สุนทร บุญสาย กลับมาอีกครั้ง "ผมยังไม่เลิกครับ"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

ห่างหายกันไปนานสำหรับ สุนทร บุญสาย ผู้คร่ำหวอดในวงการประกันชีวิตบ้านเรา วันนี้เขากลับมาอีกครั้งภายใต้ร่มเงาของ บมจ.ไทยประสิทธิ์ประกันภัย

สุนทรเงียบหายไปพักใหญ่ภายหลังจากการตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการโบกมือลาจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บมจ.ประกันชีวิตศรีอยุธยา เนื่องจากความไม่พอใจในการบริหารงานของผู้บริหารใหม่ ที่กลุ่มจาร์ดีนส่งเข้ามา

หลังจากนั้นไม่นานนัก เขาก็ได้ร่วมกับกลุ่มอัลฟาเทคฯ ฟอร์มทีมเพื่อยื่นขอทำธุรกิจประกันชีวิตในรูปลักษณ์ใหม่ ตามที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ โดยอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทอัลฟาประกันชีวิต แต่บริษัทนี้ไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาล โครงการสารพัดที่วาดหวังไว้จึงกลายเป็นฝันสลาย แต่คนอย่างสุนทรย่อมไม่หยุดที่จะฝัน ถึงวันนี้เขากลับสู่สังเวียนเดิมอีกครั้ง พร้อมกับแผนงานมากมายที่จะก้าวเดินไปพร้อมกับไทยประสิทธิ์... มิตรแท้

การกลับมาของสุนทรในครั้งนี้ มาพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ของไทยประสิทธิ์ประกันภัย โดยสุขเทพ จันทร์ศรีชวาลา ย้ายไปนั่งเก้าอี้ใหม่ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร, สุนทร บุญสาย เป็นกรรมการผู้จัดการ (ประกันชีวิต), ดี.อาร์.ไอเยอร์ เป็นกรรมการผู้จัดการ (บริหาร) และอมรทิพย์ จันทร์ศรีชวาลา เป็นกรรมการผู้จัดการ (ประกันวินาศภัย) ตามด้วยผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอีก 23 คน นับเป็นบริษัทที่มีผู้บริหารระดับสูงมากจนน่าเกรงขาม

สุขเทพให้เหตุผลในการปรับโครงสร้างครั้งนี้ว่า "เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ" เขาเชื่อว่าต่อไปประเทศไทยจะเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่อดีตสถาบันการเงินมีบทบาทสำคัญมาก แต่ปัจจุบันธุรกิจประกันกลับมีบทบาทมากกว่า เพราะเป็นการออมเงินระยะยาวของประเทศ

เขาเชื่อว่าในปี 2541 และ 2542 นี้บริษัทจะสามารถขยายตัวและพัฒนาให้แข็งแกร่งได้ "และเพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัท เราได้ทำการเพิ่มทุนอีก 500 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 900 ล้านบาท"

สุนทรเองก็มีความมั่นใจไม่น้อยไปกว่ากัน "ผมมองว่าเรายังมีโอกาสสูงในการขยายตัวภายใน 3-5 ปีนี้ แม้ประเทศไทยจะมีปัญหาขาดสภาพคล่อง การว่างงานและอื่นๆ อีกมาก การพัฒนาประเทศต่อไปต้องอาศัยเงินออมระยะยาว ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตจะมีความสำคัญ เพราะถ้าตรงนี้ไม่มั่นคง เราก็ต้องพึ่งพาเงินจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน"

ดังนั้นนอกจากเขาไม่มีแผนชะลอตัวเหมือนบริษัทประกันหลายแห่งแล้ว เขายังตั้งเป้าว่า ปีนี้จะสามารถทำยอดเบี้ยประกันชีวิตได้ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมียอดเบี้ยประกันประมาณ 120 ล้านบาท โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือกลุ่มผู้ส่งออก ซึ่งยังมีอำนาจซื้อมากในปีนี้ และกลุ่มเด็กที่พ่อแม่เห็นสำคัญด้านการประกันชีวิต

สำหรับกลยุทธ์ที่จะนำไปใช้ก็คือ จะไม่มุ่งเฉพาะกรมธรรม์หลักเท่านั้น แต่จะมีกรมธรรม์เสริมเช่น การคุ้มครองอุบัติเหตุ หรือในกรณีที่ลูกค้าไม่สามารถชำระเบี้ยประกันได้ เนื่องจากมีปัญหาทางด้านการเงิน ก็สามารถเข้ามาพูดคุยกับทางบริษัทได้ว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง เช่น อาจจะทำเรื่องกู้เงินกับบริษัทเพื่อมาชำระค่าเบี้ยประกัน โดยเสียดอกเบี้ยในอัตรา 8% ซึ่งต่ำมาก

"เราต้องทำอะไรที่แตกต่างกับคนอื่น ถ้าทำได้ก็ไปได้ เราจะเน้นคุณภาพของงานและพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ ซึ่งตรงนี้จะเป็นหัวใจต่อไป"

สุนทรมองว่าการที่ไทยประสิทธิ์ มีทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัยในบริษัทเดียวกันนั้น นับเป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทประกันภัยทั่วไปจะได้ลูกค้ามาจากโบรกเกอร์ จะไม่มีการขายตรง แต่ไทยประสิทธิ์สามารถทำการขายเป็นรายบุคคลได้ ซึ่งจะเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ นอกจากจากนี้ตัวแทนของบริษัทก็จะสามารถทำงานได้อย่างครบวงจร คือเสนอขายได้ทั้งประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย และอื่นๆ เมื่อสินค้ามีความหลากหลาย ก็จะทำให้พนักงานขายมีรายได้และเติบโตในธุรกิจนี้ได้อย่างมืออาชีพ ในขณะเดียวกัน ลูกค้าที่เอาประกันก็สามารถเคลมประกันทุกอย่างได้กับบริษัทเดียว ทำให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น หากมีการเคลมประกันหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ตามกฎหมายบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจำเป็นต้องแยกออกเป็น 2 บริษัทภายในปี 2543 ซึ่งสุขเทพยืนยันว่าพร้อมที่จะแยก แต่ขณะนี้ยังไม่มีแรงจูงใจอะไรให้แยกบริษัทเร็วกว่าที่รัฐกำหนด

"ทุกวันนี้ยังไม่แยกเราจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่น พนักงานก็ยังเป็นทีมเดียวกัน สถานที่สาขาก็ใช้ที่เดียวกัน" สุขเทพกล่าว ฉะนั้นหากยังไม่มีอะไรจูงใจ ก็มีแนวโน้มว่าเขาจะแยกบริษัทเมื่อถึงนาทีสุดท้าย

แม้ปีนี้เขาจะได้มือดีอย่างสุนทรเข้ามาช่วยงาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรากฐานทางด้านประกันชีวิต ให้มีความมั่นคงแข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่ไทยประสิทธิ์ก็ยังไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับประกันวินาศภัยมากขึ้นด้วย ปีนี้บริษัทได้ลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนในเรื่องของกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน พร้อมทั้งมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มประมาณ 10 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเบี้ยประกันวินาศภัยในปีนี้ไว้ประมาณ 926 ล้านบาท จากที่ปีก่อนทำได้ 823 ล้านบาท

ในปีที่เศรษฐกิจตกต่ำจนน่าหวาดผวาเช่นนี้ บริษัทประกันหลายแห่งกำลังย่ำแย่กับปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากเงินตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนมหาศาลติดอยู่ใน 16 และ 42 ไฟแนนซ์ที่ถูกปิด โดยของประกันทั้งระบบจะเป็นตั๋วที่ไม่มีอาวัลประมาณ 3,500 ล้านบาท และตั๋วที่มีอาวัลประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งตั๋วที่อาวัลเหล่านี้ได้เปลี่ยนเป็นตั๋วใหม่แล้ว แต่ที่ยังมีปัญหาก็คือ รัฐบาลทำยึกยักตีความว่าบริษัทประกันเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินเหล่านี้ จึงจะให้อัตราดอกเบี้ยเพียง 2% เท่านั้น แทนที่จะให้ดอกเบี้ยเท่ากับประชาชนผู้ฝากเงินทั่วไป

"ของเราโชคดีที่เราไม่เสี่ยง ตั๋วของเราทุกใบมีการอาวัล แต่สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ตอนนี้กำลังพยายามคุยกับรัฐบาลว่าควรจะตีความว่าบริษัทประกันก็เป็นผู้ฝากเงิน" สุขเทพกล่าว

แม้เศรษฐกิจจะย่ำแย่ ผู้คนจะขาดอำนาจซื้อ ประเทศชาติจะขาดสภาพคล่อง แต่สุขเทพก็เชื่อว่าไทยประสิทธิ์จะสามารถขยายตัว และยืนหยัดต่อสู้กับวิกฤตเหล่านี้ได้ วันนี้เขามีสุนทรเข้ามาช่วยสานฝันและฝันนี้จะเป็นจริงหรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.