ต๋อย-กันตนายังไม่ซื้อหุ้นITV


ผู้จัดการรายวัน(11 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

กันตนากรุ๊ปกับไตรภพยังไม่ตัดสินใจซื้อหุ้นไอทีวี ระบุยังอยู่ระหว่างศึกษา ด้าน "จักร จามิกรณ์" โผล่ชี้แจงกรณีโอนสิทธิ์หุ้นฉาวของช่อง 5 ให้ไพรเวทมีเดีย ย้ำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอน กองทัพบกเห็นชอบแล้ว แต่เปิดเผยต่อสาธารณชนไม่ได้เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว นายกฯทักษิณย้ำต้องออกกฎหมายที่คำนึงถึงเทคโนโลยี

พล.อ.วัฒนชัย วุฒิศิริ ประธานคณะกรรมการสอบสวนกรณีช่อง 5 แถลงว่า ในวันนี้ได้มี การเชิญ พล.ท.ณรงค์ เจริญฤทธิ์ ผู้จัดการบริษัท ททบ.5 ช่วงปี 46-47 ก่อนจะมีการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ และนายจักร จามิกรณ์ ผอ.ฝ่ายลงทุนบริษัท ททบ.5 มาชี้แจงกรณีการจำหน่ายหุ้นให้เอกชน และกรณีที่ธนาคารทหารไทยให้ลูกหุ้นโดยให้บริษัท ไพรเวท มีเดีย ที่จดทะเบียนที่เกาะบริติช เวอร์จิน- ไอร์แลนด์ มาซื้อหุ้น

ที่เขาชี้แจงคือบริษัทไม่ได้มีการมาซื้อหุ้นทั้งหมด แต่เขามาช่วยกองทัพบกในการซื้อหุ้นธนาคารทหารไทย เพราะขณะนั้นกองทัพบกไม่มีเงิน ดังนั้น จึงได้หาเอกชนมารับเอาไปเพื่อไปหาผู้มาช่วยเพิ่มทุนอีกหลายบริษัท เมื่อได้ข้อมูลแล้วกรรมการก็พิจารณาว่าผิดหรือถูก โดยให้เขานำเอกสารมายืนยัน

เมื่อถามว่า บริษัทนี้ไม่มีตัวตน แต่ททบ.5 โอนสิทธิ์ในการไปซื้อหุ้นในบริษัทดังกล่าว 50 ล้านบาท พล.อ.วัฒนชัย กล่าวว่า เราก็ต้องไปตรวจสอบธนาคารว่าโอนหุ้นไปแค่นั้นจริงหรือไม่ แต่การเรียกมาถามเรื่องนี้ไม่ใช่พุ่งเป้าไปที่พล.อ.สมทัต อัตตะ-นันทน์ อดีตผบ.สส.คนเดียว แต่ก่อนหน้านี้ได้มีการสอบ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ไปแล้ว

สำหรับหนี้ของช่อง 5 กรรมการพิจารณาแล้วออกมาค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ได้มีความพัวพันกับเรื่องการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นข่าวว่าช่อง 5 มีหนี้มากมายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะเบ็ดเสร็จประมาณแค่ 216 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเกิดจากการไปลงทุน ส่วนหนี้สินต่างๆ บริษัทอาร์ทีเอ จำนวน 1,500 ล้านบาทกับธนาคารทหารไทย บริษัทก็ต้องรับไปหมด ไม่ใช่เรื่องของสถานี

พล.อ.วัฒนชัย ยอมรับว่า ช่อง 5 ยังถือหุ้นอยู่ในบริษัทอาร์ทีเออยู่ ก็ต้องรับผิดชอบด้วยเพราะถือหุ้นอยุ่ 30% และลดลงอีก บริษัทเขาก็ต้องบริหาร หาเงินมาใช้ธนาคาร จะไปล้มไม่ได้ สำหรับการลงนามในสัญญาสัมปทาน 30 ปีกับบริษัทอาร์ทีเอนั้น พล.อ.ชัยสิทธิ์ ได้ลงนามจริง ซึ่งตอนนี้เราดูช่วงก่อนหน้าก่อน เมื่อมาถึงจุดนี้ก็จะดูอีกทีโดยดูสัญญาทั้งสามฉบับว่ามีผลอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากเชิญพล.อ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา อดีต ผอ.ช่อง 5 ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทเพื่อดูว่าจุดริเริ่มตั้งบริษัทเป็นอย่างไร พล.ท.ณรงค์ กล่าวว่า เมื่อเราไม่มีเงินซื้อ คนอื่นมาขอก็เป็นเรื่องปกติ ถือเป็นการช่วยธนาคารทหารไทย และตอนนั้นถ้าธนาคารมีเงินก็ไม่ใช่จะไปทำอะไรได้ง่ายๆ ต้องดูว่าไปทำในเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือไม่ สำหรับเรื่องการโอนสิทธิ์ให้บริษัทเอกชนในการซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยไม่ใช่ประเด็น กรรมการก็ไม่ได้ติดใจอะไร

เมื่อถามว่า บริษัทนี้จดทะเบียนบนเกาะที่ถูกมองว่ามีการฟอกเงิน พล.ท.ณรงค์กล่าวว่าเราจะ ไปรู้ได้อย่างไร ว่าประวัติเป็นอย่างไรและเขาก็ซื้อแค่ 13 ล้านหุ้น จาก 227 ล้านหุ้น คิดเป็น 6% เท่านั้น

นายจักร จามิกรณ์ อดีตที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวการโอนสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยจำนวน 227.666 ล้านหุ้น มูลค่า 795.5 ล้านบาทของบริษัท ททบ.5 จำกัด ซึ่งเป็นหุ้นที่นายจักรเคยถือแทนไว้ในฐานะที่ปรึกษาผอ.ททบ. 5 ในช่วงเพิ่มทุนเมื่อ 19 พ.ค. ปี 2546 ให้กับบริษัท ไพรเวท มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสถานี ททบ. 5 และกองทัพบก ขอชี้แจงว่า บริษัท ไพรเวท มีเดีย จำกัด ได้มีการซื้อขายหุ้นจริงจำนวน 13.85 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 3.50 บาท คิดเป็นมูลค่า 48.475 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นดังกล่าวมีหลักฐานแน่ชัดว่าได้ผ่านความเห็นชอบจากกองทัพบก แต่การดำเนิน การทั้งหมดไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของความอ่อนไหวของสถานภาพของธนาคารทหารไทย โดยการซื้อขายหุ้นในครั้งนั้นธนาคารทหารไทยได้เปิดระยะเวลาจองซื้อสำหรับผู้ถือหุ้นเดิม วันที่ 10-16 ก.ย. 2546 ซึ่งในวันที่ 15 ก.ย. 2546 พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารบกในสมัยนั้นได้เซ็นอนุมัติโอนสิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่ของกองทัพบกให้บริษัท ไพรเวท มีเดีย จำกัด บางส่วนและแจ้งหนังสือไปยังธนาคารทหารไทย

พร้อมกับมีคำสั่งให้บริษัท ททบ.5 จำกัด แจ้งการโอนสิทธิ์ดังกล่าวไปยังบริษัท ไพรเวท มีเดีย จำกัด และได้รับคำตอบรับการซื้อหุ้นกลับมาในวันที่ 16 ก.ย. 2546 และธนาคารทหารไทยจึงส่งหนังสือกลับไปยังไพรเวท มีเดียให้โอนเงินซื้อหุ้นมายังวันที่ 22 ก.ย. 2546 ภายในเวลา 14.00 น.

เหตุผลที่บริษัท ททบ.5 จำกัดไม่สามารถ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทยในช่วงเวลา ดังกล่าวได้ เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นไฟลิ่งเพื่อขอเข้าตลาดหลักทรัพย์ และบริษัท เองมีภาระหนี้สินกับธนาคารทหารไทยอยู่แล้ว กว่า 1,000 ล้านบาท แต่ทางกองทัพบกต้องการ หาบริษัทที่เข้ามาช่วยรับสิทธิ์ซื้อหุ้นเพื่อประคองสถานะให้กับทางธนาคาร เพราะในสมัยนั้น พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ผบ.ทบ. ก็อยู่ในตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารธนาคารทหารไทยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ทางททบ.5 ได้มอบหมายให้ตนซึ่งในเวลานั้นติดภารกิจอยู่ในต่างประเทศหาบริษัทที่จะเข้ามารับสิทธิ์ซื้อหุ้นแทน โดยตนได้ติดต่อไปยังบริษัทเอกชนหลายรายจนในที่สุดจึงได้ติดต่อไปยังบริษัท ไพรเวท มีเดีย จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าว ก็ตกลงที่จะเข้ามารับสิทธิ์แทน

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการซื้อหุ้นไอทีวีของกันตนากรุ๊ปกับนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ว่า ขณะนี้ทั้งสองรายยังอยู่ระหว่างศึกษาในรายละเอียด ยังไม่ได้มีการตัดสินใจจะซื้อหุ้นหรือไม่ ซึ่งยังมีเวลา พิจารณาจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก เข้าใจว่าทุกฝ่ายจะต้องพิจารณา รอบคอบ ซึ่งตามข้อตกลงเบื้องต้นนั้น ทั้งสองรายจะเข้ามาถือหุ้นฝ่ายละ 10% จากราคาพาร์ 10 บาทของไอทีวี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งคู่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ได้เข้าถือหุ้นในไอทีวีก็ตาม จะไม่มีผลกระทบ เพราะผลการดำเนินงานในขณะนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว ซึ่งไตรมาสแรกไอทีวีเริ่มมีกำไรประมาณ 25 ล้านบาทแล้ว เพราะการขายโฆษณาที่ดีขึ้นและการจ่ายค่าสัมปทานที่ลดลง

นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บอร์น ออปเปอเรชั่น จำกัด และรองประธานกรรมการบริหารไอทีวี กล่าวว่า ตัดสินใจร่วมทุนแน่นอน เพียงแต่รอให้ถึงกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ถ้าจำไม่ผิดประมาณสิ้นปีนี้ ส่วนเงินทุน ที่จะนำมาซื้อหุ้นนั้น คงต้องใช้การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ไอทีวีมีความน่าสนใจมีศักยภาพและที่ ผ่านมา 3 เดือนหลังจากเข้ามาร่วมงานในไอทีวีด้วยก็พิสูจน์แล้วว่าเราทำจริงแค่ไหน

ก่อนหน้านี้ทางผู้บริหารของกันตนากรุ๊ป ออกมาให้ข่าวว่า กันตนามีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯดังนั้น การที่จะลงทุนด้วยการซื้อหุ้นอะไรก็แล้วแต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ถือหุ้นและแผนที่จะเข้าตลาดหุ้น ซึ่งกรณีของการซื้อหุ้นไอทีวีนั้นก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสม ในแง่ของรายการก็ยังมีการผลิตและเป็นพันธมิตรกันปกติ

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและกฎหมายกรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) ในประเด็นที่บริษัทททบ.5 จำกัด (มหาชน) โอนสิทธิ์การซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคาร ทหารไทยจำนวน 227 ล้านหุ้น วงเงิน 795.5 ล้านบาทให้บริษัทเอกชนเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยแทนซึ่งบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนในหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสถานที่ฟอกเงิน พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ไม่ทราบและไม่รู้เรื่อง เป็นเรื่อง ของช่อง 5

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสอบสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ว่า คณะกรรมการสอบสวนยังไม่ได้รายงานความ คืบหน้าใดๆ มาปล่อยให้คณะกรรมการฯทำหน้าที่ ไปก่อน แต่กรณีการสอบสวนช่อง 11/1 นั้นจวนจะเสร็จแล้วเพราะไม่ต้องเชิญใครมาสอบสวนและจะสรุปเอกสารแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีบอกว่าให้บริษัทอาร์ทีเอ ยุติการดำเนินการ และขอให้รอผลการสอบสวนออกมาก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ ส่วนเอกชนที่เข้าไปบริหารงานในช่อง 5 หากไปทำอะไรผิดกฎหมาย ก็ต้องใช้กฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่งดำเนินการ

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างที่มีการพิจารณาผลสรุปการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ... กสช.นั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับที่ประชุม ว่า ไม่ว่าจะทำกฎหมายอะไรที่เกี่ยวกับโทรทัศน์ ขอให้คิดถึงเทคโนโลยีที่ดี เพราะวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากจนกระทั่งกฎหมายบางฉบับที่ทำออกมา เก่าไปแล้ว นายกฯบอกว่าการเขียนกฎหมายที่เกี่ยวกับโทรทัศน์อย่าให้เชย คือประเภทเห็นกฎหมายออกมาแล้วไม่สามารถบังคับใช้ได้

นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วย ว่า ขณะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่โปรดเกล้าฯกรณีการแปรรูป อ.ส.ม.ท. แต่อย่างใด โดยผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามแกนนำรัฐบาลหลายคน แต่ปรากฏว่าทุกคนหลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามถึงเหตุผลที่ไม่โปรดเกล้าฯ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.