราทำอะไรก็แล้วแต่ ขอให้คิดว่าเราทำแล้วต้องเป็นประโยชน์  คนอื่นไม่รู้ แต่ตัวเราต้องรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่" วิชัยกล่าวในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีพอที่จะให้คืนแก่สังคมบ้าง

วิชัย เป็นตัวอย่างของคนไทยคนหนึ่งที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมไทย แม้ว่าจะเป็นไปในเชิงธุรกิจบ้าง แต่อย่างน้อย เขาก็มีเจตนาที่จะพัฒนาสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.