"เลี้ยบ" ไม่รอกทช.ดันระบบเบอร์เดียว


ผู้จัดการรายวัน(19 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

หมอเลี้ยบเดินหน้า ไม่รอกทช.เตรียมดันค่าเชื่อมโครงข่าย ให้เสร็จภายในปีนี้ ตามด้วยการใช้เบอร์เดียวทุกระบบ ด้านเอไอเอสย้อน ถามใครลงทุน คุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจหรือไม่ ส่วนดีแทคยันรัฐควรควักกระเป๋าด้วยการจัดสรรรายได้ใหม่ที่ได้ จากภาษีสรรพสามิตและส่วนแบ่งรายได้

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "มือถือเบอร์เดียวทุกระบบ : ใครได้ใครเสีย" ว่า บริการเบอร์เดียวทุกระบบ (Mobile Number Portability) ไม่ใช่แค่มือถือเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีขณะนี้สามารถ ให้บริการข้ามระบบได้ เช่น มือถือกับมือถือ มือถือกับโทรศัพท์บ้าน หรือโทรศัพท์บ้านกับโทรศัพท์บ้าน

"บริการเบอร์เดียวทุกระบบถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับภาครัฐและเอกชนไทย เมื่อเป็นเรื่องใหม่พอคุยกันดูเหมือนง่าย อย่างค่าเชื่อมโครงข่ายซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายแต่ต้องทำ"

น.พ.สุรพงษ์กล่าวว่า ถ้าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เลือกได้ไม่ครบ 7 คนภายในเดือนก.ย.นี้ สิ่งที่ไอซีทีต้องทำคือเดินหน้าเรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายและการให้บริการเบอร์เดียวทุกระบบ แต่ต้องสร้างกติกาที่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นก่อน เพราะไม่เช่นนั้นรายใหญ่จะได้เปรียบ รายเล็กจะมีปัญหา ยกตัวอย่างทีทีแอนด์ที หากเป็นเบอร์เดียวใช้ทุกระบบมีปัญหาแน่ เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของต้นทุนการให้บริการ และส่วน แบ่งรายได้ตามสัญญาร่วมการงาน

"ถ้ากทช.ไม่เกิด ไอซีทีต้องทำ เพราะจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ต้องมีคนมองว่าเอื้อผลประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ทำต้องรออีกปีครึ่งกว่ากทช.จะเกิด ซึ่งเรารอไม่ได้จึงต้องเดินหน้า"

น.พ.สุรพงษ์กล่าวว่า 2 เรื่องดังกล่าวคาดว่าค่าเชื่อมโครงข่ายดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนเรื่องเบอร์เดียวใช้ได้ทุกระบบยังไม่สามารถ กำหนดระยะเวลาได้ เพราะยังไม่มีการ ศึกษาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระบบ หรือซอฟต์แวร์

นักวิชาการเชื่อต้องใช้เวลา

นายอนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการสถาบันการบริการสื่อสารไทย กล่าวว่า ถ้าจะทำเรื่องเบอร์เดียวใช้ทุกระบบแล้วไม่ทำเรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายก็ไม่มีความหมาย เพราะต้องมีการรับประกันคุณภาพเครือข่ายให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลงทุนเพิ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง และใครจะเป็นผู้ลงทุน ส่วนผู้ใช้บริการต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มหรือไม่

ถ้าเบอร์เดียวไม่เกิดแต่ผู้บริโภคต้องการใช้ รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์บ้านด้วย ซึ่งบริการนี้สามารถทำได้เลยคือ 1. ใช้วิธีโรมมิ่งเครือข่าย 2. ทำโดยวิธีปรับโครงสร้าง ทางเทคนิคโดยการเพิ่มคู่สายโทรศัพท์ 3. ทำในเชิงพาณิชย์คือแบบ One Number Service

"ทั้ง 3 เรื่องเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีทำได้โดย ไม่ต้องรอกทช.เกิด อยู่ที่ว่าใครจะทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ใคร"

ด้านนายอนันต์ วรธิติพงศ์ เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้ามองในเชิงเทคนิคอย่างมือถือผู้ให้บริการจะมีการจัดกลุ่มเบอร์ที่ใช้ไว้อยู่แล้ว หากต้องให้บริการแบบเบอร์เดียวสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่พอเริ่มโทร.ติดต่อ (Connect) ก็จะไปเริ่มที่เครือข่ายของโอเปอเรเตอร์แรกที่ผู้บริโภคใช้บริการแล้วค่อยส่งต่อสัญญาณ (Forward) ไปเครือข่ายของโอเปอเรเตอร์ใหม่ ซึ่งตรงนี้มีเรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

ข้อดีของการให้บริการนี้คือผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายในการใช้งาน แต่ใครจะเป็นผู้วางระบบควบคุมเรื่องการส่งสัญญาณจากโอเปอเรเตอร์หนึ่งไปอีกโอเปอเรเตอร์หนึ่ง ใครเป็นผู้คิดค่าใช้จ่าย ใครจะเป็นผู้ลงทุน

"ถ้ามองในทางสังคมแล้วสะดวกสบายในการใช้งาน ถ้ามองในเชิงเศรษฐคุ้มค่าหรือไม่กับการลงทุน ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีเพียง 10% หรือประมาณ 2 ล้านรายของผู้ใช้ทั้งหมด ที่จะเปลี่ยนไปใช้ของผู้ให้บริการรายอื่นและมีกติกาที่ชัดเจนหรือยัง"

สำหรับในเรื่องของการลงทุนนายแชงกา เมมบัท ตัวแทนบริษัท โนเกีย(ประเทศไทย)กล่าวว่า การลงทุนเกี่ยวกับระบบและซอฟต์แวร์ในการให้บริการเบอร์เดียวทุกระบบต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 30-40% ของงบที่ลงทุนไปแล้ว

เอไอเอสชี้ติดปัญหาลงทุน

นายวิเชียร เมฆตระการ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานปฏิบัติการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอรวิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า เรื่องเบอร์เดียวทุกระบบมีค่าใช้จ่ายคือการลงทุนของโอเปอเรเตอร์ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าต้องรับภาระในการใช้บริการคือ 1. ค่าธรรมเนียมในการย้ายข้ามระบบ และ 2.ค่าใช้จ่ายต่อการโทร.ที่เกิดขึ้นจากการเรียกเข้า

"เรื่องเบอร์เดียวข้ามระบบ ค่าใช้จ่ายสูงต้องลงทุนในหลักร้อยล้านบาทขึ้นไปในการตั้งชุมสายกลาง ปัญหาคือใครจะลงทุน ถ้าลงทุนแล้วไม่มีใครใช้บริการขาดทุน รัฐจะเข้ามาช่วยรับภาระการลงทุนดังกล่าวหรือไม่"

เขากล่าวว่าการดำเนินการอาจมีการตั้งองค์กร กลางหรือให้โอเปอเรเตอร์รายใดรายหนึ่งทำก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือเรื่องเงินลงทุน เพราะชุมสายกลางรองรับ 1 แสนเลขหมายราคาประมาณ 80 ล้านบาทแล้วที่สำคัญไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเกือบ 30 ล้านเลขหมายจำเป็นต้องลงทุนเผื่ออนาคตอีกหรือไม่

"เอไอเอสยินดีให้ความร่วมมือ แต่ถ้าให้ลงทุน เองทั้งหมดไม่เอา การทำเบอร์เดียวทุกระบบ เรื่องราคาแพงเป็นปัญหามากกว่าความยากทางเทคนิค เพราะเทคนิคทำได้อยู่แล้ว"

ดีแทคยันรัฐควรควักกระเป๋า

นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมดีแทคกล่าวว่าดีแทคพร้อมสนับสนุน นโยบายรัฐซึ่งอุตสาหกรรมทั้งหมดควรให้ความร่วมมือกันโดยเฉพาะภาครัฐจากการเก็บภาษีสรรพสามิตหรือเก็บส่วนแบ่งรายได้ ควรนำรายได้ที่เก็บไปมาจัดสรรใหม่ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

"ทศทหรือกสท ควรเข้ามาลงทุนตรงนี้ ด้วยการจัดสรรรายได้ที่ได้รับไปใหม่ เพราะตอนนี้เปลี่ยน เป็นผู้ให้บริการหมดแล้ว"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.