|
SCB เร่ขาย-คืนไลเซนส์ SICCO
ผู้จัดการรายวัน(13 สิงหาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ธนาคารไทยพาณิชย์ ยันเดินหน้าธุรกิจ "บง.สินอุตสาหกรรม" ต่อ หลังแบงก์ชาติไม่อนุมัติแผนยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย โดยเปิดช่องไว้ 2 แนวทาง คือ หาพันธมิตรร่วมทุนดันขึ้นเป็นแบงก์ใหม่อีกรอบ หรือคืนใบอนุญาตให้แบงก์ชาติ ก่อนทำธุรกิจ Credit Company ให้บริการสินเชื่อเพียงอย่างเดียว ด้าน"คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม" มั่นใจไม่กระทบผลการดำเนินงาน
จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปฏิเสธแผนการยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยของบริษัทเงินทุน (บง.) สินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ SICCO ซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนกว่า 40% นั้น
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารได้เตรียมแผนรองรับการดำเนินการของ บง.สินอุตสาหกรรมไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจาก ธปท.ไม่อนุมัติให้ยกระดับ เป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย โดยมี 2 แนวทางหลัก คือการหาพันธมิตร เข้ามาร่วมกิจการเพื่อให้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะสามารถยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือการคืนใบอนุญาตแล้วทำธุรกิจให้บริการสินเชื่อ เพียงอย่างเดียว หรือ Credit Company
สำหรับแนวทางแรก คือ แผนการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนนั้น ขณะนี้ยังคงมีการเจรจากับผู้สนใจประมาณ 2-3 ราย ซึ่งหากพันธมิตรที่สนใจเข้ามาควบรวมกิจการนั้นสามารถทำให้บง.สินอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจที่เข้มแข็งและมีความเหมาะสม ธนาคารในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่คงนำข้อเสนอของพันธมิตรรายนั้นมาประกอบการพิจารณาด้วย
"ขณะนี้มีผู้สนใจเข้ามาเจรจาอยู่บ้างแล้ว แต่เงื่อนไขต่างๆ ที่เสนอเข้ามายังไม่สามารถตกลงกันได้ และหากไม่สามารถหาพันธมิตรได้ ผู้บริหาร และกรรมการของบง.สินอุตสาหกรรมคงจะคืนใบอนุญาตให้กับแบงก์ชาติและทำธุรกิจให้บริการสินเชื่อเพียงอย่างเดียวต่อไป ทั้งนี้ถือเป็นความต้องการของทางผู้บริหารอยู่แล้วที่จะเป็น Credit Company และเชื่อว่าบริษัทจะสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไป"
คุณหญิงชฎา กล่าวว่า หากบง. สินอุตสาหกรรมคืนใบอนุญาตแก่ ธปท.แล้ว บง.สินอุตสาหกรรมจะดำเนินธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค (Hire Purchaes) ต่อไป และเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบง.สินอุตสาหกรรมแต่อย่างใด ทั้งนี้ มีเพียงธุรกิจการรับฝากเงินเท่านั้นที่ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป ดังนั้น จึงต้องหาวิธีระดมทุนใน รูปแบบใหม่เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ
"แนวทางการหาพันธมิตรธนาคารก็ไม่ได้ปิดโอกาส SICCO แต่อย่างใด ธนาคารได้เปิดช่องไว้ให้มีการเจรจาอยู่ตลอด ซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัวว่า พันธมิตรรายนั้นต้องการควบรวม เพื่อเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หรือเล็ก ธนาคารต้องการแค่เพียงเมื่อควบรวมกิจการกันแล้วสามารถ ทำให้การดำเนินธุรกิจของทั้งสองฝ่ายเติบโตได้เป็นอย่างดีเท่านั้น" คุณหญิงชฎา กล่าว
สำหรับบัญชีเงินฝากของบง.สินอุตสาหกรรม ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น บง.สินอุตสาหกรรม ยังสามารถรักษาเงินฝากส่วนนี้ได้ในระยะหนึ่ง จนกว่าธปท. จะมีการสั่งการใดๆ ออกมา ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินที่ต้องรับผิดชอบปกป้องดูแลเงินฝากของประชาชนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้บง.สินอุตสาหกรรม ยังสามารถรับเงินฝากจากลูกค้าได้อีกจนกว่าจะถึงกำหนดของธปท. ซึ่งในขณะนี้ธปท. ยังไม่ได้แจ้งมายังบริษัทว่าให้จัดการในส่วนนี้อย่างไรบ้าง
"หากคืนใบอนุญาตไปแล้วยังมีความมั่นใจว่า SICCO จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งสามารถทำกำไร ให้กับผู้ถือหุ้นได้เช่นเดียวกับ บริษัท สยามพาณิชย์ ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 22%"
ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดให้สถาบันการเงินที่ต้องการปรับสถานะตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financail Master Plan) โดยกำหนดให้ยื่นภายในวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้าย ปรากฏว่า มีสถาบันการเงินยื่นเสนอแผนการยกระดับ และปรับเปลี่ยนสถานะสถาบันการเงินตามแผนพัฒนา ระบบสถาบันการเงินรวมทั้งสิ้น 27 แผน
โดยสถาบันการเงินที่เสนอขอปรับฐานะ ประกอบด้วย สถาบันการเงินที่ยื่นแผนการยกระดับขอเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบมีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัทเงินทุน (บง.) ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการกับบง.ไทยเพิ่มทรัพย์ จำกัด 2. บง. เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการกับบง. รัตนทุน จำกัด (มหาชน) 3.บง. สินเอเชีย จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการกับบง. บัวหลวง และ 4. บง. ฟินันซ่า จำกัด ควบรวมกิจการกับบง. กรุงเทพธนาธร จำกัด (มหาชน)
ส่วนสถาบันการเงินที่ขอยกระดับเป็นธนาคาร พาณิชย์เพื่อรายย่อย มีทั้งสิ้น 7 แห่ง ได้แก่ 1. บง. สินอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) 2. บง. เอไอจี ไฟแนนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 3. บง. จีอี เอเชียไฟแนนซ์ จำกัด 4. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ควบรวมกับบง. บุคคลัภย์ จำกัด (มหาชน) 5. บค. ไทยเคหะ จำกัด 6.บค. ยูนิโก้ เฮาส์ซิ่ง จำกัด และ 7.บค. เอเชีย จำกัด
พร้อมกันนี้ ยังมี บง.อเมริกัน เอ็กซ์เพรส และบง.แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) ขอคืนใบอนุญาต และเป็นสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแต่ไม่รับเงินฝาก
ส่วนของ บง.ที่เหลืออีก 4 รายนั้น คือ 1. บง.ธนชาติ จะเข้าไปควบรวมกับธนาคารธนชาต 2. บง.ซิติ้ คอร์ป ควบรวมกับธนาคารซิตี้แบงก์ 3.บง. กรุงศรีอยุธยา ควบรวมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ 4. บง.บีทีเอ็ม ควบรวมกับธนาคารแม่ที่เป็นสาขาธนาคารต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังมีบค. 1 แห่ง ที่ต้องการอยู่ในสถานะเดิม คือ บค.สหวิริยา
ทั้งนี้ กระบวนการอนุมัติการยกระดับจะเสร็จสิ้นภายใน วันที่ 31 มกราคม 2548 หลังจากนั้น สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตดำเนินการปรับสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ทุกรูปแบบจะให้เวลา 1 ปี และยืดเวลาได้อีก 6 เดือน ส่วนสาขาธนาคารต่างประเทศต้องจัดตั้งภายใน 6 เดือน ส่วนการดำเนินการรวมเป็นสถานะเดียวใช้เวลา 1 ปี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|