ยานภัณฑ์เข้าตลาดหุ้นมั่นใจตลาดรถยนต์รุ่ง


ผู้จัดการรายวัน(16 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ยานภัณฑ์" เดินหน้าเข้าตลาดหุ้นภายในเดือน ก.ย. ไม่หวั่นสภาพตลาดผันผวนเนื่องจากปัจจัยพื้นฐาน บริษัทแกร่ง แถมได้รับอานิสงส์จากนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ในเอเชีย (Detroit of Asia) ขณะที่การเปิดเขตเสรีการค้าไทย-ออสซี่ ทำให้มีการโยกฐานการผลิตมายังประเทศไทย ส่งผลให้ตลาดรถยนต์มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง

นายสัมพันธ์ พันธ์พาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมระดมทุนประมาณ 1 พันล้านบาท เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงินบางส่วน และเตรียมไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยจะกระจายหุ้นให้แก่ประชาชน (ไอพีโอ) ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 68 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท ซึ่งภายหลังการระดมทุนครั้งนี้บริษัทจะมีทุนชำระแล้วเท่ากับ 1,400 ล้านบาท แบ่งเป็น 280 ล้านหุ้น

สำหรับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน 68 ล้านหุ้น จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้กับกรรมการและพนักงานจำนวน 7 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 13 บาท โดยกำหนดไซเลนต์ พีเรียด 1 ปีครึ่ง เพื่อป้องกัน ไม่ให้ราคาหุ้นผันผวน ส่วนที่เหลือ 61 ล้านหุ้น จัดสรรให้ประชาชนทั่วไป และนักลงทุนสถาบัน โดยบริษัทมีนโยบายจัดสรรให้ในสัดส่วน 50:50 โดยขณะนี้นักลงทุนสถาบันจองซื้อครบหมดแล้ว เนื่องจากมั่นใจในอุตสาหกรรมรถยนต์

"การที่รัฐบาลไทยมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย ถือว่ามีส่วนสำคัญมากในการผลักดันยอดขายให้แก่บริษัท เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีการย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย เพราะมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการผลิต"

นายสัมพันธ์กล่าวว่า นอกเหนือจากการขยายกำลังการผลิตเพิ่มจากการเปิดตัวโรงงาน 2 ที่จะทำให้รายได้ของบริษัทเพิ่ม บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการที่รัฐบาลได้มีการลงนามเปิดเขตเสรีการค้า (FTA) ระหว่างไทย-ออสเตรเลีย โดยปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ในออสเตรเลียได้ลงนามในข้อตกลงที่จะซื้อชิ้นส่วนดิสเบรกจากยานภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 3 ล้านชิ้น และเตรียมย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนค่าแรงงาน

ส่วนการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปคืนหนี้ให้แก่สถาบันการเงินประมาณ 700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หลังจากที่ได้กู้เงินมาเพื่อสร้างโรงงาน 2 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงจาก 2.5 เท่า เหลือเพียง 1.5 เท่า โดยโรงงาน 2 เป็นโครงการ IMV ผลิตรถกระบะโตโยต้ารุ่นใหม่ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2548 ประมาณ 5 แสนคน ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 3 แสนคัน และส่งออกต่างประเทศ 2 แสนคน เพื่อแข่งขันกับรถยนต์กระบะอีซูซุ ดีแม็กซ์ ขณะที่โรงงาน 1 ซึ่งจะเริ่มผลิตในเดือนก.ย.ประมาณ 1.4 หมื่นคัน และในปี 2549 จำนวน 5.5-6.5 แสนคัน

สำหรับส่วนแบ่งตลาด (มาร์เกตแชร์) ในการผลิตท่อไอเสียรถยนต์ของยานภัณฑ์ปัจจุบัน มีมาร์เกตแชร์มากกว่า 60% โดยแบ่งเป็นผลิตให้แก่โตโยต้า 36% อีซูซุ 30% ฮีโน่ ขณะที่ชิ้นส่วนขาเบรกและคลัสต์ มีมาร์เกตแชร์กว่า 60% โดยผลิตป้อนให้แก่โตโยต้าและอีซูซุ ส่วนผลการดำเนินงานงานในปี 2546 บริษัทมียอดขายประมาณ 3 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ยานภัณฑ์ยังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน งานขึ้นรูปให้กับมอเตอร์ไซค์ ฮอนด้า ผลิตชิ้นส่วนแอร์ให้แก่ COPLAND ซึ่งเป็นผู้ผลิตแอร์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ทำคอมเพรสเซอร์แอร์ โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีการผลิตป้อน 6-9 แสนชุด

บริษัทยานภัณฑ์ เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบครบวงจร เป็นผู้นำของภูมิภาคในการผลิตชุดท่อไอเสีย และชิ้นส่วนขึ้นรูปโลหะสำหรับรถยนต์ บริษัทยานภัณฑ์มีบริษัทย่อย 2 บริษัทคือ บริษัท วาย เอ็น พี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (YNPE) และบริษัท ยานภัณฑ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YNPI) บริษัทยังมีบริษัทร่วมทุนกับบริษัทออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น และประเทศอเมริกาอีก 2 บริษัทคือ บริษัท วาย เอส ภัณฑ์ (YSP) และบริษัท วอกเกอร์ เอ็กชอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด (WETCO) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายหลักชิ้นส่วนท่อไอเสียให้แก่ค่ายรถยนต์โตโยต้า และค่ายอีซูซุ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.