บทเรียนในการระงับวิกฤติการเงิน


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ดูเหมือนว่าวิกฤติการเงินในเอเชียจะลุกลามขยายออกไป จากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่งอย่างรวดเร็ว จากไทยสู่อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ประวัติศาสตร์ให้บทเรียนที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการยับยั้งเปลวเพลิงของวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

บางบทเรียนเหล่านั้นได้แก่

- รัฐบาลควรคัดค้านการแปลงหนี้เอกชนมาเป็นของรัฐ
- การสนับสนุนธนาคารท้องถิ่นที่ล้มละลาย กลับ ทำให้สิ่งต่างๆ เลวร้ายลง
- การประกาศพักการชำระหนี้อย่างเป็นทางการ และการควบคุมการเข้าออกของเงินทุนยิ่งทำให้เงินทุนไหล ออกนอกประเทศ
- ทุกฝ่ายจะประหยัดเวลาอย่างมาก หากธนาคารต่างชาติที่เป็นเจ้าหนี้ยอมรับเสียแต่ต้นเมื่อเกิดวิกฤติการเงินว่า พวกเขาจะไม่ได้รับเงินคืนเต็ม 100 เซ็นต์จากทุกดอลลาร์ที่ปล่อยกู้ออกไป (ทั้งนี้เจ้าหนี้และลูกหนี้ในละตินอเมริกาเสียเวลาไป 7 ปีกว่าที่จะเข้าใจและยอมรับในเรื่องนี้)

วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้ชักนำให้เกิดการทำวิจัยใหม่ๆ มากขึ้น แต่มีบางปัญหาที่ยังไม่ได้ตอบ นั่นคือ วิกฤติการเงินกับการธนาคารมักไปควบคู่กัน แต่นักเศรษฐศาสตร์ไม่มั่นใจว่าอะไรเป็นไก่ อะไรเป็นไข่ หากสิ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินยังเป็นคำถามเปิดอยู่ ประวัติศาสตร์เสนอว่ามีแนวทางบางอย่างที่ใช้ได้ผลดีกว่าแนวทางอื่นๆ ในการแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นในอดีต

กุญแจเริ่มที่สำคัญที่สุดคือการตรวจหาสาเหตุของโรคให้ได้ แดเนียล มาร์กซ์ - หัวหน้าคณะเจรจาหนี้ต่างประเทศของอาร์เจนตินาระหว่างปี 1989-1992 กล่าวว่าการหาสาเหตุของวิกฤติการเงินในละตินอเมริกา เป็นปัญหาใหญ่มากอย่างหนึ่งระหว่างที่เกิดวิกฤติหนี้ต่างประเทศในทศวรรษ 1980 เขากล่าวว่า "มีการอธิบายสมมติฐานของวิกฤติอย่างผิดพลาดในตอนต้น คือมองกันว่าเป็นปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องการล้มละลายของกิจการ (insolvency)"

สิ่งที่เกิดขึ้นมีความคล้ายคลึงกันมาก และกลายเป็นประเด็นสำคัญในเอเชียที่เพิ่มภาวะวิกฤติมากขึ้น การให้ยืมเงินสดเพิ่มขึ้น-ช่วยผ่อนคลายให้เกิดสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ที่ล้มละลาย ก็เหมือนกับการโยนเงินดีๆ เข้าไปในกิจการที่แย่ ปัญหาของกิจการไฟแนนซ์ในประเทศไทยก็ถูกระบุว่า เป็นเรื่องการขาดสภาพคล่อง แต่หลังจากที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปหลายเดือน รัฐบาลก็ต้องสั่งปิดกิจการไฟแนนซ์ 56 แห่ง เพราะว่าปัญหาจริงๆ คือล้มละลาย

ผลการศึกษาเกี่ยวกับวิกฤติธนาคารท้องถิ่น 24 แห่งตั้งแต่ปี 1980 พบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมธนาคาร สิ่งที่เกิดคล้ายคลึงกันคือ มีการจำกัดการที่ธนาคารกลางจะเข้าค้ำยันธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหา ประเทศที่มีผลการปรับโครงสร้างธนาคารที่เลวร้ายมากก็คือ ประเทศที่ธนาคารกลางเข้าไปโอบอุ้มธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาอย่างมาก

รายงานการศึกษาซึ่งมาจากเอกสารการทำงานของไอเอ็มเอฟที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือน ธ.ค. เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะหาวิธีการที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาวิกฤติธนาคารในประเทศเหล่านี้ บางทีการอนุมัติเงินกู้ฉุกเฉินแก่ 3 ประเทศในเอเชียก็มาจากองค์ประกอบหนึ่งในนโยบายที่ปรากฏในรายงานนี้

เมื่อผนวกปัญหาวิกฤติธนาคารในประเทศเข้ากับปัญหาค่าเงินและวิกฤติหนี้ต่างชาติ สามเรื่องนี้ทำให้สถานการณ์ของประเทศไทย อินโดฯ เกาหลีใต้ ซับซ้อนยุ่งเหยิงมากขึ้น เปรียบเหมือนความพยายามที่จะเล่นบาสเกตบอล ฟุตบอล และฮอคกี้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมันก็คือเกมที่ทั้งสามประเทศพยายามเล่นอยู่ในเวลานี้ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดในเอเชียยามนี้ คล้ายคลึงกับวิกฤติการณ์ที่เกิดในละตินอเมริกาในทศวรรษ 1980 แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศเหล่านี้และฉากหลังของสถานการณ์โลกจะต่างกันก็ตาม

นายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ในเอเชียกล่าวว่า วิกฤติการณ์ในประเทศละตินอเมริกาแตกต่างออกไป เพราะว่าหนี้ต่างประเทศส่วนมากของพวกเขามาจากภาครัฐเป็นผู้กระทำ แต่ในความเห็นของ มร.มาร์กซ์ มองว่า อาจจะไม่ใช่ทีเดียวนัก วิกฤติในละตินฯ เมื่อเริ่มต้นนั้น หนี้ต่างประเทศก็เป็นของเอกชน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภาครัฐก็เข้ามารับภาระหนี้และทำให้หนี้เอกชนเหล่านั้นกลายมาเป็นของรัฐ และเข้ารับผิดชอบการชำระหนี้ทั้งหมด

วิกฤติหนี้ในละตินอเมริกาเริ่มต้นเมื่อปี 1982 ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าจะหาสูตรยาที่มีประสิทธิภาพรักษาได้ ซึ่งก็คือ แผนแบรดดี้ (Brady Plan) นิโคลัส แบรดดี้ ซึ่งในตอนนั้นดำรงตำแหน่ง รมต. คลังสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นประธานบริษัทดาร์บี้ โอเวอร์ซีส์ (Darby Overseas) ให้แนวทางสิ่งที่เรียกกันต่อมาว่า แผนแบรดดี้ ไว้ในคำกล่าวเมื่อปี 1989 โดยเสนอให้ธนาคารต่างประเทศปลดภาระหนี้ด้วยความสมัครใจ และขายหนี้เก่าไปในตราสารใหม่ ซึ่งรวมเรียกกันในเวลาต่อมาว่า แบรดดี้ บอนด์ (Brady Bonds)

การเสนอให้มีการปลดภาระหนี้ หรือ debt relief ถือเป็นจุดเปลี่ยนในนโยบายของสหรัฐฯ มีการแปลงหนี้เป็นทุนขนาดเล็กๆ เป็นจำนวนมากเมื่อวิกฤติทางการเงินเริ่มหยั่งลงลึก อย่างไรก็ดีแนวทางหลักของประเทศเจ้าหนี้ส่วนมากที่มีต่อวิกฤตินี้ ก็ยังยืนยันที่จะให้มีการชำระหนี้เต็มจำนวน ยืดอายุการชำระหนี้ รวมทั้งเพิ่มเงินกู้ให้อีก (เพื่อเอามาชำระหนี้คืน) ประเทศลูกหนี้ใช้เงินกู้ก้อนใหม่ เพื่อนำมาจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนเก่า แนวทางเช่นนี้ใช้ไม่ได้

ในจังหวะที่แบรดดี้เสนอแนวทางของเขานั้น หนี้ต่างประเทศของประเทศในละตินอเมริกามีประมาณ 400 พันล้านเหรียญฯ และวิกฤติการณ์ก็ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องทางการเมือง มีบางประเทศได้ทดลองควบคุมการไหลออกของเงินและประกาศหยุดพักการชำระหนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก "นาทีที่คุณเริ่มควบคุมเงินทุน มันก็จะไหลออกในทันใด" มร.มาร์กซ์ กล่าว

สำหรับวิกฤติการณ์ในเอเชีย ธนาคารต่างประเทศบางแห่งได้ตั้งสำรองหนี้สูญแล้ว แต่ไม่เต็มใจที่จะบอกแก่สาธารณะในสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นไปไม่ได้ นั่นคือการปลดหนี้

มอร์ริส โกลด์สไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคาร ที่สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า "เจ้าหนี้กำลังจะได้รับผลกระทบบ้างแล้ว ปริมาณหนี้ที่มีอยู่ควรลดทอนลง หากคุณยังคงแขวนภาระหนี้ก้อนใหญ่นี้ค้างเติ่งไว้ มันจะส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจ คุณต้องทำให้มันลดลงในระดับที่ลูกหนี้สามารถชำระคืนได้"

อย่างไรก็ดี การพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลของประเทศลูกหนี้ทั้งสามต้องรับภาระแปลงหนี้เอกชนเป็นของรัฐหมด เพื่อให้เจรจากับแบงก์เจ้าหนี้ได้ง่ายขึ้น ทิม คอนดอน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคที่ มอร์แกน สแตนเลย์ ดีน วิทเทอร์ กล่าวว่า "การทำเช่นนั้นมีประโยชน์อะไรแก่ผู้เสียภาษี?"

ธนาคารต่างประเทศพยายามที่จะผลักดันเกาหลีใต้ไปในแนวทางเช่นนี้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลรับภาระหนี้เอกชนไว้ทั้งหมด แต่เกาหลีใต้อ่านเกมนี้ออกและในตอนนี้ก็สัญญาว่าจะค้ำประกันหนี้บางส่วนเท่านั้น ไซมอน โอกัส นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคที่ เอสบีซี วอร์เบิร์ก ดิลลอน รีด กล่าวว่า ข้อเสนอเริ่มต้นของธนาคารต่างประเทศดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่ "ตะกละ" มาก ซึ่งนั่นอาจเป็นตัวอย่างที่โหดมากๆ ต่อไทยและอินโดนีเซีย

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การประกาศหยุดพักการชำระหนี้อย่างเป็นทางการก็เป็นนโยบายที่แย่ อย่างไรก็ดี การประกาศพักการชำระหนี้ภาคเอกชนอย่างไม่เป็นทางการ ก็อาจช่วยนำให้แบงก์เจ้าหนี้ต่างชาตินั่งโต๊ะเจรจากับคณะกรรมการลูกหนี้ได้ มันอาจยังช่วยกระตุ้นธนาคารเจ้าหนี้ยอมรับเรื่องการปลดหนี้ว่าเป็นทางออกอันหนึ่ง ในแนวทางการแก้ไขวิกฤติหนี้ รัฐบาลสามารถช่วยลูกหนี้จัดตั้งกรรมการลูกหนี้เพื่อทำหน้าที่นี้

โดนัลด์ พี จาคอปส์ ผู้เชี่ยวชาญการธนาคารและคณบดีของคณะบริหารธุรกิจเคลล็อก มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น กล่าวว่า เอเชียมีข้อดีกว่าประเทศในละตินอเมริกา เพราะธนาคารสหรัฐฯ หลายแห่งต่างปล่อยสินเชื่อให้ละตินอเมริกา เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของสินเชื่อทั้งหมดแล้ว มีปริมาณที่สูงกว่าที่ปล่อยให้ประเทศในเอเชียมาก ในบางกรณี มูลค่าหนี้ของประเทศละตินอเมริกาบางแห่ง มีปริมาณมากกว่าหลักทรัพย์ของธนาคารด้วยซ้ำไป ธนาคารสหรัฐฯ ต้องการหลีกเลี่ยงการตัดหนี้สูญ จนกว่าพวกเขาจะสามารถรับภาระจากมันได้ ธนาคารเหล่านั้นจึงต้องการยืดอายุการชำระหนี้ (และนี่คือเหตุผลสำคัญในเรื่องนี้ - ผู้แปล)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.