เวิลด์แบงก์ เชื่อไทยพ้นวิกฤต 'แต่ต้องใช้เวลา'


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

25 ปี ที่เวิลด์แบงก์เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทย เพื่อดูแลการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการเงินแก่ไทย ในฐานะประเทศด้อยพัฒนา จนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจไทยดีขึ้นจนถึงระดับที่ไม่ต้องรับความช่วยเหลืออย่างมากจากหน่วยงานนี้อีก ขนาดสำนักงานของเวิลด์แบงก์ที่กรุงเทพฯ จึงลดลงจนเหลือบุคลากรไม่กี่คน แต่ฉับพลันในเดือนกรกฎาคม 2540 เมื่อรัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เศรษฐกิจไทยกลับปักหัวดิ่งลง รัฐบาลประกาศขอรับความช่วยเหลือจาก IMF และเวิลด์แบงก์ ก็อนุมัติเงินช่วยในโครงการนั้นด้วย วันนี้สำนักงานเวิลด์แบงก์เริ่มคึกคักขึ้นอีกครั้ง ด้วยจำนวนนักเศรษฐศาสตร์สาขาต่างๆ กว่า 20 คน พร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ทั้งแนวคิดและเม็ดเงิน โดยเน้นการแก้ปัญหาด้านการเงินและสังคม เจ้าหน้าที่เวิลด์แบงก์เชื่อว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทยในรอบนี้จะผ่านพ้นไปได้ แต่ต้องใช้เวลา


หลังจากที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมาตั้งแต่ต้นปี 2540 มาถึงวันนี้วิกฤตการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีแล้ว แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายยังมีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจก็ตาม แต่ล่าสุดสัญญาณของการฟื้นตัวเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดี นักลงทุนเริ่มเชื่อมั่นและกลับเข้ามา ดุลการชำระเงิน ตัวเลขการส่งออก เริ่มมีเสถียรภาพ แต่โดยภาพรวมแล้วประเทศไทยยังต้องปรับโครงสร้างภาคเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างระบบการธนาคาร การปรับหนี้ที่มีมูลค่ามหาศาลของภาคเอกชน ดังนั้นประชาชนคนไทยยังต้องแบกรับความเจ็บปวดไปอีกนานพอสมควร

ความสำเร็จสำหรับการแก้ปัญหาของประเทศไทย สถาบันที่เข้ามาเป็นอัศวินม้าขาว นอกจากจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังมีธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลืออย่างมาก โดยเวิลด์แบงก์จะเน้นให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatisation) การปฏิรูปงบประมาณ การเก็บภาษี การปฏิรูปด้านศุลกากร นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์ยังส่งผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน เพื่อทำงานแก้ปัญหาในกรณีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ 56 แห่ง ตลอดจนปัญหาในภาคการธนาคารโดยรวม ดังนั้นทั้ง IMF และ เวิลด์แบงก์ จะมีลักษณะการทำงานคล้ายๆ กันและมีความใกล้ชิดกันมาก แต่องค์กรทั้งสองมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน

"IMF เน้นเสถียรภาพในระยะสั้น คือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (macro-economic stability) ส่วนเวิลด์แบงก์เน้นการพัฒนาในระยะยาว และในเวลาเดียวกันก็ให้การสนับสนุนแบบระยะสั้นด้วย นโยบายที่เวิลด์แบงก์ใช้ในทุกประเทศทั่วโลก คือ การให้เงินกู้ระยะยาว รูปแบบมาตรฐานการช่วยเหลือมักจะเป็นด้านสาธารณูปโภค ต่อมาเงินกู้เริ่มเข้าไปในการพัฒนาด้านสังคม ตลอดจนการกำหนดนโยบาย จึงกล้าพูดได้ว่า กิจกรรมเวิลด์แบงก์ครอบคลุมทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน วัฒนธรรม สังคม และยังสนใจเรื่องการปกครอง การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง" ดร.สเตฟาน โคเบอรี่ นักเศรษฐศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ของ เวิลด์แบงก์ กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างองค์กรทั้งสอง

ในช่วงที่ผ่านมาเวิลด์แบงก์ในประเทศไทยมีบทบาทไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากก่อนหน้านั้นสถานการณ์เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เวิลด์แบงก์มีการลดขนาดองค์กรลง แต่ปัจจุบันบทบาทของเวิลด์แบงก์กลับมามีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และหลังจากนี้ไปประเทศไทยจะขาดองค์กรนี้ไปไม่ได้เป็นเวลาอีกนานพอสมควร

บทบาทของเวิลด์แบงก์ในขณะนี้ สเตฟาน กล่าวว่า จะเน้นหนักในภาคการเงิน โดยมียุทธศาสตร์ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทำงานร่วมกับบริษัทไฟแนนซ์กับคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ตลอดจนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการอัดฉีดเงินกู้ ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือจัดตั้ง prudential regulations การสร้างกรอบแห่งกฎเกณฑ์ (regulatory framework) การตรวจสอบดูแลธนาคารพาณิชย์เพื่อ ป้องกันปัญหาในอนาคต อีกทั้งให้การสนับสนุนในด้านการสร้างดุลงบประมาณ ในระยะสั้น (short-term balance support) เนื่องจากเงินสำรองลดลงเหลือประมาณ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเวิลด์แบงก์อัดฉีดเงินเข้ามาเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว

"ในภาคเศรษฐกิจเรามีบทบาทการสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจมหภาค นอกจากนี้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น ในด้านสังคม โดยจัดให้เงินกู้เพื่อลดผลกระทบทางสังคม และเพื่อทดแทนงบประมาณในส่วนที่ถูกตัดออกไป เช่น ที่ผ่านมาปล่อยกู้ด้านการศึกษา อุตสาหกรรมพลังงาน โครงการทางด่วน ตลอดจนโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่ทำท่าจะล้ม และเงินกู้สนับสนุนหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง" สเตฟาน กล่าว

หลังจากเดือนกรกฎาคม 2540 เวิลด์แบงก์ได้ปล่อยกู้ให้อีก 2 รายการ เป็นเงินกู้ในลักษณะของความช่วยเหลือทางเทคนิคที่เรียกว่า การสร้างความสามารถ (capacity building) สำหรับภาคการเงิน และเงินกู้สำหรับระบบการจัดการทางเศรษฐกิจ (economic management system loan) เพื่อ ใช้ในด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและการปฏิรูปภาคบริการ

ล่าสุดเวิลด์แบงก์ได้ปล่อยกู้อีกจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะนำไปใช้ในโครงทางสังคม โดยมีเงื่อนไขแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนแรก จำนวนประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำนวน 120 ล้านเหรียญสหรัฐ จะถูกนำไปใช้ในกองทุนการลงทุนเพื่อสังคม (social investment fund : SIF) เป็นการปล่อยผ่านองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) โดยมีธนาคารออมสิน เป็นผู้ดำเนินการ และอีกประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ จะนำไปปล่อยกู้ให้กับเทศบาลทั่วประเทศ

ส่วนที่ 2 ที่มีจำนวนเม็ดเงินประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ จะนำไปใช้ในโครงการพัฒนาทางสังคม (social development project : SDP) ผ่านหน่วยงานราชการ 6 กระทรวง และกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ประเทศไทยยังกำลังเจรจากับเวิลด์แบงก์เพื่อขอกู้เงินอีกประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องทางด้านการเงินในภาคการส่งออก


ทัศนะของเวิลด์แบงก์
ต่อเศรษฐกิจไทย

ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ประเทศ ไทยกำลังถูกจับตามองว่าจะเป็นเสือตัวใหม่ของเอเชีย แต่แล้วปี 2540 คือ ปีแห่งความล่มสลายของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนั้นได้สร้างความประหลาดใจครั้งยิ่งใหญ่แก่ทุกฝ่าย เมื่อดุลการค้าการชำระเงินเสียเสถียรภาพ ซึ่งส่งผลให้ระบบการเงินเสื่อมถอย เนื่องจากสภาพของสินทรัพย์เริ่มมีปัญหา พร้อมกับความสามารถในการชำระหนี้

"ภาพที่ปรากฏออกมาจึงกลายเป็นว่า ปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่ประเมินกันจากภายนอก ในสถานการณ์การส่งออกและค่าเงินอ่อนตัวลง ได้ส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเวิลด์แบงก์เป็นห่วงในเรื่องที่ไทยต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ไม่มีใครคาดคิดว่าปัญหาทั้งหมดจะเกิดขึ้นในอาการที่ฉับพลัน รวมทั้งไม่คาดว่าจะส่งผลต่อการอ่อนค่าของเงินอย่างรุนแรงขนาดนี้ มาถึงตอนนี้เราได้พูดว่าน่าจะลดค่าเงินเสียแต่เนิ่นๆ น่าจะเร่งส่งเสริมการส่งออกให้ดีกว่าที่ทำมา อีกทั้งที่จะพูดว่ายุทธศาสตร์การสื่อสาร (communications strategy) น่าจะดีกว่าที่เป็นมา" สเตฟาน กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า บัดนี้กาลเวลาผ่านไปกว่า 8 เดือนแล้วหลังจากประเทศไทยประกาศลดค่าเงินบาท ปัจจัยต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณในทางที่ดี เนื่องจากความตั้งใจแก้ปัญหาของทุกฝ่าย ทีมเศรษฐกิจที่มีความรู้ความสามารถทำให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการพัฒนาของบรรดาผู้กำหนดนโยบาย พร้อมกับค่าเงินเริ่มดีขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก เพราะก่อนหน้าที่ IMF จะเข้ามาเต็มตัว จะมีปัญหาด้านนี้มาก คือ รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจเรื่องการลดค่าเงินบาทจนกระทั่งไม่มีทางเลี่ยงแล้ว และเมื่อกู้เงินจาก IMF ได้มีการประกาศว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศไปทำสัญญา ซื้อขายเงินตราล่วงหน้าจำนวนมาก (forward liability) ส่งผลให้ตลาดมีความสับสนมากพอสมควร

"แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาก มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลข ซึ่งเราพอใจกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทย"

อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน สเตฟานยังมีความเป็นห่วงปัญหาในระยะกลางอยู่ อย่างปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่มีแต่จะแย่ลง เพราะบริษัทธุรกิจโดยเฉพาะภาคเอกชนเพิ่งจะเริ่มปรับตัว และบริษัทเหล่านี้มีหนี้ต่างประเทศที่ไม่สามารถชำระได้ และหนี้สินจำนวนนี้ก็เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วตามอัตราเปลี่ยนแปลงค่าเงิน เนื่องจากไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงไว้

"มาถึงช่วงนี้พวกเขากำลังประสบมรสุมร้ายแรงที่สุด ทั้งหนี้ต่างประเทศ ภาวะการตลาดฝืดเคือง สถาบันการเงินอันเป็นที่พึ่งพิงอยู่ก็มีอาการซวนเซ อีกทั้งช่องทางที่จะได้เครดิตเงินกู้เริ่มตีบตัน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง จึงเห็นได้ว่าปัญหาในภาคเอกชนรุนแรงมาก แม้แต่ในส่วนของการส่งออกซึ่งได้ประโยชน์จากค่าเงินอ่อนตัว ก็อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาวงเงินเครดิตซึ่งคิดว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่โตมาก" สเตฟาน กล่าว

และสิ่งที่จะได้เห็นต่อไปนี้คือการชะลอตัวในภาคเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทส่งออกบางแห่งอาจจะต้องปิดตัวเองลง และยังมีปัญหาต่อเนื่องไปยังบริษัทที่กู้เงินจากต่างประเทศ แต่เน้นตลาดภายในประเทศซึ่งผลสุดท้ายอาจจะต้องล้มละลายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาความไม่เหมาะสม (mismatch) ระหว่างแหล่งที่มาของเงินกู้กับโครงการลงทุน และปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น และจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สามารถคาดเดาได้ว่าปัญหาจะจบสิ้นเมื่อไหร่

ผลกระทบที่ตามมาหลังจากนี้ไป ที่จะตามมาอีก คือ ปัญหาทางสังคม กลุ่มแรงงานประเภทไร้ฝีมือและความยากจนที่เป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ในขณะที่โครงสร้าง สวัสดิการสังคมยังไม่มีการรองรับเอาไว้

"ดังนั้นจึงต้องมีระบบเศรษฐกิจแบบเมือง (economics governance) การแก้ปัญหาในด้านการส่งออก และทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียนอีกครั้ง" สเตฟาน กล่าว


อนาคตยังอีกยาวไกล

เมื่อมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคต สเตฟาน ได้คาดว่าสถานการณ์ใน 6 เดือนข้างหน้าจะเลวร้ายมากกว่านี้ ก่อนที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดี ทั้งนี้มองจากประสบการณ์ของเม็กซิโก ซึ่งกว่าจะดีขึ้นต้องใช้เวลานานถึง 18 เดือน แต่เม็กซิโกมี ข้อได้เปรียบมากกว่าไทย คือ บริษัทต่างๆ สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินในอเมริกาได้ดีกว่าในกรณีของประเทศไทย

"รูปธรรมของวิกฤตเศรษฐกิจ ใน 6 เดือนข้างหน้า ประกอบด้วยการว่างงานสูงขึ้น บริษัทปิดกิจการมากขึ้น ในขณะที่การสร้างงานใหม่ๆ มีน้อยมาก ดังนั้นการประเมินระยะเวลาของวิกฤตครั้งนี้ที่ 18 เดือน จึงนับว่าเป็นการมองโลกในแง่ดีแล้ว" สเตฟาน กล่าวปิดท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.