หลายเหตุการณ์และวิกฤติการณ์ที่พัดผ่านเข้ามาในช่วงชีวิตของเฉลียว สุวรรณกิตติ
ผู้เป็นกุนซือข้างกายของธนินท์ เจียรวนนท์ เขาคือผู้สร้างตำนานธุรกิจโทรคมนาคมให้กับซีพี
และผู้ที่เข้าใจวิถีธุรกิจของซีพีอย่างลึกซึ้ง แต่การป่วยครั้งล่าสุดด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ
เป็นมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ที่พัดพาเข้ามา ที่ทำให้เขาไม่อาจเล่นบทนักบุกเบิกของซีพีอีกต่อไป
แต่เฉลียวก็ยังใช้ประสบการณ์อันล้ำค่า เป็นที่ปรึกษาเรื่องราวในอดีตให้กับเจนเนอเรชั่นที่
3 ของกลุ่มซีพี ที่กำลังสืบทอดธุรกิจนี้อย่างเข้มข้น
ทำการค้าก็เหมือนกับการทำสงคราม บางทีก็ต้องเอาชนะกันด้วยกลยุทธ์การจัดการที่ดีอย่างเดียวก็ไม่ได้
ต้องมีกลยุทธ์ควบคู่กันไป" คำกล่าวของเฉลียว สุวรรณกิตติ ผู้ซึ่งเป็นนักวางกลยุทธ์คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของซีพี
เฉลียว เป็นผู้หนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านชีวิตการต้องสู้กับปัญหามานับครั้งไม่ถ้วน
จากชีวิตของอาจารย์มหาวิทยาลัย จนมาเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ไต่เต้า จนเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การ
ร.ส.พ. และมาเป็นผู้อำนวยการ (ก่อตั้ง) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
เขาต้องเจอกับปัญหาสารพัดรูปแบบในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ทั้งการประท้วงของพนักงานการเมืองภายในองค์กรและภายนอกหลายครั้งหลายหน
จนกระทั่งลาออกมาทำงานกับเอกชนอย่างซีพีกรุ๊ปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
เฉลียว สามารถผันเปลี่ยนชีวิตการทำงานจากพนักงานรัฐวิสาหกิจ มาเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนได้อย่างกลมกลืม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของการเป็นนักบุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคมให้กับกลุ่มซีพี
ที่ฝากผลงานไว้ในโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย เคเบิลทีวี รวมทั้งโครงการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
จนได้ชื่อว่าเป็นกุนซือข้างกายธนินท์ที่ได้รับการไว้วางใจมากที่สุดผู้หนึ่ง
แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เฉลียวกลับต้องเจอกับมรสุมที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าครั้งไหน
เมื่อเขาเกิดป่วยเป็นโรค STROKE หรือ เส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งการป่วยในครั้งนั้นส่งผลให้ร่างกายด้านขวาของเขาไม่สามารถขยับเขยื้อนหรือเดินเหินได้ปกติ
เฉลียวบอกว่าการป่วยของเขาในครั้งนี้ เป็นปัญหาหนักยิ่งกว่าครั้งไหนที่เขาเคยประสบมา
แม้กระทั่งครั้งหนึ่งที่เขาเคยล้มละลายจากธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน จนหมดตัวมาแล้วกับการลดค่าเงินบาทในปี
2528 แต่ก็ยังไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับครั้งนี้ เพราะมันทำให้เขาไม่สามารถใช้ชีวิตเหมือนในอดีตอีกต่อไป
ในวัยที่ล่วงเลยมามากกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่หลายคนเริ่มพักผ่อนจากภารกิจ
แต่สำหรับเฉลียวแล้ว งานยังคงเป็นชีวิตจิตใจของเขา และแม้ว่าโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน
2 ล้านเลขหมายจะเริ่มอยู่ตัว ผ่านพ้นช่วงเริ่มต้นไปสู่ช่วงของการติดตั้ง
แต่เฉลียวก็ยังคงสนุกกับการเดินหน้าหาโครงการใหม่ๆ มาป้อนให้กับทีเอ ไม่ว่าจะเป็นเคเบิล
ทีวี หรือโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
แม้เขาจะไม่มีปัญหาสุขภาพเลย เพราะไม่กินเหล้าหรือสูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว
แต่ความเครียดจากการคร่ำเคร่งกับการทำงานโครงการต่อเนื่องมานาน ประกอบกับไม่ได้ดูแลสุขภาพร่างกายเท่าที่ควร
ได้กลายเป็นบ่อเกิดของโรคที่ก่อตัวขึ้นมาเงียบๆ
"หมอที่รักษาบอกว่าโรคนี้เกิดมาจากความเครียด ชีวิตผมมาคู่กับปัญหา
ผมต้องใช้ความคิดในการแก้ปัญหาตลอดเวลา ความเครียดเหล่านี้เองมันก่อตัวลับๆ
อยู่ข้างในโดยที่เราไม่รู้ตัวมาก่อน"
อาการป่วยของเขาเริ่มต้นในบ่ายวันอาทิตย์วันหนึ่งในปี 2538 ซึ่งเป็นวันที่เฉลียวและลูกสาวขับรถไปทอดผ้าป่าที่จังหวัดอยุธยากับลูกสาว
หลังจากเสร็จภารกิจในการทำบุญก็ขับรถบ่ายหน้ากลับกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวบินไปพม่ากับหอการค้าไทยในวันรุ่งขึ้น
ซึ่งเวลานั้นเฉลียวรับหน้าที่เป็นทั้งกรรมการและเลขาธิการของหอการค้าไทยด้วย
"ตามปกติแล้วผมมักจะเป็นคนขับรถเอง เพราะถือว่าเป็นการพักผ่อนชนิดหนึ่ง
แต่วันนั้นเขากลับรู้สึกง่วงอย่างผิดปกติ ก็แข็งใจขับรถกลับมาบ้านและขึ้นไปนอน
จนกระทั่งไปจนเช้าก็ยังไม่ลุกไปสนามบิน ที่บ้านเขาก็เลยพามาส่งที่โรงพยาบาล
ความรู้สึกตอนนั้น รู้สึกว่าแขนขาอ่อนแรงไปเป็นลำดับ หมอเอาดินสอมาให้กำ
ก็กำไม่ถนัด เซ็นหนังสือก็ไม่เหมือนเก่า"
อาการที่เกิดขึ้นกับเขาคือ อาการของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ที่เกิดกับสมองด้านซีกซ้าย
ซึ่งทำให้การควบคุมการทำงานของร่างกายซีกขวามีปัญหา แขนและขาทางด้านขวาของเขาไม่สามารถขยับเขยื้อนหรือเดินเหินได้เหมือนเก่า
เฉลียว เล่าว่า เขาทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาให้หายจากโรคนี้ ทำกายภาพบำบัด
รดน้ำมนต์ ฝังเข็ม การฝึกสมาธิ และเคยเดินทางไปรักษาที่เมืองจีน
"ไม่ว่าจะการฝึกสมาธิของลัทธิเทียนเต้า การรักษาด้วยวิธีกินผักของ
ดร.รสสุคนธ์ ผมก็ทำมาหมดแล้ว เรียกว่ามีเพื่อนผู้หวังดีมาบอกว่าที่ไหนมีอาจารย์ดี
รักษาได้ ผมไปหมด"
ถึงแม้อาการป่วยในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเฉลียวอย่างมาก
แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ให้กับโรคภัยไข้เจ็บ หลังจากหยุดพักรักษาตัวถึง 8 เดือนเต็ม
เฉลียวก็เริ่มกลับมาทำงานที่บริษัทเทเลคอมเอเซียอีกครั้ง ในตำแหน่งของรองประธานกรรมการบริษัท
"คนอื่นที่เป็นโรคนี้อาจจะหลบหนีจากสังคมไปเลย แต่สำหรับผมแล้ว ผมเป็นคนทำงานมาตลอดไม่เคยหยุด
เจอกับปัญหามาตลอดชีวิต เมื่อหายป่วย ผมก็เริ่มออกนอกบ้านและกลับมาทำงานอีกครั้ง"
และแม้ว่าอาการของเขาในเวลานี้จะดีขึ้นมาเป็นลำดับ ไม่ต้องนั่งรถเข็น เริ่มเดินได้บ้าง
โดยใช้ไม้เท้าช่วยพยุง แต่ด้วยสุขภาพที่ไม่สามารถเดินเหินได้ตามปกติเหมือนเมื่อก่อน
เขาก็ต้องยุติการเป็นนักบุกเบิกลง
ภารกิจของเฉลียวขณะนี้ คือ การเป็นที่ปรึกษาอดีตให้กับผู้บริหารระดับสูงของเทเลคอมเอเซีย
ซึ่งกำลังก้าวสู่ยุคของเจนเนอเรชั่นที่ 3 อันประกอบไปด้วย สุภกิจ และ ศุภชัย
เจียรวนนท์ สองพี่น้องทายาทของตระกูลเจียรวนนท์ ที่กำลังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้และสานต่อธุรกิจโทรคมนาคมและเคเบิลทีวีอย่างขะมักเขม้น
"ส่วนใหญ่ผมจะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาของโครงการต่างๆ
จะเรียกว่า เป็นที่ปรึกษาอดีตก็ได้"
ทุกวันนี้ เฉลียวยังคงเดินทางมาทำงานบนชั้น 33 ของตึกเทเลคอมทาวเวอร์ อันเป็นชั้นบัญชาการของซีพี
ที่มีผู้บริหารระดับสูงอย่าง ธนินท์ เจียรวนนท์, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์,
มิน เธียรวร
นอกเหนือจากการเป็นที่ปรึกษาอดีตแล้ว สิ่งที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในช่วงชีวิตบั้นปลาย
คือ การเขียนตำราว่าด้วยการจัดโครงการ ซึ่งก่อนหน้าที่จะป่วยเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบ
ในทัศนะของเฉลียวแล้วความสำเร็จของซีพีนั้น ไม่ใช่เพราะเก่งเรื่องการจัดการ
แต่เป็นเพราะความชำนาญเรื่องการวางกลยุทธ์
"เราจะทำธุรกิจ เราต้องตั้งเป้าหมายว่าเราต้องการอะไร เป้าหมายของเราคือ
ต้องการกำไร กลยุทธก็คือ การที่จะทำอย่างไรให้มีกำไร"
สิบกว่าปีที่เฉลียวร่วมงานกับซีพี ทำให้เขารู้ซึ้งถึงวิถีธุรกิจของซีพีไม่น้อย
แม้ว่าเขาจะไม่ถนัดกับการเป็นขุนพลรบที่ทำหน้าที่จัดการธุรกิจ แต่การทำหน้าที่เป็นกุนซือข้างกายธนินท์
ทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นนักวางกลยุทธ์ที่ต้องบุกเบิกโครงการใหม่ๆ มากที่สุดคนหนึ่ง
การเริ่มต้นธุรกิจโทรคมนาคมก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของซีพี ที่มาจากแนวคิดของเฉลียว
ที่เริ่มเห็นแนวโน้มของธุรกิจโทรคมนาคมที่กำลังมาแรง
"ช่วงนั้นธุรกิจที่ให้กำไรมากที่สุดคือ โทรคมนาคม ทั้งโลกเลยเขาบอกเป็นยุคของโทรคมนาคม
ถ้าคุณมีอินเตอร์เน็ต คุณไม่ใช้โทรคมนาคมไม่ได้"
ในทัศนะของเฉลียวแล้ว การไร้ประสบการณ์หรือความรู้ในธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ใช่อุปสรรคของการทำโครงการโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมาย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำโครงการลักษณะนี้ คือ เป็นเรื่องการจัดการเรื่องการลงทุน
การรู้จักหาแหล่งเงินกู้ และแหล่งที่จะซื้ออุปกรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ซีพีมีความชำนาญเป็นอย่างดี
แม้แต่การตัดสินใจนำเอาเคเบิลใยแก้วนำแสงมาใช้ในการวางโครงข่ายโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมาย แทนที่จะเป็นสายทองแดง ซึ่งในขณะนั้นเฉลียวเองก็ไม่คิดว่าการตัดสินใจครั้งนั้นจะทำให้ซีพีกลายเป็นเจ้าของซุปเปอร์ไฮเวย์
ที่ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงบริการเสริมในรูปแบบต่างๆ ที่จะมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนในยุคหน้า
เฉลียวบอกว่า การตัดสินใจครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการวางกลยุทธ์ ที่ไม่ใช่ระดับบนอย่างเดียว
แต่ต้องทำทุกขั้นตอนทุกระดับ
"ตอนที่จะวางโครงข่ายข้างนอก เรามีทางเลือก 2 ทาง แบบแรก คือวางโครงข่ายแบบอนุรักษนิยมแบบเก่าซึ่งมีราคาถูก
อีกแบบใช้ไฟเบอร์ออพติก แต่เราเลือกกลยุทธ์ของเราคือ ใช้ไฟเบอร์ออพติก ตอนนั้นเรามองว่าใช้เนื้อที่น้อย
เราใช้ท่อเก่าองค์การโทรศัพท์ยังใช้ได้เลย เรามองแค่นั้นเอง เรามองแคบๆ หลายอย่าง
แต่ว่าสิ่งที่เราไม่ได้มองลึกซึ้งก็กลับเป็นเรื่องที่ดีในภายหลัง คือว่า
มันเป็นสะพานข้ามไอทีสมัยใหม่ ซึ่งถ้าไม่มีไฟเบอร์ออพติกทำไม่ได้"
การบุกเบิกสู่ธุรกิจใหม่ๆ ไม่เพียงแต่ต้องอาศัยกลยุทธ์ในเชิงธุรกิจเท่านั้น
แต่ในบางครั้งการทำการค้าก็เหมือนกับการทำสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยยุทธวิธีต่างๆ
มาใช้เพื่อเอาชนะคู่แข่ง
ที่มาของการคว้าสัมปทานเคเบิล ทีวีจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
(อ.ส.ม.ท.) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เฉลียวได้นำเอายุทธวิธีที่เรียกว่า "ปิดฟ้าข้ามมหาสมุทร"
มาใช้
ช่วงที่ซีพียื่นขอสัมปทานเคเบิลทีวีไปที่ อ.ส.ม.ท.นั้น มีผู้ให้บริการอยู่
2 ราย ที่ได้รับสัมปทานจาก อ.ส.ม.ท. และ อ.ส.ม.ท.ก็ยังไม่มีนโยบายที่จะให้สัมปทานแก่เอกชนอื่นๆ
อีก จะมีเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้นที่กำลังเปิดให้ใบอนุญาตเสรี แต่ก็เป็นสัมปทานที่มีอายุแค่
1 ปี ซึ่งต่างจาก อ.ส.ม.ท.ที่มีเงื่อนไขที่ดีกว่า คือ มีอายุสัมปทานยาวนับสิบปี
"เวลานั้นเราทำให้คู่แข่งเข้าใจว่า เรากำลังยื่นขอสัมปทานจากกรมประชาสัมพันธ์
ซึ่งกำลังเปิดให้ใบอนุญาตแก่เอกชนแบบไม่จำกัด คู่แข่งของเราก็เลยมัวแต่ไประแวดระวังทางนั้น
ไม่รู้ว่าในอีกด้านหนึ่งเราเดินเรื่องเงียบๆ ไปที่ อ.ส.ม.ท.
ทางด้าน อ.ส.ม.ท.เองนั้น ก็ยังไม่ยังมีนโยบายให้สัมปทานกับเอกชนรายใหม่เฉลียวเล่าว่า
เขาจึงต้องอาศัยเหตุการณ์และโอกาสเข้าช่วย เหมือนกับยูโด คือ ในช่วงนั้นเมื่อกรมประชาสัมพันธ์เปิดเสรีให้ใบอนุญาตเคเบิลทีวี
ก็เกิดมีกระแสเกิดขึ้น อ.ส.ม.ท.เองก็เลยต้องทำตามกระแสเรียกร้องด้วยการให้สัมปทานกับเอกชนรายใหม่ๆ
บ้าง ในที่สุดทีเอก็ได้ใบอนุญาตสัมปทานมา
เฉลียวบอกว่า การข่าวก็เป็นสิ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญ เมื่อครั้งช่วงเริ่มทำโครงการโทรศัพท์
2 ล้านเลขหมาย ก่อนหน้าที่ทีเอจะตัดสินใจเลือกไนเน็กซ์ให้มาร่วมทุน ทีเอเคยเลือกบริษัทบริติชเทเลคอม
(บีที) ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของโลกให้มาร่วมลงทุนในโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย
"ก่อนหน้าที่กระทรวงคมนาคมจะเปิดประมูลโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย มีบริษัทเบลจากอเมริกา
และบีที เสนอตัวมาที่รัฐบาลไทยขอติดตั้งโทรศัพท์ เราจับข่าวได้ว่า บีทีทำการศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างดี
ถึงกับเช่าออฟฟิศอยู่ในนี้ ตัวเลขผลศึกษาทุกอย่างเขามีหมด สำหรับเราแล้วสำคัญมาก
เพราะเวลาที่ทำการประมูลจะไม่ยาวมาก ขืนเราไปหาตัวเลขเองก็ตายแน่ เราจึงต้องหาพาร์ตเนอร์
และบีทีก็เหมาะ สมที่สุด การทำงานลักษณะนี้ การข่าวเราต้องเยี่ยม"
เฉลียว ยังเล่าถึงเมื่อครั้งบินไปเจรจาการร่วมทุนกับบีทีที่ประเทศอังกฤษ
ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการมองปัญหาและโอกาสอย่างลึกซึ้ง
"วันที่ไปอังกฤษ ระหว่างนั่งดูทีวีอยู่ในห้องในโรงแรม รอเจ้าหน้าที่ของบีทีมารับไปที่บริษัท
ปรากฏว่าทีวีออกข่าวเกี่ยวกับปัญหาภายในของบีที ประธานกับผู้จัดการทะเลาะกัน
ประธานลาออกไป เลื่อนตัวผู้จัดการใหญ่ขึ้นมาแทน พอไปบริษัท ผมก็ถามเจ้าหน้าที่ของบีทีว่า
พวกคุณรู้หรือเปล่านายคุณลาออกทะเลาะกัน ผู้ใหญ่ที่จะมาเจรจากับผม หายไปเลย
ทิ้งผมไว้กับเลขาตั้งแต่เช้าเลย"
ระหว่างนั้นเอง เฉลียวก็ตัดสินใจโทรศัพท์มาที่เมืองไทย เพื่อขออนุญาตธนินท์เซ็นสัญญร่วมทุนกับบีที
เพราะสิ่งที่เฉลียวพบก็คือ นอกจากบีทีจะเก่งมากในเรื่องโทรศัพท์พื้นฐาน เพราะทำมาสิบล้านเลขหมายแล้ว
สิ่งสำคัญคือบีทีกำลังยุ่งกับกิจการภายใน ทีเอจึงไม่ต้องกลัวว่าบีทีจะมาฮุบกิจการ
เพราะก่อนหน้านั้น สัญญาข้อหนึ่งที่ทีเอจะเซ็นกับบีที ระบุไว้ว่า บีที
จะต้องมาถือหุ้นไม่เกิน 30% แต่ทีเอไม่ต้องการให้เข้ามาถือหุ้นมากเกิน 10%
ทั้งสองจึงไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งเมื่อบีทีเกิดปัญหาภายในขึ้น ข้อตกลงดังกล่าวก็ได้ข้อสรุปทันที
โดยบีทียอมตัดสัญญาข้อนี้ทิ้ง และเปลี่ยนใหม่เป็นว่า บีทีจะมาช่วยและขอค่าที่ปรึกษา
ส่วนจะถือหุ้นเท่าไหร่นั้นก็เป็นสิทธิของบีทีแต่ไม่เกิน 10%
แม้ว่าในระยะต่อมาพันธมิตรธุรกิจของทีเอจะเป็นไนเน็กซ์ของอเมริกา ไม่ใช่บริติชเทเลคอมที่ถอนตัวไปในที่สุด
เพราะมีนโยบายต้องการลดการลงทุนในต่างประเทศลง แต่นั่นก็คือส่วนหนึ่งของการวางกลยุทธ์ที่เฉลียว
ต้องนำมาใช้ตลอดเวลาของการบุกเบิกธุรกิจ
แม้ว่าในวันนี้ ด้วยสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เฉลียวไม่อาจเล่นบทนักบุกเบิกเช่นเดิม
แต่ก็ไม่ได้ทำลายความคิด และความทรงจำในอดีต อันเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนทางธุรกิจในวันนี้และวันหน้าให้กับเจนเนอเรชั่นที่
3