ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นอาร์/พีสั่งทบทวนตัวเลขศก.ใหม่


ผู้จัดการรายวัน(16 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" ผู้ว่าการธปท. ส่งสัญญาณดอกเบี้ยอาร์/พีอาจขยับ ในการประชุม 25 ส.ค.นี้ ส่วนเงินทุนเคลื่อนย้าย ยังปกติ แม้เฟดปรับดอกเบี้ย-หุ้นตก พร้อมให้ทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่หลังราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ด้านการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ คาดไม่มีแบงก์พาณิชย์รายใดต้องกันสำรองฯ มากเหมือนแบงก์กรุงไทย เพราะส่วนใหญ่กันสำรองเกินเกณฑ์อยู่แล้ว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 25 สิงหาคมนี้คงจะไม่มีอะไรตื่นเต้นเหมือนกับครั้งที่ผ่านมาที่สามารถคิดไปได้หลายอย่าง ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของธปท.ในขณะนี้ได้ใช้แนวทางเดียวกับสหรัฐฯ คือจะส่งสัญญาณให้ตลาดเงินรับรู้ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ย เพื่อให้มีการปรับตัวล่วงหน้าและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งเชื่อว่าตลาดเงินของไทยได้ปรับตัวไปแล้วหลังจากการประชุมนโยบายการเงินที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาด ซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์/พี) จะไม่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคาร พาณิชย์ปรับขึ้นตามในทันที เนื่องจากการเปลี่ยน แปลงอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะสภาพคล่องที่ปัจจุบันสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินยังเหลืออยู่มาก ดังนั้น หากปรับดอกเบี้ยอาร์/พีขึ้น คงไม่ส่งผลกระทบให้การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอลง

"ไม่จำเป็นเสมอไปที่การปรับอัตราดอกเบี้ย ตัวหนึ่งจะกระทบต่ออีกตัวหนึ่ง ซึ่งดอกเบี้ยอาร์/พี มีผลไม่มากนัก"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ย และการปรับตัวลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังไม่ได้ส่งให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศอย่างผิดปกติ แต่ธปท.ได้ให้เจ้าหน้าที่จับตาดูการ เคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สภาพภาพคล่องไม่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เกิดจากนักลงทุนในต่างประเทศยังคงมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย รวมทั้งเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียโดยรวมยังสามารถขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับเศรษฐกิจของไทยนั้น เชื่อมั่นว่ายังสามารถรักษาระดับการขยายตัวในระดับเดิมได้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มสูงขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยโดยรวมและอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไม่มากนัก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคได้เอง และมีการ ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบลงได้

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ศึกษา ถึงผลกระทบของราคาน้ำมันอย่างละเอียดใหม่อีกครั้ง เนื่องจากราคาน้ำมันในปัจจุบันได้ปรับตัว สูงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ในรายงานเงินเฟ้อฉบับเดือนกรกฎาคม ซึ่งเดิม ธปท.คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสเฉลี่ยอยู่ 41-42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสได้สูงเกิน 43 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว

"น้ำมันไม่กระทบเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก เพราะเราผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้เอง แต่คงจะกระทบกับเรื่องของการใช้จ่ายของประชาชนบ้าง" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ด้านดุลการค้าที่ขาดดุลในช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าอาจจะขาดดุลได้อีก คงไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง เนื่องจากตามหลักแล้ว ภาวะของดุลการค้าไม่มีผลกระทบต่อค่าเงินโดยตรง แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะมีผลกับค่าเงินมากกว่า เพราะดุลการค้าเป็นส่วนหนึ่งในดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งนี้ ในช่วง 6 แรกของปี 47 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไปแล้ว 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเชื่อว่าทั้งปีจะเกินดุลได้ประมาณ 4 - 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์นั้น นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หลังจากที่ได้สั่งการให้ธนาคารกรุงไทยกันสำรองเพิ่มแล้ว คาดว่า จากนี้ไปคงไม่มีธนาคารพาณิชย์แห่งใดต้องกันสำรองหนี้เพิ่มก้อนใหญ่เหมือนอย่างธนาคารกรุงไทยอีก

"ธปท.ไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะไม่มีธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆ ต้องตั้งสำรองเพิ่มหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ธปท. ว่าจะเจอตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของแบงก์ใดเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะถ้ามีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นก็ต้องตั้งสำรอง เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์คงเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการปล่อยกู้ โดยจากสถิติการ เข้าไปตรวจสอบคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคาร พาณิชย์ตั้งแต่ปี 2546 มีเพียงธนาคารกรุงไทยแห่งเดียวที่ต้องกันสำรองหนี้เพิ่มเป็นจำนวน มากๆ ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทย มีการขยายฐานสินเชื่อมาก โดยขยายตัวอยู่ที่ 25-30% แต่ธนาคารแห่งอื่นไม่ได้มีการขยายตัวของสินเชื่อเร็วมากนัก

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออก มาเปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารทุกแห่งมียอดการกันสำรองเกินเกณฑ์ 100% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด โดยขณะนี้ทั้งระบบมีการกันสำรอง เกินเกณฑ์ถึง 1.23 แสนล้านบาท และมีการกันสำรองพึงสำรองตามเกณฑ์ 3.52 แสนล้านบาท ทำให้ทั้งระบบมีการกันสำรองทั้งสิ้น 4.75 แสนล้านบาท ซึ่งการกันสำรองเกินเกณฑ์นั้นถือว่าเป็นเรื่องดี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.