เยาวเรศ ชินวัตร กลับสู่สามัญ


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ 20 ปีที่แล้วเธอเริ่มจับธุรกิจส่งออกสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย  ตั้งแต่ตะกร้าหวาย เสื้อผ้า ตลอดจนผ้าไหม ซึ่งเป็นธุรกิจประจำตระกูล  และอยู่มาวันหนึ่ง วันที่เศรษฐกิจไทยถึงขั้นบูมสุดขีด ที่ดินมีราคาสูงลิ่ว เธอก็เป็นคนหนึ่งที่หลุดเข้าไปอยู่ในวงโคจรของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เธอได้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล แต่แล้วเหตุการณ์ที่ดูเหมือนว่าจะไปได้สวย กลับต้องหยุดอยู่กับที่ เนื่องจากคลื่นฟองสบู่แตกซัดให้เธอกระเด็นออกมาจากธุรกิจอสังหาฯ วันนี้เธอได้กลับไปทำในสิ่งที่เธอรักและมีความถนัดอีกครั้ง จนกลายเป็น "ชินวัตร โฮม มาร์ท" ขึ้น

เยาวเรศ  ชินวัตร  เป็นน้องสาวคนรองต่อจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร และเป็นพี่คนที่ 3 ของน้องๆ อีก  6 คน ปัจจุบันเธอเป็นคุณแม่ลูกสามและเป็นเจ้าของกิจการมากมายหลายแห่ง เธอไม่เพียงแต่เป็นคุณแม่คนเก่งของลูกๆ แล้ว  เธอยังเป็นนักสังคมสงเคราะห์ คอยช่วยเหลือผู้หญิงที่ทำงานในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย

เยาวเรศคลุกคลีอยู่กับสินค้าไทยมาเป็นเวลานาน เริ่มตั้งแต่สมัยที่เธอออกเรือนมีครอบครัวแล้ว  เธอก็เริ่มประกอบกิจการเป็นของตัวเองด้วย การส่งออกตะกร้าหวาย ซึ่งเป็นเพียงธุรกิจเล็กๆ เท่านั้น โดยใช้พื้นที่เพียง 30 ตารางเมตรเป็นมุมหนึ่งในบริเวณโชว์รูมเสื้อผ้าส่งออกของทองสุทธิ์   ชินวัตร   ผู้เป็นอา ในวันนั้นไม่มีใครรู้หรอก ว่าอีก 20 ปีต่อมา เธอจะกลายเป็นเจ้าของกิจการใหญ่โตบนเนื้อที่ของโชว์รูมนี้ทั้งหมด

หลังจากที่ธุรกิจส่งออกตะกร้าหวายของเธอไปได้ดี เธอก็เริ่มมองหาแนวทางในการทำธุรกิจเพิ่มเติม เธอก็มองย้อนกลับไปที่ธุรกิจหลักของครอบครัวเธอก็คือ  "ผ้าไหม" ซึ่งในขณะนั้นชื่อเสียงของผ้าไหมชินวัตรโด่งดังมาก   เธอจึงเปิดร้านผ้าไหมเล็กๆ ขึ้นที่แถวๆ สุขุมวิทใช้ชื่อว่า SIAM SAND ซึ่ง SAND เป็นชื่อของลูกสาวคนโตของเธอ

จากการที่จับอะไรก็เป็นเงินเป็น ทองไปหมด ครั้นพอเพื่อนชาวญี่ปุ่นมาชวนให้ร่วมหุ้นทำธุรกิจนำเข้าเสื้อผ้าจากญี่ปุ่น  เธอก็ยินดี เพราะในสมัยนั้น เสื้อผ้านำเข้ายังมีน้อยมาก มีจำหน่ายที่ห้างไดมารูเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เสื้อผ้าเธอก็เลยขายดิบขายดี ลูกค้าที่เด่นๆ ก็มียาจิตต์ ยุวบูรณ์ และนันทิดา แก้วบัวสาย เป็นต้น

ทำธุรกิจเสื้อผ้านำเข้าอยู่ระยะหนึ่ง เธอก็เริ่มเหนื่อยในการเดินทางเข้าออกนอกประเทศประกอบกับเลือด รักชาติแรง  เธอก็คิดว่า เมืองไทยเราน่าจะผลิตเองได้ เธอก็ตัดสินใจขายหุ้นคืนเพื่อนชาวญี่ปุ่นไป และเปิดโรงงานเย็บเสื้อผ้าเอง  โดยอาศัยการเรียนรู้ลักษณะ รูปแบบ ความประณีตของเสื้อผ้าจากญี่ปุ่นที่คุ้นเคยมาเป็นหลัก  

เธอส่งเสื้อผ้าของเธอไปจำหน่าย ในห้างสรรพสินค้ากว่า 10  แห่ง ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของเธอจะเป็นนักแสดงวัยรุ่นสมัยนั้น เช่น อุทุมพร ศิลาพันธุ์ เป็นต้น

เมื่อทำเสื้อผ้าส่งห้างได้สักพักหนึ่ง  เธอก็พบว่า กำไรที่ได้มาต้องเสีย ไปกับการตกแต่งหน้าร้านที่ทางห้างกำหนดให้เปลี่ยนแปลงทุกๆ 3 เดือน  เธอเห็นว่าไม่คุ้ม ทำไปก็เหนื่อยเปล่าจึงเลิกทำ และหันกลับมาจับธุรกิจผ้าไหมอีกอย่างจริงจัง โดยไปเปิดร้านผ้าไหมที่พัทยา ใช้ชื่อว่า ชินวัตรพัทยา ปรากฏว่าประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีทัวร์มาลงมากและยังมีร้านขายผ้าไหมไม่มากเท่าไรนัก  จนกระทั่งในปีเดียวกันนั้น เธอก็ไปเปิดสาขาที่ภูเก็ต   ซึ่งมีลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่นเดียวกับที่พัทยา โดยใช้ชื่อว่า ชินวัตรภูเก็ต

และหลังจากที่ธุรกิจผ้าไหมทั้ง  2  สาขาของเธอกำลังเจริญรุ่งเรืองดี ปรากฏว่ามีนักธุรกิจชาวอีสานที่ทำธุรกิจผ้าไหมเหมือนกันมาขอซื้อร้านชินวัตร ภูเก็ตด้วยราคาค่อนข้างสูง ในเมื่ออยู่ดีๆ ก็มีคนเอากำไรมาให้โดยไม่ต้องออกแรง  เธอจึงตัดสินใจขายให้ และปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นชื่อร้าน สมรไหมไทย แทน และเมื่อไม่ได้ทำร้านผ้าไหมที่ภูเก็ตแล้ว เธอก็เลยเซ้งร้านที่พัทยาไปให้น้องชายดำเนินการต่อ

เหตุการณ์การซื้อขายกิจการกันในครั้งนั้น  ทำให้เธอหลุดจากวงจรค้าเสื้อผ้าและผ้าไหม ก้าวเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว และได้ก่อตั้งบริษัท ชินวัตรเชียงใหม่ ขึ้นบริหารโครงการต่างๆ ของเธอ เริ่มตั้งแต่โครงการตึกแถวที่เชียงใหม่ โครงการตัดที่ดินขายยกแปลง ซึ่งธุรกิจนี้เจริญรุ่งเรืองดีมาก  เธอก็ติดใจทำธุรกิจนี้เรื่อยมา จนกระทั่งล่าสุดคิดทำโครงการสุรวงศ์พลาซ่าขึ้นที่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ และโครงการนี้เองที่ทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ที่กำลังไปได้สวยของเธอสะดุดลง จากการก่อสร้างที่มีปัญหาเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดถึง   2 ปี ซึ่งเธอบอกว่า การทำโครงการใดๆ ก็ตามควรจะก่อสร้างให้เสร็จภายใน 1 ปี เพราะหากช้ากว่านั้นก็หมายถึงดอกเบี้ยที่บานปลาย แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ ก็ได้มีการเปลี่ยนผู้รับเหมาและดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อไป จนท้ายที่สุดเหลืออีกเพียง 5% ก็จะแล้วเสร็จ บังเอิญมาประจวบเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงอีก ทำให้คนที่เข้ามาจองพื้นที่ในโครงการขอถอนตัวไปจำนวนมาก และเธอก็ไม่อยากเจ็บตัวมากไปกว่านั้น เธอจึงตัดสินใจชะลอการเปิดโครงการออกไปอีกปีหนึ่ง

แต่แล้วพิษของเศรษฐกิจก็หยุดยั้งเธอไม่ได้  เพราะในระหว่างที่ชะลอโครงการสุรวงศ์พลาซ่าอยู่นั้น ทองสุทธิ์ ชินวัตร อาของเธอ ผู้เป็นเจ้าของโชว์รูม ชินวัตร แฟชั่น เฮาส์  ซอยสุขุมวิท 23 ได้ถามเธอว่า สนใจพื้นที่ตรงนั้นไหม เพราะตัวเขาเองอยาก จะพักผ่อนและเลิกทำโชว์รูมนี้แล้ว จะผลิตเพื่อส่งออกอย่างเดียว ซึ่งสถานที่นี้เองที่ครั้งหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้น การทำธุรกิจของเธอคือธุรกิจส่งออกตะกร้าหวายนั่นเอง

เธอก็มานั่งคิดว่า เธอจะทำอะไรดี "ถ้าจะทำเป็นร้านผ้าไหมก็ไม่เหมาะ เพราะต้องใช้เวลามาก ประกอบกับฝั่งตรงข้ามของโชว์รูมนี้ก็มีร้านชินวัตรไหมไทยของป้าอยู่แล้ว  และหากจะทำเป็นร้านจำหน่ายสินค้าไทยแท้ๆ  ก็จะไปเหมือนร้านนารายณ์ภัณฑ์ ถ้าจะทำแบบไม่มีลู่ทางที่ชัดเจนก็จะเหมือนกับไนท์พลาซ่า" จนในที่สุดเธอก็คิดคอนเซ็ปต์ร้านออกมาได้ว่า ต้องเป็นร้านที่จำน่ายสินค้าไทยที่ราคาไม่แพง  เหมาะกับยุคสมัยประหยัด และร่วมกันกินของไทยใช้ของไทย  จึงกลายมาเป็นร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม จำพวกของใช้และของตกแต่งบ้านนานาชนิดจากทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า "ชินวัตร โฮมมาร์ท"

ตลอดระยะเวลาในการทำธุรกิจส่วนตัวของเธอที่ผ่านมา เธอก็ทำงานเพื่อสังคมควบคู่ไปด้วยในหลายองค์กร  อาทิ เป็นกรรมการอำนวยการสภาสตรีแห่งชาติ โดยทำหน้าที่เป็นประธานประสานงานในเขตภาคเหนือ และนายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำจังหวัดเชียงใหม่  เป็นต้น  และการทำงานเพื่อสังคมนี้ทำให้เธอมีโอกาสได้สัมผัสกับการทำงานของกลุ่มสตรีในภาคเหนือ ที่ยังคงมีปัญหาที่ต้องแก้ไขมากมาย

"การออกไปพบปะกับกลุ่มแม่บ้านในชนบท  ทำให้เรารู้ว่าเขามีปัญหาในเรื่องของความรู้ทางด้านการตลาด การกระจายสินค้า เราก็ได้ให้แนวทางในการพัฒนาแก่พวกเขาไป" เยาวเรศเล่า จุดนี้เองที่ทำให้เธอได้เข้าไปสัมผัส ยังแหล่งผลิตสินค้าไทย และติดต่อเลือกนำสินค้าเหล่านั้นมาวางขายที่ ชินวัตร  โฮมมาร์ท ด้วยตัวเอง ถือเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มสตรีในชนบท และเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นด้วย

ทั้งนี้  นอกจากชินวัตร โฮมมาร์ท ที่สุขุมวิท 23 แล้ว ยังมีสาขาย่อยอยู่ที่ศูนย์สรรพสินค้าพรอมมานาด อีกที่หนึ่ง  ลูกค้าที่สนใจสินค้าของที่นี่สามารถมาเดินชมได้ที่โชว์รูม หรือจะเข้ามาเยี่ยมชมและสั่งซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตก็ยังได้ที่ www.shm.co.th

เยาวเรศพยายามที่จะสร้างชินวัตร  โฮมมาร์ทให้เป็นระบบมากที่สุด เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต ซึ่งขณะนี้เธอมีแผนที่จะขยายสาขาไปเปิดที่โครงการสุรวงศ์พลาซ่าที่เชียงใหม่  โดยเธอวาดภาพคร่าวๆ ว่าจะใช้พื้นที่ชั้นแรกของพลาซ่านี้เป็นโชว์รูมของชินวัตร  โฮมมาร์ท และชั้นที่ 2 ทำเป็นมินิเธียเตอร์ ส่วนชั้นสามชั้นบนสุดเป็นศูนย์อาหาร เพียงแค่นี้ก็ไม่ต้องไปแข่งกับใครแล้ว นับเป็นความโชคดีของเธอที่ไม่ดันทุรังเปิดโครงการนี้ไปในช่วงก่อนหน้านี้ "ช้าๆ ได้พร้าสอง เล่มงาม" เธอกล่าวอย่างอารมณ์ดี

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีของ เธอบนถนนสายธุรกิจ ชีวิตเธอก็ขึ้นๆ ลงๆ มาตลอด (แม้จะขึ้นมากกว่าลงก็ตาม) เธอจะได้กำลังใจและคำแนะนำที่ดีจาก ดร.ทักษิณ พี่ชายที่เธอเปรียบเสมือนพ่ออยู่สม่ำเสมอ

"ท่านมีความหมายกับพี่มาก เหมือนเป็นพ่อเรา เพราะท่านเป็นพี่ชายคนโตและเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ  ท่านก็มักจะให้คำปรึกษาที่ดีอยู่เสมอ  จะคอยช่วยมองให้ว่าควรจะทำธุรกิจอะไร  ควรจะหยุดชะลอตอนไหน ซึ่งท่านจะมองถูกทุกอย่าง และเท่าที่ผ่านมาที่เชื่อท่านก็ยังไม่เคยเจอปัญหาเลย" เยาวเรศกล่าวถึงพี่ชายอย่างภูมิใจและที่ขาดไม่ได้คือกำลังใจจากครอบครัว   จากวีระชัย วงศ์นภาจันทร์ สามีผู้ที่คอยให้ความสนับสนุน และคำแนะนำเกี่ยวกับตัวเลขทางการเงินในการทำธุรกิจของเธอ  รวมทั้งเธอยังได้กำลังใจจากลูกๆ ทั้ง 3 คนอย่างเต็มเปี่ยมอีกด้วย

"พี่กับลูกจะใกล้ชิดกันมาก เวลาเราไปไหนหรือทำอะไร เขาจะตามเราไปตลอด เวลามีคนถามเขาว่าโตขึ้นแล้วอยากเป็นอะไร เขาก็จะตอบทันที่ว่าอยากเป็นนักธุรกิจแบบคุณแม่ แสดงว่าเขามองเห็นภาพที่ดีของเรา เขาถึงอยากทำตาม กลับเป็นเรื่องที่ดีที่เขาตามเรา เวลาไปไหนมาไหนแล้วมาเห็นในสิ่งที่เราทำ ก็เท่ากับว่าเป็นการสอนเขาไปด้วยในตัว" คุณแม่คนเก่งกล่าวอย่างภูมิใจ

ผู้หญิงคนนี้ไม่เคยพบกับคำว่า "แพ้" เพราะเมื่อใดที่เธอพบกับทางตัน เธอก็จะมองหาหนทางใหม่ๆ อยู่เสมอ และวันนี้เธอก็ได้พบกับหนทางที่เธอรักและผูกพันอย่างแท้จริงแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.