N-PARK เจอ2เด้งหุ้นร่วงยกกลุ่มอสังหาฯแววทรุดซ้ำข่าวพัน NPL


ผู้จัดการรายวัน(5 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

N-PARK นักลงทุนทิ้งหุ้นร่วงทั้งเครือ หลังภาคอสังหาฯส่งสัญญาณชะลอ ซ้ำเติมข่าวพัวพัน NPL กรุงไทย ดอกเบี้ยมีแนวโน้มขึ้น การแข่งขันดุเดือด ล่าสุด SIRI งัดโปรโมชันอยู่ฟรี 2 ปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานที่รับรู้รายได้ช้าลง แถมภาวะตลาดรวมไม่ดี "โบรกฯพัฒนสิน" เตรียมปรับลดน้ำหนักการลงทุนอสังหาฯทั้งกลุ่ม หลังประเมินธุรกิจยังไม่สดใส ส่อแววเพิ่มทุน ขณะที่หุ้น KTB โบรกฯเคจีไอ ลดเป้าราคาเหลือ 11.60 บาท จาก 15 บาท

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องในกลุ่มบมจ. เนเชอรัล ปาร์ค(N-PARK) หลังจากมีแรงเทขายหุ้นในกลุ่มนี้จนส่ง ผลให้ระดับราคาหุ้นปรับลดลงจนผิดปกติ ส่งผลหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องประกอบดัวย บมจ.แนเชอรัล ปาร์ค (N-PARK), ธนาคารกรุงไทย (KTB), บริษัท สยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (SYNTEC), บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI), บริษัท แปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) (PA), บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) (FNS), บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน)(BFIT) ราคาปรับตัวลดลงถ้วนหน้า

โปรโมชันอยู่ฟรี 2 ปีทำพิษพัฒนสินชี้อสังหาฯแข่งดุ

นายสาธิต วรรณศิลปิน ผู้จัดการฝ่ายวิจัยในประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ พัฒนสิน จำกัด(มหาชน)(CNS)เปิดเผยว่า การปรับตัวลงแรงเกือบทั้งกลุ่ม นอกจากได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดโดยรวมที่ปรับตัวลดลงแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนทิ้งหุ้นกลุ่มนี้ออกมา เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดีนัก หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่จะมีต้นทุนสูงขึ้น รวมถึงลูกค้าที่จะมีภาระเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นอีกสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง คือการที่แต่ละบริษัทเริ่มมีโปรโมชันยืดระยะเวลาการผ่อนดาวน์ ให้ยาวขึ้น โดยล่าสุดบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือ N-PARK มีการออกโปรโมชันให้อยู่ฟรีถึง 2 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงผลการดำเนินงาน เนื่องจากความเร็วในการขายลดลง ส่งผลให้การรับรู้รายได้ช้าลงด้วยในขณะที่ธนาคารพาณิชย์เริ่ม ที่จะลดความสำคัญของการปล่อยกู้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการอาจมีสภาพคล่องน้อยลง

นายสาธิตกล่าวว่า ขณะนี้โบรกเกอร์หลายแห่งรวมทั้ง บล. พัฒนสินมีการปรับลดน้ำหนักการ ลงทุนหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์แล้ว

"การที่หุ้น N-PARK ทั้งกลุ่ม ปรับตัวลดลงแรง ถือว่าค่อนข้างผิดปกติ ซึ่งมีอะไรหรือเปล่าไม่รู้แต่โดยภาพรวมแล้วธุรกิจอสังหาฯเริ่มมีสัญญาณไม่ดี และหลายโบรกเกอร์ปรับลดน้ำหนักการลงทุน ส่วน BFIT ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันแต่ราคากลับปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะมีสตอรีเป็นของตัวเอง" นายสาธิตกล่าว

ด้านนักวิเคราะห์อีกรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า สาเหตุของการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่ม N-PARK ยังคงเป็นแรงขายตามหุ้น KTB ที่ปรับตัวลงแรงเช่นกัน แม้ว่าจะมีการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับ NPL ของธนาคารแล้ว แต่นักลงทุน ยังคงกังวลว่าอาจจะมี NPL ที่ย้อนกลับมาอีกจากการปล่อยกู้อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในส่วนของมูลค่าการซื้อขายถือว่าไม่มากนัก หากเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ N-PARK มักมีมูลค่าการซื้อขายที่เป็นลักษณะเก็งกำไรค่อนข้างสูง แสดงว่านักลงทุนบางส่วน ยังคงไม่ขายหุ้นออกมา

โกลเบล็กเชื่อข่าวลือทุบ

นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่าในส่วนของการปรับตัวลดลงของหุ้นของ N-PARK น่าจะเป็นเรื่องของข่าวลือที่เกิดขึ้นในห้องค้า ในหลายๆเรื่องมากกว่า คงไม่ใช่เพราะบรรยากาศการลงทุนที่ยังปกคลุมด้วยปัจจัยลบ ทำให้ดัชนีตลาดปรับตัวลดลงในวานนี้เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้เรื่องการวิเคราะห์หุ้นในกลุ่มดังกล่าว ทางบล.โกลเบล็ก คงต้อง รอดูความชัดเจนจากการชี้แจงข้อมูลของผู้บริหาร เนื่องจากบล.โกลเบล็กยังไม่ได้ทำการสอบ ถามข้อมูลในหลายๆเรื่อง จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ในส่วนของหุ้น N-PARK และหุ้นที่เกี่ยวข้องได้ ส่วนการเข้ามาไล่ซื้อหุ้นหรือเทขายก็ไม่น่าจะมีส่วนทำให้ดัชนีปรับลงได้มาก

"ผมยังเชื่อว่า หุ้นในกลุ่มนี้ยังคงไม่น่าเข้าลงทุน ทั้งนี้เพราะข้อมูลหลายอย่างของบริษัทที่เรายังไม่รู้ได้ คำแนะนำจึงไม่แนะนำให้ซื้อหุ้นในกลุ่ม N-PARK และหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้อง" นายวรุตม์กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่าการลงทุนวานนี้นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจกับหุ้นที่ไม่เคยเข้าไปเล่น ซึ่ง เป็นหุ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้น่าจะมาจากผลดำเนิน การ ที่จะประกาศออกมาน่าจะปรับตัวสูงขึ้น และการที่บริษัทในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นบริษัทที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในระดับที่สูง โดยเฉลี่ยจะมีการจ่ายเงินปันผลในระดับ 2-3% ต่อปีซึ่ง ถือว่าสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร

วิตกพอร์ตหุ้นในเครือ

นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า จากการปรับลดของหุ้นบมจ.แนเชอรัล ปาร์ค (N-PARK) เมื่อวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนกังวลกับกระแสข่าวพัวพันที่ว่า N-PARK เป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นเอ็นพีแอลของธนาคารกรุงไทย KTB ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกรุงไทย มีตัวเลขที่สูงขึ้นในช่วงไตรมาส2/47 ที่ผ่านมา โดยวานนี้หุ้นทั้ง 2 บริษัทมีแรงขายออกมาอย่างมาก

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงวิตกเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการลงทุนของ N-PARK เพราะการเข้าไปถือหุ้นในส่วนของบริษัทต่างๆมีต้นทุนราคาที่เข้าไปซื้อลงทุนในหุ้นหลายบริษัทในระดับที่สูง ไม่ว่าจะเป็น SIRI, PA และ SYNTEC ซึ่งในตอนนี้ถือว่าเป็นช่วงที่บริษัทขาดทุนจากการลงทุนดังกล่าว เนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มมีราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ N-PARK เข้าไปซื้อลงทุน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าบริษัทจะมีความเสี่ยงสูงหากบริษัทในเครือที่เข้าไปลงทุน เนื่องจากบริษัทต่างๆ กำลังประสบภาวะขาดทุน แต่หากบริษัทในเครือได้กำไร ในส่วนของ N-PARK ก็จะมีกำไรที่แบ่งมาในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

"ความเสี่ยงธุรกิจของ N-PARK มีอยู่หลายด้าน ทั้งเรื่องปัญหา NPL การลงทุนในบริษัทที่มีงบขาดทุน ซึ่งแม้พื้นฐานของธุรกิจที่สามารถปรับขึ้นได้ดี ในส่วนของบล.บัวหลวงจึงแนะนำนักลงทุนให้ขายหุ้น N-PARK ตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ในช่วง 2-3 บาทแล้ว แม้ว่า ณ ขณะนี้ ราคาจะต่ำกว่า 2 บาท เราก็ยังแนะนำให้ขายออกมาอยู่ เพราะมูลค่าตามบัญชี(Book Value) อยู่ที่ประมาณ 1 บาท คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาหุ้นจะหลุด 1 บาท" น.ส.ปองรัตน์ กล่าว

ด้านการลงทุนในส่วนของ N-PARK ถือว่าอยู่ในช่วงของการลงทุน ดังนั้นจึงความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะต้องมีการเพิ่มทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผล Dilution Effect ของราคาหุ้นบริษัทในกระดานตามมา สำหรับโครงการต่างๆ ที่เข้าไปลงทุนนั้น คงต้องใช้ระยะเวลานาน กว่าจะสามารถรับรู้รายได้เรื่องดังกล่าวได้ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมีการเทขายหุ้นในกลุ่มออกไปเพื่อลงทุนในธุรกิจอื่นที่จะเห็นผลตอบแทนที่เร็วกว่า
KGI แนะลง KTB ระยะยาว

ในส่วนของบทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัดเปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์เห็น ว่ามีความเป็นไปได้ที่คุณภาพของสินทรัพย์ของ KTB ในขณะนี้ อาจลดลงและลูกหนี้บางรายอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงโดยเฉพาะลูกหนี้ปรับโครงสร้าง สะท้อนรับกับเรื่องตัวเลข NPL ที่ปรับตัวสูงขึ้น บริษัทจึงมีการปรับระดับการสำรองของธนาคารกรุงไทย KTB เพิ่มขึ้น และได้มูลค่าตามบัญชีของ KTB ลดลงเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือ 1.25 บาท/หุ้น

อย่างไรก็ตามบทวิเคราะห์ระบุว่า ราคาเป้าหมาย KTB ลงจาก 15 บาท เป็น 11.6 บาทหลังมีการประกาศตัวเลข NPL เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/47 และปรับลดคำแนะนำจาก "ซื้อ" เป็น "ซื้อลงทุนระยะยาว"

ทั้งนี้เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ NPL นั้นเป็นแนวโน้มที่เปลี่ยนไปของคุณภาพหนี้จริง ๆ มากกว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางบัญชีอย่างที่เคยมอง สำหรับธนาคาร BBL, KBANK, SCB ยังคงไม่ปรับคำแนะนำการลงุทนเนื่อง จากมีฐานเงินทุนและระดับกันสำรองที่แข็งแรงแนะนำ "ซื้อ" BBL ราคาเป้าหมาย 130 บ. "ซื้อ" KBANK ราคาเป้าหมาย 64 บ. และ "ซื้อลงทุนระยะยาว" SCB ราคาเป้าหมาย 56 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.