ถึงทีของซอฟต์แวร์เกมของแท้ๆ บ้าง


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

หากไม่นับไมโครซอฟท์แล้วซอฟต์แวร์ยอดนิยมคงตกอยู่กับบรรดาซอฟต์แวร์เกมทั้งหลาย เพราะแทบไม่มีคอมพิวเตอร์เครื่องไหนที่จะไม่มีบรรดาเกมต่างๆ นี้บรรจุอยู่

ทว่าในเชิงของธุรกิจแล้ว ซอฟต์แวร์เกมยังเป็นแค่ธุรกิจขนาดเล็กๆ เทียบไม่ได้กับขนาดของผู้ใช้งาน มีการประเมินกันว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะซอฟต์แวร์เกมนั้น ให้ผลในด้านของความบันเทิง ไม่ได้ก่อให้เกิดผลในเชิงธุรกิจ จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องควักเงินซื้อหามาใช้ และที่สำคัญคือราคาของซอฟต์แวร์ของแท้แพงกว่าของก๊อบปี้มาก

ยิ่งในเมืองไทยด้วยแล้วตลาดของซอฟต์แวร์เกม ล้วนเป็นตลาดของก๊อบปี้เป็นส่วนใหญ่ จนแทบจะไม่มีที่ว่างสำหรับซอฟต์แวร์ของแท้เท่าไหร่นัก

ปัจจุบันมีผู้ค้าซอฟต์แวร์เกมของแท้อยู่ในตลาดเพียงแค่ 4-5 ราย และรายล่าสุดที่หาญกล้าเข้ามาทำตลาดแล้วในเวลานี้ก็คือ อิเลคโทรนิค อาร์ต หรือ อีเอ ผู้ผลิตและจำหน่ายซอฟต์แวร์เกมและการศึกษาที่มีถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา ที่มองเห็นโอกาสทางการตลาดของซอฟต์แวร์เกมและการศึกษาในเมืองไทย

อิเลคโทรนิค อาร์ต เป็นหนึ่งในเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เกมเด่นๆ หลายตัวที่บรรดานักเล่นเกมคงได้เคยสัมผัสมาบ้างแล้ว "ฟีฟ่า" ซอฟต์แวร์เกมวางแผนการจัดการทีมฟุตบอล อย่างเกมสร้างเมือง รวมทั้ง NEED FOR SPEED II

"‚ซอฟต์แวร์อีเอ สปอร์ตของเรา เป็นที่รู้จักมากกว่า รองเท้ายี่ห้อรีบอคเสียอีก" คำยืนยันอย่างหนักแน่นของ เอริค ลี ผู้จัดการประจำประเทศไทย ชาวสิงคโปร์กล่าว

การเข้าสู่ตลาดเมืองไทยของอิเลคโทรนิค อาร์ต เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการขยายอาณาเขตทางธุรกิจออกไปสู่ทั่วโลก ประเทศไทยจัดเป็น 1 ใน 85 ประเทศที่อิเลคโทรนิค อาร์ตเข้าไปทำตลาด มีทั้งการตั้งสาขาขึ้นเองและตั้งตัวแทนจำหน่ายและผลิตสินค้า

บริษัทซอฟต์แวร์เกมแห่งนี้ มีทั้งซอฟต์แวร์ที่ผลิตขึ้นเองและที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากค่ายเกมอื่นๆ รวมทั้งหมด 100 เรื่องในมือที่วางตลาดในเมืองไทย

"เราต้องการเป็นคีย์เพลเยอร์ในอุตสาหกรรมผลิตซอฟต์แวร์บันเทิง เราจะส่งออกเกมออกไปทั่วโลก" เอริค ลีกล่าว

ปัจจุบันเอริค ลี มีทีมงานชาวไทยอีก 7 คน พร้อมกับร้านค้าปลีก 120 แห่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เป็นเครือข่ายในการจำหน่ายสินค้า เรียกว่า ใช้กลยุทธ์ในการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคให้มากที่สุด

ตัวเลขส่วนแบ่งตลาด 20% จากมูลค่าของตลาดซอฟต์แวร์เกม 650 ล้านบาทในเมืองไทย คือ เป้าหมายที่เอริค ลีวางเป้าหมายเอาไว้ นั่นหมายความว่า อิเลคโทรนิค อาร์ตจะต้องต่อกรกับคู่แข่ง 4-5 รายในตลาด และที่สำคัญคือ บรรดาซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ เจ้าตลาดตัวจริง ที่ครองส่วนแบ่งตลาดในมือ 90%

เอริคกล่าวว่า กลไกสำคัญที่อิเลคโทรนิค อาร์ตใช้ในการจูงใจผู้ใช้ให้หันมาใช้ซอฟต์แวร์ของแท้ก็คือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ให้เป็นภาษาท้องถิ่น เพราะสิ่งสำคัญของการทำตลาดซอฟต์แวร์ในเมืองไทยก็คือ การต้องลงทุนทำให้เป็นภาษาไทย

"สิ่งที่เราต้องทำคือ การพัฒนาซอฟต์แวร์เกมที่มีอยู่ให้เป็นภาษาไทย ตั้งแต่การผลิต, การผลิตคู่มือ, บรรจุหีบห่อ, และจัดจำหน่าย ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำขึ้นในเมืองไทย โดยจะมีทั้งทีมงานของเราและการว่าจ้างบริษัทอื่นๆ ทำ"

สินค้าตัวแรกที่ถูกเลือกให้หพัฒนาเป็นภาษาไทย คือซอฟต์แวร์ I CAN BE A DINOSAUR FINDER ของค่ายเกม CLOID-9 และผลิตคู่มือภาษาไทยของซอฟต์แวร์เกม "ฟีฟ่า" เป็นภาษาไทย และอยู่ระหว่างพัฒนาซอฟต์แวร์เกมอีก 4 เรื่องให้เป็นภาษาไทยและอีก 9 เรื่องในปี 2541

เวลา 8-9 เดือนที่อิเลคโทรนิค อาร์ตเข้ามาในเมืองไทย จนพอรู้ได้ว่า อุปสรรคสำคัญที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ของแท้ที่เสียเปรียบซอฟต์แวร์ก๊อบปี้มาตลอดก็คือ ในเรื่องราคาขายที่สูงกว่าค่อนข้างมาก

และแม้จะมีเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ สำนักงานทนายความชื่อดัง เป็นตัวแทนทางกฎหมายเพื่อปราบปรามบรรดาซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ แต่เอริคก็รู้ดีว่าการใช้ไม้แข็งต่อกรกับซอฟต์แวร์เถื่อนย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะการกวาดจับผู้ละเมิดกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนกับที่ซอฟต์แวร์ด้านธุรกิจเคยเจอมาแล้ว

"เราไม่ต้องการใช้ไม้แข็ง เพราะเราต้องการให้ผู้ค้าซอฟต์แวร์เถื่อนหันมาเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับเรา" เอริค ลี กล่าว

ทางเลือกที่อิเลคโทรนิค อาร์ตเลือกก็คือ การลงมาสู้ในเรื่องราคา ด้วยการตัดสินใจลดราคาลง 50% เริ่มด้วยราคาต่ำสุดอยู่ที่ 399 บาท โดยจะเริ่มจากซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเองคือ เกมวางแผนฟุตบอลฟีฟ่า ซึ่งผู้บริหารยืนยันว่าจะทยอยออกซอฟต์แวร์เรื่องอื่นๆ ตามมา

การที่อิเลคโทรนิค อาร์ต เลือกลดราคาลงมา ทำให้ซอฟต์แวร์ของแท้มีราคาลงมาใกล้กับของก๊อบปี้มากขึ้น จึงทำให้มองเห็นโอกาสของการต่อกรกับซอฟต์แวร์ก๊อบปี้มีขึ้นค่อนข้างมาก โอกาสที่อิเลคโทรนิค อาร์ตจะขึ้นสู่ความสำเร็จย่อมไม่ใช่เรื่องยาก หากจะใช้กลยุทธ์ทางด้านราคามาใช้อย่างจริงจัง และเมื่อผนวกกับการขยายช่องทางจัดจำหน่าย และแผนพัฒนาให้เป็นภาษาไทยที่วางไว้ โอกาสประสบความสำเร็จก็คงไม่ไกลนัก

และไม่แน่ว่า จะถึงทีของซอฟต์แวร์ของแท้กันเสียที หลังจากปล่อยให้ซอฟต์แวร์ก๊อบปี้ครองตลาดกันอยู่นาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.