กสทรุกโทร.ในประเทศบริการผ่านอินเทอร์เน็ต


ผู้จัดการรายวัน(11 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

กสท เปิดศึกโทร.ในประเทศผ่านอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดจำนวนและเวลา ขอเพียงเป็นลูกค้าอินเทอร์เน็ต กสท เผยโทร.ต่างประเทศลูกค้าลดลง 1% รายได้วูบเดือนละ 30 ล้าน หลัง ทศท เข้ามาแข่ง กำไรครึ่งปีแรก 1,900 ล้าน ตั้งเป้าทั้งปี 4 พันล้าน พร้อมเข้าตลาดหุ้นไตรมาสแรกปี 48 เปิดวิชันเชิงรุกเป็นผู้นำ ด้านโทรคมนาคมและด้านไอพีเทคโนโลยี ตั้งเป้าเป็นฮับในภูมิภาคนี้

นายวิทิต สัจจพงษ์ รักษาการกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม เปิดเผยในโอกาสที่ กสทดำเนินงานครบ 1 ปี ว่า กสท เตรียมเปิดให้ลูกค้าที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยสายโทรศัพท์ธรรมดา หรือลูกค้าบรอดแบนด์สามารถใช้บริการโทรศัพท์ในประเทศแบบไม่จำกัดครั้งหรือจำนวนนาทีภายในโครงข่ายของกสท ภายในปีนี้

"ลูกค้าที่ใช้อินเทอร์เน็ตจะมาจดทะเบียน เป็นลูกค้าวอยซ์โอเวอร์ไอพี (VoIP) ของกสท ทำให้สามารถโทรศัพท์ภายในประเทศโดยไม่จำกัด เสียแค่ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ทั้งลูกค้าองค์กรและลูกค้าทั่วไป"

2 เป้าหมายเชิงรุก

นายวิทิตกล่าวถึงวิสัยทัศน์เชิงรุกของ กสทว่า ต้องการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมในระดับภูมิภาค (Regional Telecom Player) และเป็นผู้นำในธุรกิจ เกี่ยวเนื่องกับ IP เทคโนโลยี

สำหรับการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมในระดับภูมิภาค คือ 1.การเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดการเป็นฮับหรือศูนย์การเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เหมือนอย่างที่สิงคโปร์เทเลคอม, MCI เอทีแอนด์ทีให้บริการอยู่ในขณะนี้

2.การเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศในภูมิภาคนี้กับประเทศสหรัฐอเมริกา และ3.การนำวงจรเคเบิลใยแก้วใต้ทะเลที่กสทลงทุนจำนวนมากและมีศักยภาพเพียงพอในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ

ส่วนการเป็นผู้นำในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ IP ที่จะเห็นได้ภายในปีนี้คือ นอกจากบริการโทรศัพท์ในประเทศผ่านระบบ IP ยังมีบริการอื่นๆ ที่สามารถ ให้บริการได้บน IP เทคโนโลยี โดยที่เป้าหมายของกสทคือการเป็น IP Champion ของประเทศไทย

ด้านการให้บริการโทรศัพท์ต่างประเทศนั้น กสทสนับสนุนนโยบายการแข่งขันแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อนำไปสู่การแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งเกตเวย์ของกสทถือว่ามีศักยภาพพร้อมรองรับปริมาณการใช้งานของผู้ให้บริการได้จำนวนมาก การที่บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น ออกมาให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่าเกตเวย์ของกสทไม่มีคุณภาพที่ดี เพียงพอ น่าจะเป็นความเข้าใจผิด

นายวิฑิตกล่าวถึงผลกระทบจากการเปิดให้บริการโทรศัพท์ต่างประเทศของทศท ว่า บริการ 001 ในระบบ IDD มีคนใช้ลดลง 1% ส่วน 009 ในระบบ VoIP มีคนใช้เพิ่มขึ้น 40% ในขณะที่ 007 ของทศท ทำให้รายได้กสทถูกกระทบเดือนละประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงมาก อย่างที่เคยคาดการณ์กันว่า กสท จะสูญเสียรายได้หลายพันล้านบาท

ผลประกอบการครึ่งปีแรกกสท มีรายได้รวม 17,054.52 ล้านบาท รายจ่ายรวม 14,301.52 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,920.34 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการทั้งปีคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทและมีกำไรสุทธิประมาณ 4 พันล้านบาท โดยที่กสทมีรายได้จากฮัทช์ประมาณ 2.4 พันล้านบาทหรือ 20% ของรายได้ของฮัทช์ที่ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2547

"เรื่องโทร.ต่างประเทศ ไม่อยากใช้เรื่องราคาเป็นหลัก และกสทคงลดลงไม่ได้มากกว่านี้แล้ว เพราะใกล้เคียงกับต้นทุน หากทศทลดลงไปอีก เราคงไม่ตอบโต้ แต่คงหันไปให้บริการเสริมอื่นๆ อย่างเช่นการรวมบิล"

นายวิทิตกล่าวว่าภายในเดือนตุลาคมนี้จะมีการรวมบิล กรณีลูกค้าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสไปใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ หรืออินเตอร์เนชั่นแนลโรมมิ่งในต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาจะมีการแยกบิลระหว่างบิลของเอไอเอสกับบิลของกสท การรวมบิลเพื่ออำนวยความสะดวก ให้ลูกค้า ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนาไปสู่การรวมบิล กับผู้ให้บริการในประเทศ โดยรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ต่างประเทศจะไปปรากฏบนบิลโทรศัพท์ในประเทศ นอกจากนี้ กสทจะพัฒนาไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย (Network Provider) กับผู้ขายส่ง (Wholesaler) โดยปล่อยหน้าที่ด้านการตลาดและบริการลูกค้าให้แก่รีเซลเลอร์ต่อไป

ทำซีดีเอ็มเอทั่วประเทศ

ส่วนโครงการขนาดใหญ่อย่างโทรศัพท์มือถือในระบบซีดีเอ็มเอ คาดว่าจะสรุปทีโออาร์ได้ ภายในเดือนนี้และขายซองประกวดราคาได้ โดยกระบวนการ จัดหาจะใช้หลักเกณฑ์เรื่องคุณภาพและราคา (Price/Performance) โดยที่ราคาต่อเลขหมายจะไม่สูงเหมือนที่ของบประมาณไว้ 1.34 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณเลขหมายละ 140 เหรียญ ซึ่งแม้แต่ผู้ติดตั้งระบบก็ออกมายอมรับว่าโครงการนี้ไม่น่าจะถึง 1 หมื่นล้านบาทหรือ 8 พันล้านบาท โดยที่คาดว่าต้นทุนต่อเลขหมายจะอยู่ที่ประมาณ 80-100 เหรียญ

ส่วนแนวทางในการดำเนินโครงการซีดีเอ็มเอภูมิภาค เนื่องจาก กสท เข้าสู่ตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นรายที่ 5 และเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงจำเป็นต้องมี 2 ปัจจัยคือ 1. มีความคล่องตัวเป็นอิสระจากกฎเกณฑ์รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ต้องมีโฟกัสที่ชัดเจน ทำหลายๆ อย่างพร้อมๆกันไม่ได้ และ 2.จะให้บริการเฉพาะ 51 จังหวัดในภูมิภาคไม่ได้ จะต้องให้บริการทั่วประเทศ

นายวิฑิตกล่าวว่า การให้บริการซีดีเอ็มเอจะต้องแยกออกเป็นเรื่องเน็ตเวิร์ก กับการตลาด โดยด้านเน็ตเวิร์กมีความเป็นไปได้ทั้งการซื้อเน็ตเวิร์กของฮัทช์ที่ให้บริการในกรุงเทพฯและภาคกลาง หรือการโรมมิงเน็ตเวิร์กเข้าด้วยกัน ส่วนด้านการตลาดก็อาจเป็นต่างคนต่างทำการตลาดแล้วแบ่งรายได้กัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำทั้งหมด ทุกอย่างอยู่ระหว่างการศึกษา

เข้าตลาดต้นปีหน้า

นายวิทิตกล่าวถึงแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จะเป็นช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งหากตลาดไม่ดีก็เข้าในสัดส่วนที่น้อยสัก 10% ของทุนจดทะเบียน

ส่วนเรื่องการรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท นั้น นายวิทิตกล่าวว่า รอเพียงหนังสือยืนยันจากกระทรวงการคลังเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.