กรมการแพทย์หนุนแฟรนไชส์ "ร้านไท" กระตุ้นคนไทยใช้ยาและสมุนไพรไทย


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ประเทศไทยได้ชื่อว่า หลากหลายไปด้วยพืช ผัก และผลไม้มากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้รู้สรรพคุณของพืช ผัก และผลไม้ที่มีอยู่ ก็ได้นำมารับประทานและใช้เป็นยาสมุนไพรตามพื้นบ้านกันมานานนม ก่อนที่การแพทย์แผนปัจจุบันจะกระจายเข้าไปยังทุกจุดของประเทศเช่นทุกวันนี้

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น จากยาพื้นบ้านที่ถ่ายทอดกันมาจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นหลัง มานิยมรักษากันด้วยยาฝรั่งซึ่งง่ายต่อการรับประทาน ทำให้ความรู้ในเรื่องของยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรไทยกำลังจะค่อยๆ สูญไป รวมถึงเรื่องของการขาดดุลการค้าจากยานำเข้าจากต่างประเทศ

ทำให้แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันแพทย์แผนไทย เริ่มให้ความสำคัญต่อการนำสมุนไพรไทยมาใช้ในการรักษาคนไข้ ตั้งแต่ครั้งเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลวังน้ำเย็น เมื่อ 20 ปีก่อน จนได้รับรางวัลแพทย์สตรีดีเด่นเป็นรางวัลแห่งชีวิต

"ดิฉันต่อสู้เรื่องแพทย์แผนไทยมานาน สมัยอยู่โรงพยาบาลวังน้ำเย็นก็ใช้สมุนไพรรักษาคนไข้ได้ผล ทำสวนสมุนไพร 8 ไร่ มีสมุนไพรกว่า 200 ชนิด ทำอยู่ 5 ปี ได้แพทย์สตรีดีเด่น จนได้ตำแหน่งสูงขึ้นเป็นผู้อำนวยการสถาบันแพทย์แผนไทย ซึ่งผลักดันให้มีการตั้งขึ้นช่วงปี 2536-2537 เพื่อทำงานด้านนี้ได้อย่างจริงจัง จนตอนนี้มีโรงพยาบาลชุมชนที่ทำเรื่องแพทย์แผนไทยมากกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ" แพทย์หญิงเพ็ญนภากล่าว

จาก 70 แห่ง มีโรงพยาบาลที่ทำเรื่องสมุนไพรเต็มรูปแบบ 100% อยู่ถึง 33 แห่ง รวมถึงคลินิกแพทย์แผนไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 220 แห่ง ซึ่งเป็นร้านที่มีตั้งแต่การขายยาสมุนไพรเพียงอย่างเดียว มีการอบประคบสมุนไพร มีนวดผสม

แต่อย่างไรก็ตามจำนวนโรงพยาบาลและร้านขายยาที่ทำเรื่องแพทย์แผนไทย ก็ยังไม่กว้างขวางและกระจายได้เท่ากับความต้องการของประชาชน และความต้องการของกรมการแพทย์ที่ต้องการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้ยาไทย เพื่อลดการขาดดุลยานำเข้า และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยาไทยให้เป็นที่รู้จักและนิยมใช้ในหมู่คนไทยมากขึ้นเหมือนในสมัยก่อน

เพราะจากตัวเลขในปี 2537 พบว่าปริมาณการใช้ยาแผนโบราณมีไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ในขณะที่การใช้ยาแผนปัจจุบันมีถึง 18,000 ล้านบาทและส่วนใหญ่ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งคนไทยควรจะช่วยกันลดปริมาณยานำเข้าเหล่านี้ลง เพราะกว่า 70% ของโรคสามารถรักษาให้หายได้ด้วยแพทย์แผนโบราณ เช่น ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้คัน ยาระบาย ฯลฯ

จากประสบการณ์การทำงานด้านแพทย์แผนไทยของหมอเพ็ญนภา พบว่านอกจากจะขาดแคลนเรื่องของคนและบริการ ที่ต้องเสียสละเพื่อเรียนรู้ที่จะให้บริการคนป่วยจริงๆ แล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องของการจัดการในระบบราชการ ที่ต้องการการบริหารแบบสมัยใหม่

"เราเลยคิดระบบที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วม เอาสิ่งที่ภาครัฐทำไม่ได้ ไปให้เอกชนทำ เช่นเรื่องการบริหารงาน กรมการแพทย์จึงร่วมหุ้นกับภาคเอกชนตั้งบริษัทขึ้นมา เพื่อบริหารงานและขายแฟรนไชส์ร้านยาไทย ในชื่อร้านไท ให้กระจายไปยังทุกภูมิภาคของประเทศและส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ให้หันมาใช้สมุนไพรในรูปของอาหารและยา เพื่อดูแลสุขภาพโดยอาศัยหลักของภูมิปัญญาไทย ซึ่งจากตัวอย่างที่ทดลองเปิดร้านแรกมาเกือบ 1 ปี ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี" แพทย์หญิงเพ็ญนภากล่าว

นี่คือต้นกำเนิดของร้านไท ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย จำกัด ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และบริษัทผู้ผลิตยาจากภาคเอกชน

ลักษณะสินค้าและบริการในร้านไท เป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพมีบริการนวด อบ ประคบสมุนไพร โดยอาศัยหลักของสถาบันการแพทย์แผนไทย และการใช้สมุนไพรในรูปแบบอาหาร และยาเป็นจุดเด่นของร้านแล้ว ยังมีขายสินค้าสุขภาพจากโครงการเกษตรต่างๆ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ

โดยร้านไทมีเป้าหมายที่จะขยายร้านไปยังชุมชนอย่างทั่วถึง เพื่อส่งเสริมบริการด้านสุขภาพและพัฒนาภูมิความรู้ด้านสมุนไพรพื้นบ้าน เน้นให้พึ่งพาตนเองได้ โดยมีรูปแบบการลงทุน 2 ลักษณะ

คือ ขยายงานสาขาโดยร้านไทเอง และขยายในลักษณะของการขายแฟรนไชส์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายได้ประมาณ 50 สาขาในกรุงเทพฯ และอีก 25 สาขาในต่างจังหวัด สำหรับผู้สนใจทั่วไป

ทั้งนี้คุณสมบัติของผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก่อน เพียงแต่ต้องมีความตั้งใจและรักงานบริการชุมชน มีสถานที่ที่เหมาะสม อยู่ในทำเลเหมาะสม เช่นย่านชุมชน รักสมุนไพรและการดูแลสุขภาพแบบวิถีธรรมชาติ รวมทั้งยินดีที่จะให้ศูนย์ของตน เป็นศูนย์บริการข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพของสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ต่อชุมชน

ลักษณะของแฟรนไชส์ ร้านไทจะแบ่งค่าแฟรนไชส์ ค่ารอยัลตี้ฟี ตามขนาดและประเภทของร้าน ซึ่งจะแบ่งประเภทตั้งแต่ร้านที่ขายเฉพาะสินค้าสมุนไพรและอาหารเสริม ไปจนถึงร้านที่มีลักษณะครบวงจรเหมือนร้านต้นแบบ คือ มีเรื่องการนวดแผนโบราณ อบ ประคบสมุนไพร เข้าไปด้วย โดยค่าแฟรนไชส์จะเริ่มตั้งแต่ 30,000-100,000 บาท ตามขนาดและประเภทของร้าน

ตัวอย่างการลงทุนร้านไทแบบประหยัดที่สุดคือ ขนาดพื้นที่ 4-40 ตารางเมตร ซึ่งขายเฉพาะสินค้าสมุนไพรและอาหารเสริม จะต้องมีเงินลงทุนสำหรับค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ 30,000 บาท ชำระในวันเซ็นสัญญา ค่าชั้นวางสินค้าและตู้วางสินค้า พร้อมป้าย 25,000 บาท ไม่เกิน 15 วัน ชำระหลังเซ็นสัญญา ค่าสินค้าแรกดำเนินการ 30,000 บาท ชำระหลังวันเซ็นสัญญาไม่เกิน 15 วัน และมีเงินทุนหมุนเวียนอย่างน้อย 30,000 บาท สำหรับการดำเนินธุรกิจซึ่งจะต้องจ่ายค่ารอยัลตี้ฟีรายเดือนๆ ละ 3,000 บาท ค่าสินค้าและค่าจ้างพนักงานอย่างน้อย 1-2 คน

โดยคาดว่าในหนึ่งครั้งการลงทุนจะมีจุดคุ้มทุนเป็นเวลา 6 เดือน จากการประเมินยอดขายต่อเดือนที่ 100,000 บาท

ทั้งนี้ศูนย์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะสนับสนุนด้านโปรแกรมสมาชิกร้านไท เพื่อสมาชิกจะได้กระจายไปใช้บริการร้านไทที่เปิดอยู่ในทำเลต่างๆ ช่วยด้านการวิเคราะห์ลูกค้าและทำเลที่ตั้ง รวมถึงอบรมพนักงานในการต้อนรับลูกค้า และอบรมความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ อาทิ การจัดเรียงสินค้า การจัดทำสต็อกสินค้า การลงบัญชี การจัดการ เป็นต้น

สำหรับตัวอย่างร้านต้นแบบ พื้นที่ขนาด 200 ตารางเมตร เป็นร้านที่ร้านไทลงทุนไว้สูง เพื่อต้องการให้มีรูปลักษณ์ที่ดี ทันสมัย เพื่อเปลี่ยนความคิดของคนที่เห็นว่ายาแผนไทยเป็นยาผีบอก เป็นของเก่าโบราณ ถือเป็นร้านต้นแบบที่ประสบความสำเร็จและมีแนวโน้มดีมาก เพราะมีรายได้ต่อวันเกือบ 5 หมื่นบาท จากในช่วงเริ่มต้นที่มีรายได้เพียงวันละ 5-6 พันบาท จากจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการประมาณ 50-60 คนต่อวัน

รายได้หลักของร้านมาจากยอดขายสินค้า 80% จากบริการการนวด ประคบ อายุรเวช การวิเคราะห์ให้ลูกค้ารู้จักธาตุของตนเองด้วยคอมพิวเตอร์ การแนะนำการรับประทานอาหาร การนวดจุดรักษาโรค และการจ่ายยารักษาโรค 20%

สุดท้ายนี้ มีข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจจริงคือ จะต้องมีความตั้งใจจริงรักงานบริการ และต้องพร้อมที่จะรอกำไรในระยะยาว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.