ชินแซทฯเลื่อนยิงไอพีสตาร์ยันไม่กระทบรายได้-ธุรกิจ


ผู้จัดการรายวัน(10 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอพีสตาร์เลื่อนยิงเป็นไตรมาสแรกปี 2548 รอทดสอบดาวเทียมขั้นสุดท้าย ชินแซทฯย้ำไม่ส่งผลกระทบรายได้-แผนธุรกิจ ส่วนหุ้นเพิ่มทุนมี 2 ทางเลือก คือ รอตลาดหุ้นดีดตัวกลับ หรือรอยิงดาวเทียมไอพีสตาร์เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง

นายดำรง เกษมเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ กล่าวว่ากำหนดยิงดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ ในเดือนก.พ.-มี.ค. 2548 ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนบวกลบไม่เกิน 30-60 วัน

"เราไม่ได้เลื่อน แต่เราไม่ทราบ เพราะว่าชิ้นส่วนต่างๆ ที่มากกว่าดาวเทียมธรรมดา 4-5 เท่า อย่างจุดการเชื่อมต่อสัญญาณซึ่งดาวเทียมธรรมดา มี 4-500 จุด แต่ไอพีสตาร์มี 3,000 จุด ทำให้เราประมาณการยิงลำบากในช่วงเริ่มต้น เราไม่มีประสบการณ์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก"

ก่อนหน้านี้ไอพีสตาร์ถูกคาดหมายว่าจะถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรภายในสิ้นปีนี้ แต่ระยะเวลาดังกล่าวต้องถูกเลื่อนออกไป เพราะภายในสิ้นปีจะมีการส่งมอบดาวเทียมไอพีสตาร์ให้เอเรียนสเปซเพื่อทำการประกอบดาวเทียมเข้ากับจรวดที่จะใช้ในการจัดส่งและจะถูกทดสอบอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ก่อนที่จะมีการยิงดาวเทียมขึ้นห้วงอวกาศ

สถานะปัจจุบันของไอพีสตาร์ ได้ผ่านการทดสอบในห้องสุญญากาศเสมือนจริง ภายใต้อุณหภูมิที่ร้อนจัดและเย็นจัดสลับกันไป เหมือนกับอุณหภูมิที่ดาวเทียมต้องประสบเมื่ออยู่ในวงโคจร การทดสอบขั้นต่อไปของบริษัทผู้ผลิต สเปซ ซิสเต็ม ลอรัลคือการทดสอบภาวะสั่นสะเทือน (Dynamic Test) โดยเป็นการจำลองสภาวะการสั่นสะเทือนเหมือนดาวเทียมถูกยิงออกจากฐานยิง โดยลอรัลจะทำการติดตั้งจานสายอากาศและแผงพลังงานแสงอาทิตย์กับตัวดาวเทียม เพื่อให้ดาวเทียมอยู่ในสภาพเดียวกันขณะที่จะถูกจัดส่งขึ้นวงโคจร

หลังจากนั้นดาวเทียมไอพีสตาร์จะถูกนำไปทดสอบการรับสภาวะการสั่นสะเทือนทั้งทางด้านแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากทั้งดาวเทียมและเสียง จากนั้นดาวเทียมจะถูกนำไปทดสอบความสามารถในการรับส่งสัญญาณ (Compact Antenna Range Test หรือ CART) และทดสอบการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ จานสายอากาศ แผงพลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จะถูกติดตั้งกับตัวดาวเทียมอย่างถาวร และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวแล้ว ดาวเทียมจะถูกส่งไปยังฐานยิงที่ เฟรนซ์ กิอาน่า โดยที่กระบวนการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2547

"ตัวดาวเทียมประกอบเสร็จตั้งแต่ ธ.ค. ปีที่แล้ว แต่เมื่อเอามาทดสอบ อุปกรณ์บางอย่างไม่เวิร์ก หรือไม่ผ่านก็ต้องส่งไปแก้ไข เพราะเมื่อยิงขึ้นไปแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ถึงขั้นตอนนี้ผมถือว่าดาวเทียมเราคืบหน้าไปแล้ว 90% ธ.ค.47 เมื่อดาวเทียมอยู่ในมือเอเรียนสเปซแล้ว ต้องทดสอบอีก 30-45 วัน เมื่ออยู่ในวงโคจรค้างฟ้า"

เขาย้ำว่าไอพีสตาร์ถือเป็นดาวเทียมด้านบรอดแบนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีความสามารถ ให้บริการได้มากกว่าดาวเทียมธรรมดา 20 เท่า และถ้าหากขายช่องสัญญาณหมดก็จะมีรายได้มากเป็น 4 เท่าของดาวเทียมธรรมดา การที่กำหนดยิงดาวเทียมในปีหน้า ส่งผลกระทบกับรายได้บ้างแต่เรื่องรายได้ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่คาดหวังมากมายนัก สิ่งแรกที่ต้องการตอนนี้คือต้องการให้ดาวเทียมสร้างเสร็จเสียก่อน

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานขายและการตลาด กล่าวว่าการส่งดาวเทียมที่ล่าช้าออกไปมีผลกระทบไม่มาก เพราะได้มีการทำตลาดล่วงหน้าไปแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการติดตั้งเกตเวย์และการขายอุปกรณ์ภาคพื้นดินที่คาดว่าภายในสิ้นปีจะขายได้ทั้งหมด 1 หมื่นชุด รวมทั้งทำให้สามารถ พัฒนาอุปกรณ์ได้มากขึ้นเพื่อให้รองรับการใช้งานได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การใช้เป็นระบบสื่อสัญญาณเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอและจีเอสเอ็ม การถ่ายทอดสัญญาณทีวี

ในด้านการขายและการตลาดไอพีสตาร์จะมีรายได้มาจาก 2 ทางคือ การให้เช่าช่องสัญญาณหรือเรียกว่าการเช่าแบนด์วิดท์ ซึ่งไอพีสตาร์มีแบนด์วิดท์มากถึง 45 Gbps (กิกะบิตต่อวินาที) ปัจจุบันมีลูกค้าจองใช้ประมาณ 20% โดยที่สามารถรองรับบริการลูกค้าได้ราว 10 ล้านรายและรายได้จากการขายอุปกรณ์ภาคพื้นดินซึ่งตลาดมีอยู่ทั่วโลก ไม่จำเป็นต้องเฉพาะประเทศที่ดาวเทียมไอพีสตาร์ครอบคลุม อย่างบราซิล ประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา ซึ่งภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ไอพีสตาร์จะมีอุปกรณ์สำหรับคอนซูเมอร์ออกมาให้บริการในราคาที่ถูกที่สุด

"รายได้จากการให้เช่าแบนด์วิดท์กับการขายอุปกรณ์ในอนาคตจะเป็นครึ่งต่อครึ่งที่เราขายอุปกรณ์ได้ทั่วโลก เพราะราคาเราถูกกว่าคนอื่น 50-100% ถึงแม้ใช้ดาวเทียมเดิมก็ตาม แต่การขายอุปกรณ์ภาคพื้นดินไอพีสตาร์ไป ทั่วโลกถือเป็นการปูพื้นให้ไอพีสตาร์ดวงที่ 2 ในอนาคต" นายยงสิทธิ์กล่าว

นายธนฑิต เจริญจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานการเงินและบัญชี กล่าวถึงหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 208 ล้านหุ้นว่าการจะเพิ่มทุนเมื่อไหร่นั้นมี 2 ทางเลือกคือ 1.เมื่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯดีดตัวสูงขึ้นและ 2.เมื่อยิงดาวเทียมไอพีสตาร์เรียบร้อยแล้ว เพราะเท่ากับไม่มีความเสี่ยงในเรื่องนี้เกิดขึ้น

โครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ใช้เงินทั้งหมด 390-400 ล้านเหรียญ เป็นเฉพาะการสร้างดาวเทียมครึ่งหนึ่ง มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม (ฟุตพรินต์) 14 ประเทศ 18 เกตเวย์ นอกจากนั้นยังสามารถนำอุปกรณ์ไอพีสตาร์ภาคพื้นดินไปใช้กับดาวเทียมอื่นได้รวมเป็น 20 ประเทศอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ และคาดว่าจะมีรายได้จาก การขายอุปกรณ์ในปีนี้ประมาณ 20 ล้านเหรียญ

สำหรับความเคลื่อนไหวหุ้นบริษัทชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ (SATTEL) แม้มีการประกาศเลื่อนการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ จากช่วงไตรมาส 4 ปีนี้เป็นช่วงไตรมาส 1 ปี 2548 แต่วานนี้หุ้น SATTEL ปิดที่ 13.00 บาทเพิ่มขึ้น 0.10 บาท หรือ 0.78% ประกอบกับหุ้นในกลุ่มสื่อสารขนาดใหญ่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยบวกการเลื่อนประชุมวาระพิจารณาสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และการคาดการณ์ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 เติบโต

นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องมีการประกาศเลื่อนการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ เนื่องจากหากมีการดำเนินการดังกล่าว จะส่งผลให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจดังกล่าวประมาณ 1 เดือน แต่ต้องมีการลงค่าเสื่อมราคาของดาวเทียมที่อยู่ในระดับที่สูง อาจจะส่งผลต่อผลดำเนินงานของบริษัท แต่หากมีการเลื่อนยิงไปในช่วงต้นปี 2548 การรับรู้รายได้จะยาวนานกว่า อาจจะสามารถชดเชยในส่วนของค่าเสื่อมราคาที่ต้องระบุในงบได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ เพราะว่าในช่วงแรกรายได้จากธุรกิจดาวเทียมดังกล่าวอาจจะไม่สูงนัก แม้จะเคยมีการตกลงในเรื่องการเช่าสัญญาณกับหลายบริษัท ซึ่งหากมองในระยะยาวธุรกิจดังกล่าวจะสร้างผลกำไรอย่างมหาศาลให้กับบริษัท

นางสาววิริยา ลาภพรหมรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า ข่าวการเลื่อนการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่ได้ส่งผลช่วยหุ้น SATTEL มากนัก ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมามีการประกาศเลื่อนการยิงดาวเทียมนี้หลายครั้ง แต่ในส่วนของผลประกอบการของกลุ่มสื่อสารที่ยังไม่ได้ประกาศออก คาดว่าจะอยู่ ในระดับที่เติบโตขึ้น รวมถึงบริษัทชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.