|
กรุงไทยตั้งทีมสอบหนี้ฉาว "สมคิด" ชี้ปีนี้กำไรหมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(17 สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ธนาคารกรุงไทยตั้ง "เชษฐ์ทวี-ศุภรัตน์-พงศธร" เป็นกรรมการสอบปัญหาหนี้ตามคำสั่ง "สมคิด" มั่นใจภายใน 2 เดือนรู้ผลพร้อมประกาศให้สาธารณชนทราบ ขุนคลังคาดว่ากรุงไทยกำไรปีนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะที่ผู้บริหารกรุงไทยยันสินเชื่อยังปกติตามหลักกระแสเงินสดและการชำระดอกเบี้ยตามเกณฑ์ธปท. ด้าน ก.ล.ต.พร้อมเอาผิดไอ้โม่งทุบหุ้น ไม่หวั่นแม้เป็นรัฐมนตรี ตำรวจเตรียมข้อมูลรอก.ล.ต.ร้องทุกข์
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในโอกาสตรวจเยี่ยมว่า ธนาคารกรุงไทยต้องตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการใช้เงินกู้ของลูกหนี้ที่มีปัญหาบางราย หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการตรวจพบเส้นทางการใช้เงินของลูกหนี้ที่ไม่ตรงต่อวัตถุประสงค์ในการ ขอกู้ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข่าวลือที่กระทบต่อฐานะทางการเงินและราคาหุ้นที่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องตรวจสอบและสรุปผลให้เสร็จภายใน 2 เดือน และแถลงข้อมูลในสาธารณชนได้รับทราบเพื่อความโปร่งใส
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดเฉพาะกิจดังกล่าวประกอบด้วยนายพงศธร ศิริโยธิน รักษาการกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกรุงไทย นายเชษฐทวี เจริญพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าฯธปท. และนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบธนาคารกรุงไทย ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลว่าการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งจะมีการเสนอรายชื่อคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจดังกล่าวในระหว่างการประชุมคณะกรรมการของธนาคารภายในวันที่ 23 สิงหาคม 2547
"การที่ธปท. มีการใช้เกณฑ์กระแสเงินสด ในการจัดชั้นลูกหนี้ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความ แข็งแกร่งในอนาคต การเข้าตรวจสอบของคณะ กรรมการชุดดังกล่าวจะเข้าไปตรวจสอบว่า การใช้เงินกู้ถูกต้องหรือไม่ หากทำผิดก็ว่าไปตามผิด เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดข้อสงสัยและไม่มีความมั่นใจ หากเรื่องดังกล่าวสรุปได้เร็วก็จะเป็นผลดีต่อธนาคารเอง โดยที่การสั่งการในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติแต่อย่างใด" นายสมคิดกล่าว
นายสมคิดกล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารที่มีศักยภาพสูง เงินกองทุนเข้มแข็ง สำรองได้เกินเกณฑ์ธปท.กำหนด รวมทั้งเป็นผู้นำในการปล่อยสินเชื่อเริ่มตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง จนทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ เริ่มปล่อยสินเชื่อตามมาจากผลประกอบการงวดล่าสุดธนาคารมีกำไรสุทธิถึง 6,000 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประมาณ 12% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จึงเชื่อว่าธนาคารมีศักยภาพเพียงพอในการ สร้างกำไรได้ต่อเนื่อง คาดว่าธนาคารจะมีกำไรในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
ด้านนายชัยอนันต์ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบ กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีคณะกรรมการตรวจสอบสินเชื่อ และดำเนินการ อนุมัติสินเชื่อตามปกติอยู่แล้ว โดยจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อไม่ให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารหละหลวมซึ่งจะก่อให้เกิดเอ็นพีแอลในภายหลัง ซึ่งคณะกรรมการฯ จะนำข้อมูลที่สรุปได้จากการตรวจสอบยื่นเสนอต่อธปท. ต่อไป
สำหรับคณะกรรมการเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นมาและทำงานร่วมกับธปท.นั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอลของธนาคาร จะมีหน้าที่ในการติดตามดูแลและตรวจสอบการใช้เงินของลูกหนี้ที่มีปัญหา และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบของธนาคารเพื่อยื่นต่อธปท.
ด้านนายพงศธร กล่าวว่า โดยปกติธนาคารได้มีการตรวจสอบคุณภาพของสินเชื่ออยู่เป็นประจำ โดยหลักเกณฑ์ที่ธนาคารใช้คือ หลักเกณฑ์กระแสเงินสด และการชำระดอกเบี้ยตามกำหนดของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งตรงตามเงื่อนไขที่ธปท. ได้กำหนด โดยเกณฑ์ที่ทางธปท. ออกมาเมื่อปี 2546 นั้น ธปท. ได้มีการกำหนดให้เอ็นพีแอลเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพตามเกณฑ์กระแสเงินสด ซึ่งจากเดิมเป็นเพียงสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เท่านั้น
ทั้งนี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 มีจำนวน 45,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรก 25,000 ล้านบาท เป็นสินเชื่อเดิม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2546 หรือคิดเป็นจำนวนลูกค้า 81 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นเอ็นพีแอลที่อยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้าง หนี้จำนวน 4,000 ล้านบาท ส่วนที่สองเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547
"การที่แบงก์ชาติสั่งให้ธนาคารตั้งสำรองลูกหนี้กลุ่มนี้เนื่องจากแบงก์ชาติมีความเป็นห่วงว่ากระแสเงินสดของลูกหนี้ดังกล่าวจะสามารถนำมาชำระหนี้ต่อไปได้หรือไม่ จึงมีคำสั่งให้ธนาคารจัดชั้นเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ" นายพงศธรกล่าว
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากทำการตรวจสอบโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 2 เดือนตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งการแล้ว ธนาคารจะส่งข้อมูล ไปให้ธปท. วิเคราะห์อีกครั้งหนึ่ง โดยในเบื้องต้นธนาคารมีความเห็นว่าลูกหนี้กลุ่มนี้มีความสามารถในการชำระเงินดีเพียงพอ โดยในเบื้องต้น ธนาคารยืนยันว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีความสามารถในการชำระหนี้และไม่ได้มีปัญหาทางการเงินแต่อย่างใด แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ของธปท.เท่านั้น
ก.ล.ต.ยันเอาผิดไอ้โม่งทุบหุ้น
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า กรณีที่ข่าวลือมาจากนักการเมืองนั้น สำนักงานก.ล.ต.ก็จะต้องพิจารณาต่อไปว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่นกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีการประชุมพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีผลกับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรม หนึ่ง ซึ่งผู้ที่รู้ก่อนอาจจะไปซื้อดักไว้ก่อนหรือขาย ไปก่อนก็ได้นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
"หากมีข่าวหลุดออกมาและคนที่รู้ข่าวก่อน ได้เข้าไปซื้อหุ้นหรือขายหุ้นก่อนคนอื่น ถือว่าเป็น การใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งสิ่งนี้จะต้องหาต้นตอ และเชื่อมโยงเหตุการณ์ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้" นายธีระชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีรัฐมนตรีหรือโฆษกรัฐบาลได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่อง ที่จะนำเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดำเนินตามปกติไม่มีความผิดแต่อย่างใด
ตำรวจรอก.ล.ต.ร้องทุกข์
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วานนี้ (16 ส.ค.) พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ปล่อย ข่าวโจมตีธนาคารกรุงไทย การขายหุ้นธนาคารที่กองทุนฟื้นฟูถือหุ้นและข่าวปลดผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ดัชนีตลาดหลัก- ทรัพย์ติดลบว่า ยังไม่มีการประสานมาจาก ก.ล.ต. แต่อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางกฎหมายเป็นหน้าที่ของ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้มีคำสั่งแต่งตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นมาติดตามข่าว และความเคลื่อนไหวภายในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากเกรงว่าจะมีการปั่นราคาหุ้น โดยในขณะนี้ชุดเฉพาะกิจดังกล่าวยังคงดำเนินการอยู่ และเชื่อว่ามีข้อมูลอยู่มากพอสมควร
อย่างไรก็ตาม โดยมารยาทแล้วการที่จะเข้าไปดำเนินการทางกฎหมายในเรื่องดังกล่าว ผู้เสียหายหรือทาง ก.ล.ต.จะต้องดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษมาก่อน ทางตำรวจจึงจะสามารถ เข้าไปดำเนินการได้ ทั้งนี้เชื่อว่าทาง ก.ล.ต. มีข้อมูล อยู่มากพอสมควร
สำหรับโทษของการปล่อยข่าวหรือวิเคราะห์ โดยไม่อิงปัจจัยพื้นฐานนั้นมีทั้งโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 240 ซึ่งกำหนดบทลงโทษครอบคลุมนักวิเคราะห์บุคคลทั่วไปซึ่งมิใช่พนักงานของบริษัทหลักทรัพย์ที่วิเคราะห์โดยไม่ดูปัจจัยพื้นฐานมีโทษทั้งจำคุกและปรับไม่เกิน 500,000 บาท และยังมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน และหากมีการสืบทราบว่าทางบริษัทหลักทรัพย์มีส่วนรู้เห็นในการปั่นราคาหุ้นก็จะถูกดำเนินคดีด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|