ทศท หวังใช้"ไอพีสตาร์" ร่วมพันธมิตรบรอดแบนด์


ผู้จัดการรายวัน(23 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ทศทเตรียมใช้ไอพี สตาร์ ลดภาระการให้บริการ USO ที่แบกต้นทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท พร้อมใช้ชินแซทเป็นพันธมิตรทำตลาดการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับลูกค้าทั่วไป ยันหากเทคโนโลยีไอพีสตาร์อยู่ในมือคู่แข่ง อนาคตบริการต่างที่วิ่งบนไอพีจะกลายมาเป็นคู่แข่งทำร้าย ทศท

แหล่งข่าวจากบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า ทศทมีแผนที่จะจัดซื้ออุปกรณ์และช่องสัญญาณความถี่ (แบนด์วิดท์) ของดาวเทียมไอพีสตาร์ จากบริษัท ชินแซทเทลไลท์ เพื่อใช้เทคโนโลยีไอพีสตาร์ในการลดภาระค่าใช้จ่ายการให้บริการสาธารณะในพื้นที่ห่างไกล (Universal Service Obligation หรือ USO) รวมทั้งความร่วมมือในลักษณะเป็นพันธมิตรในการทำตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (คอนซูเมอร์บรอดแบนด์) ในอนาคต

ปัจจุบันทศทมีภาระจากบริการ USO อย่างโทรศัพท์สาธารณะทางไกล ชนบทในระบบดาวเทียมที่เช่าใช้อุปกรณ์ จากกลุ่มสามารถ และอคิวเมนท์ ปีละ กว่า 1 หมื่นล้านบาท และการให้บริการ อินเทอร์เน็ตตำบล อินเทอร์เน็ตโรงเรียน ซึ่งสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ซึ่งโครงการ USO ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือผลกำไรกับทศทเลย

"ทศทกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คงไม่มีใครมาลงทุนกับเรา หากไม่สามารถจัดการกับโครงการ USO ได้เหมาะสม ซึ่งสัญญากับสามารถและอคิวเมนท์ใกล้จะหมดลงแล้ว พอดีกับเทคโนโลยีไอพีสตาร์ในเรื่องอินเทอร์เน็ต โปรโตคอลหรือไอพี กับบรอดแบนด์ เป็นทิศทางในอนาคต ที่จะพัฒนาให้เกิดรายได้มากขึ้น ทศทจึงเห็นว่าระยะ เวลาสอดคล้องกันพอดี"

ทศทได้เจรจากับชินแซทมากว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ของทศทจะได้ประโยชน์ 2 ด้านที่เห็นชัดเจนคือ 1. การลดภาระ USO โดยการใช้เทคโนโลยีไอพีสตาร์จะลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 50% จากปีละ 1 หมื่นล้านบาทจะเหลือเพียงประมาณ 1-2 พันล้านบาทเท่านั้น และ 2.การบุกตลาดคอนซูเมอร์บรอดแบนด์ที่ทศทกับชินแซทมีแนวทางจะทำการตลาดร่วมกัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่รัฐมีนโยบายที่จะตอบแทนการลงทุนด้าน USO ให้ผู้ประกอบการ ถือเป็นโอกาสดีที่ทศทจะสามารถพลิกบริการที่ขาดทุนให้กลายเป็นบริการที่สามารถทำรายได้และมีกำไรในอนาคตด้วย เพราะการใช้เทคโนโลยีไอพีสตาร์ รวมทั้งบริการด้านสื่อสารข้อมูลจะเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มรายได้ให้ทศท เนื่องจากบริการโทรศัพท์พื้นฐาน มีแต่รายได้ลดลงและมีคู่แข่งรอบด้าน

นอกจากนี้ หากเทคโนโลยีไอพีสตาร์ไปอยู่ในมือคู่แข่งหรือเป็นพันธมิตรกับคู่แข่งของทศท จะเป็นอันตรายกับทศทในการแข่งขันในอนาคตอย่างมาก เพราะบริการภายใต้ไอพีสตาร์จะให้บริการด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ไม่ว่าจะเป็นบริการเสียง (วอยซ์- โอเวอร์ไอพี) หรือการให้เลขหมายโทรศัพท์จำนวนมาก โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเดินสายเคเบิลเพื่อเป็นระบบสื่อสัญญาณ โดยสามารถให้บริการโทรศัพท์ทางไกลในประเทศด้วยอัตราโทรศัพท์ท้องถิ่น ซึ่งบริการเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ

"บริการเหล่านี้หากอยู่ในมือคู่แข่งทศท สามารถให้บริการตัดราคาทศทได้สบาย ๆ"

แหล่งข่าวกล่าวว่าไอพีสตาร์เป็นทั้งบรอดแบนด์ และบรอดคาส หมายถึงนอกจากบริการอินเทอร์เน็ต พื้นฐานแล้ว ยังสามารถให้บริการด้านเสียงคือการเป็นโทรศัพท์และยังสามารถให้บริการภาพในลักษณะ ถ่ายทอดสด หรือในลักษณะวิดีโอ ออน ดีมานด์ได้ ซึ่งถือว่ามีความยืดหยุ่นสูงบริการเหล่านี้เรียกว่าเป็น tripple play เพียงแต่ผู้ให้บริการได้ครบวงจรต้องมีใบอนุญาตครบทุกประเภท

ปัจจุบันทศท เป็นลูกค้าของชินแซท ในการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคมประมาณปีละ 300 ล้านบาท เช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐอีกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม กรมสรรพากร กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงกลาโหม โครงการเฉพาะของรัฐ ในส่วนของเอกชนมีสามารถ ฮาตาริ ซีเอสล็อกซอินโฟ

แต่เนื่องจากดาวเทียมไอพีสตาร์ยังไม่ยิงขึ้นวงโคจร แม้จะใช้อุปกรณ์ของไอพีสตาร์ แต่ใช้ช่องสัญญาณจากไทยคมดวงเก่า จึงมีความสามารถให้บริการได้จำกัดเพียงประมาณ 5,000 จุด แต่เมื่อ ไอพีสตาร์ถูกยิงขึ้นอวกาศในไตรมาสแรกของปี 2548 จะเพิ่มความสามารถเป็น 3 แสนผู้ใช้บริการสำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสามารถปรับให้บริการประเภทอื่นๆ ได้อีกให้ยืดหยุ่นตามความต้องการของตลาด

สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้บรอดแบนด์ประมาณ 1 แสนคน แต่จากนโยบายรัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิดการใช้งานบรอดแบนด์จำนวนมากทำให้เอกชนลดราคาลงมาในระดับ 590 บาทต่อเดือน ทำให้ตลาดบรอดแบนด์มีการเติบโตสูงขึ้น การเป็นพันธมิตรระหว่างทศทกับไอพีสตาร์ เกิดขึ้นเพราะทศทจะเป็นคนที่คลุมตลาดได้ทุกส่วนทั้งลูกค้าลักษณะโครงการของรัฐ, คอนซูเมอร์บรอดแบนด์และการลดช่องว่างดิจิตอลผ่านบริการ USO ซึ่งหน่วยงานที่ให้บริการโทรคมนาคมแห่งชาติของประเทศต่างๆ ที่ดาวเทียมไทยคมและไอพีสตาร์ครอบคลุมถึงมักเป็นลูกค้าของชินแซท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.