แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทางออกที่ดีของไทย


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกเหนือไปจากการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้ว สิ่งสำคัญที่เวิลด์แบงก์อยากให้ไทยเร่งดำเนินการ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatisation) โดยขณะนี้เวิลด์แบงก์กำลังช่วยเหลือในการจัดทำแผนแม่บท (master plan) สำหรับการแปรรูปฯ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นภารกิจที่มีความสำคัญในอันดับ 3 ของ เวิลด์แบงก์ รองจากการช่วยแก้ปัญหาในภาคการเงินและสังคม

สาเหตุที่เวิลด์แบงก์ต้องการเห็นการแปรรูปฯ นั้นเนื่องจากจะสามารถเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดีขึ้น พร้อมกับช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้บริโภค เพราะในตลาดมีผู้ประกอบการหลายรายที่แข่งขันกัน ส่วนในด้านของภาครัฐบาลก็จะสามารถทุ่มเทกับภาระหน้าที่ที่ควรดำเนินการ เพราะบทบาทของภาครัฐบาล คือ งานด้านสาธารณประโยชน์ เช่น ถนน โรงพยาบาล การดูแลคนจน ซึ่งรัฐบาลไม่จำเป็นต้องลงมาทำเรื่องที่ตลาดสามารถจัดการกันเองได้ และเมื่อปล่อยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ประกอบการแล้ว รัฐบาลก็สามารถหารายได้จากการเก็บภาษีได้

"ดังนั้นการแปรรูปฯจึงไม่ใช่แค่การโอนกิจการไปให้แก่เอกชนรายหนึ่งรายใด สิ่งที่สำคัญจึงต้องมีกรอบแห่งกฎเกณฑ์ (regulatory framework) ที่จะดำเนินการ ซึ่งจุดนี้ที่เรากำลังพยายามช่วยและต้องการให้มีกฎระเบียบ มีผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเกิดการแปรรูปฯ ซึ่งเป็นการยุติการผูกขาดโดยรัฐบาล" สเตฟาน กล่าว

สำหรับผลประโยชน์หลังจากการแปรรูปฯ นอกเหนือไปการพิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศไทยจริงจังกับการแก้ปัญหา ช่วยดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศแล้ว หากยังมีแง่มุมของการได้ความชำนาญด้านการบริหารด้วย อย่างไรก็ตาม เวิลด์แบงก์ยังยอมรับว่าการแปรรูปฯ เป็นโจทย์ข้อยากสำหรับทุกประเทศ เพราะส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ต่างประเทศเข้ามาซื้อกิจการ

กิจการที่คาดว่าน่าจะแปรรูปฯและได้รับความสนใจจากนักลงทุน ได้แก่ กิจการโทรคมนาคม หลังจากการแปรรูปฯ แล้วจะเป็นกิจการที่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง เนื่องจากในปัจจุบันกิจการโทรคมนาคมเป็นกิจกรรมที่มีความซับซ้อนมาก และหลากหลายของการบริโภค แต่กฎเกณฑ์การควบคุมยังไม่เหมาะสม ผู้ประกอบการที่ดำเนินการยังมีการผูกขาดทำให้มีรายได้อย่างมหาศาล แต่ผู้บริโภคกลับไม่ได้รับการบริการที่ดี อีกทั้งระดับราคาค่าบริการค่อนข้างอยู่ระดับสูง ซึ่งหลายฝ่ายจึงมองว่าน่าจะแปรรูปฯ มานานแล้ว

"นอกจากนี้ยังมีกิจการด้านพลังงานโดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมทั้งการบินไทย ซึ่งน่าจะเป็น case ที่สามารถแปรรูปฯ ได้" สเตฟานกล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อมีกระแสว่ารัฐบาลจะแปรรูปฯ ขึ้นมา ก็มีการคัดค้านตามมามากพอสมควรเพื่อพยายามรักษาสถานภาพเดิมเอาไว้ อย่างรัฐวิสาหกิจบางแห่งพนักงานได้รับผลตอบแทนการทำงานค่อนข้างดีมาก ย่อมทำให้เกรงว่าจะเสียผลประโยชน์ตรงนี้ไป จึงไม่น่าแปลกใจที่กระแสคัดค้านการแปรรูปฯ จะรุนแรง ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาควรจะเป็นวิธีที่จะแปรรูปฯ โดยไม่ให้ได้รับความเสียหาย พร้อมกับเอื้อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดี

"ส่วนบางคนทักท้วงว่า ฐานผู้บริโภคในไทยไม่ใหญ่พอจะรองรับผู้ประกอบการหลายรายในแต่ละหมวดธุรกิจ เราเห็นว่าเป็นข้ออ้างที่จะคัดค้านการแปรรูปฯ เพราะเมื่อมองในด้านการประกอบการไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะตลาดในประเทศ แต่ต้องมองตลาดไกลออกไปในระดับสากล ซึ่งย่อมจะทำให้ไม่ติดอยู่กับข้อจำกัด ด้านขนาดของตลาดและเป็นผลดีต่อการส่งออกด้วย" สเตฟานกล่าวถึงผลดีหลังการแปรรูปฯ

อุปสรรคแก่การแปรรูปฯ ที่ก่อตัวกันมานั้นเป็นเรื่องสามัญที่ต้องประสบเสมอเมื่อมีการเสนอให้แปรรูปฯ เพราะโดยปกติการแปรรูปฯเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ผู้ที่รับผิดชอบต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้นมีมากมาย หากพลาดเพียงด้านเดียวย่อมอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.