ไทยพาณิชย์ปรับแผนงาน ยอมรับน้ำมันแพงกระทบเป้ารายได้


ผู้จัดการรายวัน(10 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม" เตรียมปรับวิธีดำเนินการให้รายได้เข้าเป้าหลังจากผลประกอบการครึ่งปีแรกพลาด เป้า 3-4% ระบุสาเหตุจาก 3 ปัจจัยหลัก น้ำมันแพง-ไข้หวัดนก-ก่อการร้าย พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวไม่เกิน 6% เชื่อมั่นอานิสงส์เลือกตั้งใหญ่ ปี 48 ช่วยพยุงเศรษฐกิจโตต่อเนื่องได้ คาดผลประชุมเฟดวันนี้มีลุ้นปรับดอกเบี้ยเพิ่ม 0.25%

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ธนาคารจะเรียกประชุมกรรมการธนาคารเพื่อเตรียมปรับวิธีดำเนินงานเพื่อให้เป้ารายได้ของธนาคารเป็นไปตามที่ตั้งไว้ หลังจากที่ผลประกอบการของธนาคารในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ออกมาต่ำกว่าที่ธนาคารได้ประมาณการไว้เดิม 3-4% ซึ่งในบางกลุ่มที่มีผลประกอบการต่ำกว่าเป้าหมายก็ต้อง มีการปรับปรุงต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงที่ธนาคารทำแผนธุรกิจเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้นธนาคารได้ตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก และไม่ได้นำปัจจัยลบต่างๆ เช่น เรื่องไข้หวัดนก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการก่อการร้ายมาประกอบการวางแผนธุรกิจ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงทำให้ผลประกอบการที่ออกมาในครึ่งปีแรกไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้

"ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลข ซึ่งเป้าหมายประมาณการรายได้ในต้นปีอาจจะสูงเกินไป ซึ่งบางตัวทำได้ดีกว่าเป้า และบางตัวทำได้น้อยกว่าคาด แต่ธนาคารก็จะไม่ปรับลดเป้าหมายรายได้ลง แต่จะพยายามหาวิธีการในการเพิ่มรายได้ขึ้น" คุณหญิงชฎา กล่าว

กลุ่มธุรกิจที่ทำให้รายได้ของธนาคารไม่เป็นไปตามเป้าหมายนั้น ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 2.8% แต่ในครึ่งปีแรกทำได้ 2.6% ทั้งนี้เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่ต่ำเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารส่วนใหญ่เป็นเงินหมุนเวียนใน ธุรกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ ที่ต่ำ นอกจากนี้ธนาคารยังมีภาระเงินฝากที่สูงกว่าสินเชื่อถึง 100,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยในระดับที่สูง แต่อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิก็ต้องไม่ต่ำกว่า 2.6%

อย่างไรก็ตาม การทบทวนรายได้ของธนาคารจะยังไม่มีการปรับลดลง แต่จะเป็นการหาวิธีการเพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคารให้มากขึ้น เช่น เมื่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นทิศทางปรับเพิ่มขึ้น วิธีการกำหนดอัตรา ดอกเบี้ยจะไม่กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3-5 ปี ดังเช่นที่ผ่านมา ที่น่าจะเป็นไปได้หลังจากนี้น่าจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นเพื่อทำโปรโมชันดึงดูดลูกค้าเท่านั้นซึ่งไม่น่าจะเกิน 1 ปีเท่านั้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธนาคารมีรายได้ที่มาจากอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วน 65% และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 35%

"ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบสูงถึง 4.5-5% แต่เราไม่คงไม่คาดหวังว่าจะให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูง ถึงระดับนั้นอีกแล้ว แต่คงจะดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน ซึ่งส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนี้ถือว่าลดลงทั้งระบบ ไม่ใช่ของธนาคารไทยพาณิชย์เพียงแห่งเดียวจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด" คุณหญิงชฎา กล่าว

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา เงินฝากของธนาคารปรับเพิ่มขึ้น 5% ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติเนื่องจากธนาคารไม่สามารถปฏิเสธการฝากเงินของลูกค้าได้ ส่วนสินเชื่อนั้นเพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่ในบางภาคธุรกิจธนาคารปล่อยสินเชื่อได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลสามารถปล่อยสินเชื่อได้ต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย โดยในปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อส่วนนี้ได้ 14% แต่สิ่งที่ไม่เป็นตามคาดคือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือสเปรด ซึ่งธนาคารกำลังหามาตรการอย่างเร่งด่วน โดยศึกษารายละเอียดของสินเชื่อว่ามีการกำหนดโครงสร้างดอกเบี้ยไว้อย่างไรด้วย รวมถึงใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม

คุณหญิงชฎากล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังไม่น่าจะมีการขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างที่หลายฝ่ายได้มีการคาดการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจในปีนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างเข้ามากระทบ เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของต่างประเทศและในประเทศ และการก่อการร้าย ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะปรับลดลง

ช่วงต้นปีธนาคารได้ประมาณการการเติบโต ของเศรษฐกิจในปีนี้ที่ระดับ 6.5-7.0% และกำลังจะมีการทบทวนประมาณการการขยายตัวลดโดยคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะมีการขยายตัวในอัตราประมาณ ต่ำกว่า 6.0% อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีการเติบโตที่ลดลง แต่หากเศรษฐกิจมีการขยายตัวในอัตราที่มากกว่า 5% ก็ถือว่าเป็นการ เติบโตที่น่าพอใจ ซึ่งระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มกว่า 44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นั้น ทำให้ประชาชนเกิดความ ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากกว่าเดิม

"เศรษฐกิจของไทยยังมีการเติบโตในระดับที่ใช้ได้ โดยหากมีการเติบโตได้มากกว่า 5% ขึ้นไปก็พอที่จะทำมาหากินและกระจายรายได้ได้ดีขึ้น นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งจริงในช่วงต้นปี 48 น่าจะส่งผลให้การบริโภคในประเทศมีการขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ" คุณหญิงชฎา กล่าว

ส่วนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดในวันนี้ (10 ส.ค.) ในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ชัดเจนนัก โดยในช่วงก่อนหน้านี้มีแนวโน้มว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่เนื่องจากมีตัวเลขที่เป็นลบเข้ามากระทบมากในระยะนี้จึงต้องจับตามองดูอย่างใกล้ชิด

"แบงก์ชาติต้องคอยติดตามเรื่องอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากความแตกต่างของดอกเบี้ยของในประเทศและต่างประเทศสูงถึง 0.50% ก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนของประเทศอย่างแน่นอน" คุณหญิงชฎากล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.