ฝันร้ายของญี่ปุ่นปี '41 เศรษฐกิจยังชะงักงัน


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ทั่วโลกโยนสวะให้ญี่ปุ่นเป็นหัวหอก เอาตัวให้รอดพร้อมฉุดเพื่อนร่วมชะตากรรม ให้พ้นภัย พี่เบิ้มแห่งภูมิภาคเอเชียจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของตนได้เมื่อไหร่ ณ วันนี้ยังมีคำถาม แต่ที่แน่ๆ ปีนี้...ไม่รอดหรอก


ในขณะที่กลุ่มประเทศย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่ง กำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างสาหัส ญี่ปุ่นดูจะถูกจับตามากที่สุดในฐานะของผู้นำทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย ด้วยเหตุที่ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างมาก และประสบปัญหาไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ในย่านนี้นัก

ญี่ปุ่นถูกสหรัฐอเมริกากดดันมาตลอดให้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนให้กลับแข็งแกร่งขึ้น โดยหนุนการขยายดีมานด์ภายในประเทศมากกว่าที่จะเน้นเรื่องการส่งออก รวมถึงการตอบรับสินค้าราคาถูกจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยหวังว่าญี่ปุ่นจะสามารถเป็นหัวหอกในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบนี้ได้

แม้ญี่ปุ่นยินดีที่จะกระตุ้นดีมานด์ภายในประเทศตามแรงกดดันของนานาชาติ แต่ก็ไม่ต้องการที่จะใช้วิธีเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐหรือการลดอัตราภาษีเป็นตัวนำร่อง สิ่งที่คาดว่าญี่ปุ่นจะทำก็คือการให้เงินกู้มูลค่า 3 แสนล้านเยน แก่ชาติอาเซียนโดยผ่านทางเอ็กซิมแบงก์ญี่ปุ่น เพื่อผ่อนคลายความตึงตัวทางสินเชื่อของเอเชีย

อย่างไรก็ตามองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เชื่อว่าแต่ละ 1% ของการถดถอยของการเติบโตของดีมานด์ในภูมิภาคเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) มีผลทำให้ GDP ของญี่ปุ่นตกต่ำลงประมาณ 0.4% ในรอบ 12 เดือน

รัสเซล โจนส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ของบริษัทลีแมน บราเธอร์ กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นเสมือนกุญแจไขไปสู่ความเป็นไปของเอเชียในปี 2541 นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของญี่ปุ่นใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย และเป็นอันดับสองของโลก

ปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงประสบกับปัญหาขาดความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ธุรกิจ และระบบราชการ โดยเฉพาะข่าวลือในระบบการเงินและธนาคารกลาง ภายหลังจากที่ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 4 ของญี่ปุ่นประกาศปิดตัวลง ตามมาด้วยสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวด้านสินเชื่ออย่างมากในช่วงเศรษฐกิจบูม และพบว่ามีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้เสียมหาศาล

โจนส์ มองว่าระบบการเงินของญี่ปุ่นยังมีความคลุมเครือ โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 พันล้านเยน หรือคิดเป็น 16% ของ GDP ของญี่ปุ่นซึ่งใหญ่มาก หนี้เสียเหล่านี้เป็นผลจากการขยายตัวในการให้สินเชื่ออย่างมากในช่วงก่อน ทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องในระบบและต้องเพิ่มทุน

ด้านการส่งออกก็มีภาพที่ไม่สดใสนัก ตลาดเอเชียซึ่งเป็นตลาดหลักกำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก และส่งผลถึงสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นโดยตรง

"เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ประมาณไตรมาส 2 การส่งออกของญี่ปุ่นไปยังภูมิภาคเอเชียขยายตัวประมาณ 10% แต่ในไตรมาส 4 ปีเดียวกัน การขยายตัวกลับอยู่ในระดับติดลบที่ 0.5%" โจนส์กล่าว

แม้การส่งออกไปยุโรป และสหรัฐอเมริกายังคงมีการ ขยายตัวที่ดีอยู่ แต่ก็จำเป็นต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือปัญหาในเรื่องของราคาสินค้า ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก เนื่องจากอัตราภาษีทางอ้อมที่สูงและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นอยู่ในระดับ 2% จากที่ก่อนหน้านั้นเคยอยู่ในระดับ 0% หรือติดลบ

นอกจากนี้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลญี่ปุ่นก็สูงมาก โดยมีหนี้สินสุทธิประมาณ 19% ของ GDP หนี้สินขั้นต้นมากกว่า 80% ของ GDP ปัญหาเหล่านี้หากได้รับการแก้ไขอย่างดี จะสามารถเรียกความเรียกมั่นใจระบบการเงินกลับคืนมาได้

จากการวิเคราะห์ปัญหาของญี่ปุ่นในช่วงต้นปีนี้ โจนส์ สรุปได้ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในอาการปางตาย ระดับความเชื่อมั่นภายในประเทศต่ำมาก กระบวนการหารายได้ของภาครัฐตกต่ำ การส่งออกยังคลุมเครือ และวิกฤตการณ์ทางด้านการเงินซึ่งจัดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้ยังไม่คลี่คลาย

ในความเห็นของโจนส์ สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นควรทำคือ การใช้ The Fiscal Consolidation Law โดยลดการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐทั้งในส่วนกลางและภูมิภาครวมกันให้อยู่ในระดับ 3% ของ GDP ให้ได้ภายในปี 2546 รัฐบาลกลางควรงดการออกตราสารทางการเงินจนถึงปี 2546 ขยายระยะเวลาของแผนการลงทุนสาธารณะจาก 10 ปีและ 13 ปี พยายามชะลอการใช้จ่ายสาธารณะระหว่างปี 2541-2543 รวมถึงการรักษาระดับอัตราหนี้สินขั้นต้นต่อ GDP ประมาณ 80% เศษไว้ให้นานที่สุด ไม่ควรเพิ่ม และควรรับภาระภาษีทั้งหมด การใช้จ่ายด้านความปลอดภัยในสังคม และการขาดดุลการเงินไว้ให้ต่ำกว่า 50% ของ GDP

อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นมีแผนปฏิบัติการเพื่อแก้วิกฤตการณ์ไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน โดยญี่ปุ่นใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรน จัดเตรียมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษี การลดขนาดของภาคเอกชนลง ผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้มากขึ้น และแก้ปัญหาหนี้เสียอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ยังได้จัดการกับระบบธนาคาร เพื่อเรียกความเชื่อถือกลับคืนมาโดย ธนาคารกลางให้สภาพคล่องสู่ระบบธนาคาร การออกพันธบัตรเพื่อประกันเงินฝาก ดูดซับหนี้เสียในงบดุลของภาคเอกชน ลดกฎข้อบังคับเกี่ยวกับที่ดินและการซีเคียวริไทเซชั่น รวมถึงการสร้างจริยธรรมให้เกิดขึ้นในระบบธนาคาร และช่วยให้องค์กรเหล่านี้มีการปรับโครงสร้างใหม่

กระนั้นก็ตาม โจนส์มองว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นทำอยู่นี้ยังมีบางอย่างที่ต้องแก้ไข เช่น การใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวดเกินไป กฎระเบียบต่างๆ ยังมีมากเกินไป ภาษีที่สูง ขาดดีมานด์ทางการเงินและการบาดเจ็บที่รุนแรงของเศรษฐกิจ

และสิ่งที่สำคัญที่สุด โจนส์ยังไม่แน่ใจว่า ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ ริวทาโร ฮาชิโมโต นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะสามารถนำพาเศรษฐกิจให้รอดพ้นได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ยาก ต้องใช้นโยบายที่เข้มแข็ง ภายใต้การนำของรัฐบาลที่แข็งแกร่ง แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลญี่ปุ่นกลับเปราะบาง และใช้นโยบายที่อ่อน ดังนั้นในปี 2541 นี้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะยังคงชะงักงันต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.