สมิทไคล์น บีแชม ออกวัคซีนรวมตัวใหม่ ใช้ต้าน 4 โรคในเข็มเดียว


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าบริษัทสมิทไคล์น บีแชม อินเตอร์เนชั่นแนล (เอสบี) มีการผลิตยารักษาโรคออกมาหลายชนิด/ประเภท แต่ผลิตภัณฑ์ยาที่บริษัทมีความรอบรู้ชำนาญและสร้างชื่อเสียงให้บริษัทอย่างมาก คือวัคซีน โดยวัคซีนตัวแรกที่บริษัทเริ่มผลิตเมื่อปี ค.ศ. 1956 คือวัคซีนป้องกันโปลิโอ ซึ่งตอนนี้บริษัทก็เป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่จำนวน 2 ใน 3 ของวัคซีนโปลิโอทั้งหมดเพื่อป้อนตลาดโลก

และมาในปี 1997 นี้ เอสบีก็ได้นำวัคซีนรวม ที่สามารถใช้สร้างภูมิต้านทานโรคระบาดร้ายแรงแก่เด็กทารกถึง 4 โรคในเข็มเดียว เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย หลังจากใช้เวลาทดลองและติดตามผลจนผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.แล้ว ทั้งนี้โรคระบาดทั้ง 4 คือ โรคไวรัสตับอักเสบ "บี", คอตีบ, ไอกรน และบาดทะยัก ซึ่งวัคซีนตัวนี้มีชื่อว่า ไตรตันริกซ์-เอชบี หรือ Tritanrix-HB

มร.ฌอง สเตฟเฟนน์ รองประธานอาวุโส และผู้จัดการทั่วไป บริษัทสมิทไคล์น บีแชม ไบโอโลจิคัลส์ ซึ่งเดินทางมาสำรวจตลาดเอเชียในไทย เปิดเผยว่า ไตรตันริกซ์-เอชบี เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาของเอสบี ไบโอโลจิคัลส์ ซึ่งผ่านการทดสอบทางคลีนิกว่า มีประสิทธิผลพร้อมความปลอดภัยสำหรับเด็กทารก และเป็นวัคซีนรวม จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการแยกให้วัคซีนครั้งละ 2 เข็ม โดยปัจจุบันมีใช้แล้วในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในยุโรปและเอเชีย

เอสบีมียอดขายในทั่วโลกประมาณ 7 พันล้านปอนด์เมื่อปี 1995 และเพิ่มเป็น 7.9 พันล้านปอนด์เมื่อปี 1996 โดยยอดขายเฉพาะวัคซีนอย่างเดียวนั้นคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านปอนด์ ศูนย์กลางการผลิตวัคซีนของเอสบีตั้งอยู่ที่ประเทศเบลเยียม และมีการขยายกิจการเข้ามาร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตวัคซีนในจีนและอินเดียด้วย

สำหรับในประเทศไทยนั้น เอสบีก็เป็นผู้นำในตลาดวัคซีน มร.เจฟฟรี่ย์ เบลี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสมิทไคล์น บีแชม อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดวัคซีนในไทยได้ 30% และในปี 2540 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการนำวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varilrix) เข้ามาทำตลาด เพียงแค่ 8 เดือน บริษัทประสบความสำเร็จอย่างมากสามารถทำยอดขายได้ถึง 100,000 โดส ธุรกิจวัคซีนในปีที่ผ่านมาเป็นตัวผลักดันผลดำเนินงานของเอสบีในประเทศไทยอย่างมาก บริษัทมีอัตราการเติบโตของยอดขาย (ผลิตภัณฑ์ยา) ประมาณ 35% ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานที่ดี ชนิดสวนกระแสความตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศ

แผนดำเนินงานในปี 2541 ของบริษัทคงยึดมั่นกับการลงทุนระยะยาว ในตลาดการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทยต่อไป ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่บริษัทริเริ่มโครงการ "พันธะสังคม" หรือ community partnership ด้วยการมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลในต่างจังหวัดปีละ 50 คนเป็นเวลา 4 ปี โครงการนี้มีมูลค่า 500,000 ปอนด์สเตอริง หรือ 750,000 เหรียญสหรัฐ ซี่งนักศึกษาเหล่านี้จะกลับไปทำหน้าที่ใช้ทุนในท้องถิ่นบ้านเกิดของตนเมื่อสำเร็จการศึกษา

อนันต์ วิทยศักดิ์พันธุ์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์อาวุโส บริษัทสมิทไคล์น บีแชม อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า "วัคซีนไตรตันริกซ์-เอชบีถูกนำมาศึกษาทดลองที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นการทำการศึกษาที่ใหญ่มาก ใช้เวลา 4 ปี มีประชากรร่วมถึง 20,000 คน พบว่า ให้ประสิทธิภาพดีมาก มีความปลอดภัยสูง เป็นที่ชื่นชอบของบุคลากรทางการแพทย์และพ่อแม่เด็ก นอกจากนี้ในเรื่องราคาจำหน่ายก็มีต้นทุนที่ใกล้เคียงกับวัคชีนแยกเข็ม ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์, เวลา, และความเจ็บปวดของเด็กที่ถูกฉีดวัคซีนด้วย"

กลุ่มเป้าหมายของวัคซีนตัวนี้คือ พ่อแม่ที่มีลูกในวัย 6 เดือนแรก, และหญิงมีครรภ์ ที่มารับบริการในภาคเอกชนซึ่งสามารถจ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อย เพื่อให้ลูกได้วัคซีนรวมและมีการเจ็บตัวน้อยลง บริษัทฯ คาดว่า จะสามารถทำตลาดวัคซีนตัวนี้ได้ประมาณ 10% ของยอดขายรวมของบริษัทฯ ในปีนี้ ซึ่งยอดวัคซีนรวมของบริษัทในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 230-250 ล้านบาท และยอดขายรวมปีที่แล้วคือ 700 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นแบบลอยตัว ซึ่งมีผลทำให้เงินบาทมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญของโลก ก็ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ พอสมควร ซึ่งบริษัทฯ กำลังศึกษาหาทางออกในเรื่องนี้อยู่

แต่ในเรื่องของการปรับราคาขายสินค้านั้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับราคาขายสินค้าไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยการอนุญาตของกรมการค้าภายในเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2540 ประมาณ 5%-15% โดยในตอนนั้น อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์ แต่มาในเวลานี้ อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวต่างไปมาก บริษัทฯ จึงยังศึกษาเรื่องนี้อยู่ แต่ก็มีความเชื่อมั่นว่าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.