SVOAสร้างBusiness Collaborationโมเดลหวังพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่อุตฯไอทีไทย


ผู้จัดการรายวัน(4 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เอสวีโอเอผนึกพันธมิตร 5 ประเทศ สร้าง Business Collaboration โมเดล หวังพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมไอที ประเภทพีซีโลคัล แบรนด์ ที่สามารถลดต้นทุน และมีอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตชิ้นส่วน ตั้งเป้า 3 ปียอดขาย 5 แสนยูนิต และล้านยูนิตในอีก 5 ปีข้างหน้า

นายวีระ อิงค์ธเนศ ผู้อำนวยการบริหารกลุ่มธุรกิจช่องทางการ จัดจำหน่าย บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า รูปแบบการทำธุรกิจของเอสวีโอเอ ได้เปลี่ยนไปจาก เดิมที่เป็นแบบซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) หรือซื้อชิ้นส่วนมาประกอบขาย แต่ขณะนี้ได้มีการขยายตลาดไปในต่างประเทศ ซึ่งเอสวีโอเอได้ลองดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2002 โดยเริ่มจาก 2 ประเทศ ในลักษณะของ Business Collaboration โมเดล และขณะนี้ได้ขยายเป็น 5 ประเทศ ประกอบด้วย บริษัท เมอร์แคนไทล์ โซลูชั่น พีวีที จำกัด จากภายใต้ แบรนด์เมอร์แคนไทล์ จากเนปาล, บริษัท ไมโคร อินโฟ จำกัด ภายใต้แบรนด์เอ็มไอซี จากลาว, บริษัท พีที เมโทรดาต้า อิเล็กทรอนิกส์ ทีบีเค ภายใต้แบรนด์ไออ้อน จากอินโดนีเซีย, บริษัท ดีบั๊ก คอมพิวเตอร์ ภายใต้แบรนด์ดีซีพี จากศรีลังกา และบริษัท เอ็ม.เอ็น.ที จำกัด ภายใต้แบรนด์ เอ 25 จากพม่า

"พาร์ตเนอร์ทั้ง 5 รายเขาไม่ เคยมีพีซีโลคัล แบรนด์มาก่อน เราต้องการสร้างให้เขาเกิดและเป็นที่หนึ่งในประเทศด้วย"

จากความร่วมมือตามบิซิเนสโมเดลดังกล่าว เอสวีโอเอให้ การสนับสนุนด้านการผลิตพีซีภายในประเทศภายใต้แบรนด์ของประเทศนั้นๆ พร้อมกับช่วยเหลือด้านการตลาด และการบริการหลังการขาย เพื่อสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเอสวีโอเอ

ในมุมมองของผู้บริหารเอสวีโอเอ เชื่อว่า วันนี้อุตสาหกรรม ไอทีไม่ใช่เอกซ์คลูซีฟ เทคโนโลยี โปรดักต์ เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนตลอดเวลา ตลาดขยายใหญ่ขึ้น จากเดิมที่เป็นกลุ่มองค์กรธุรกิจ หรือหน่วยงานราชการ แต่ขณะนี้ ได้ขยายเข้าไปในกลุ่มคอนซูเมอร์ มาร์เกตมากขึ้น จนทำให้รูปแบบการ บริการต้องเปลี่ยนไป

ด้วยสิ่งที่เอสวีโอเอเห็น จึงได้ มีการปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดย มุ่งเน้นใน 4 เรื่องหลักคือสปีดหรือความเร็ว, การบริการ, การลดต้นทุน และช่องทางการทำตลาด

ถ้าจะทำให้ได้ตามสี่เรื่องหลักจะต้องทำให้โลคัล แบรนด์เนมเกิดซึ่งจะทำให้เราขยายสินค้าออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น บริการได้ดีและเร็วเพราะมีชิ้นส่วนที่จะทดแทนได้อยู่แล้ว สามารถกระจายสินค้าผ่านช่องทางได้มากขึ้น ทั้งทางตรง ผ่านดีลเลอร์ หรือรีเซลเลอร์ซึ่งทำให้ ครอบคลุมได้ทั้งหมด Business Collaboration โมเดล ที่เราคิดออก มาคือการใช้จุดแข็งทำงานร่วมกัน เปลี่ยนไปตามแต่ละประเทศ"

การดำเนินงานตาม Business Collaboration โมเดล เอสวีโอเอและพันธมิตรยืนยันว่าสามารถลดต้นทุนได้อย่างน้อย 10% และขั้นตอนการทดสอบได้ เนื่องจากพีซี ของ 5 บริษัทใน 5 ประเทศนี้จะ ได้มาตรฐาน NSTL (National Software Testing Laboratories) ซึ่งเป็นหน่วยทดสอบมาตรฐานระดับโลกที่ทุกแห่งให้การยอมรับ จากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เหมือนกับเอสวีโอเอ ที่เป็นพีซีโลคัลแบรนด์ ของไทยที่ได้รับมาตรฐานสากลนี้

นอกจาก 5 บริษัทใน 5 ประเทศดังกล่าวแล้ว เอสวีโอเอ ยังมีแผนจะขยายพันธมิตรเพิ่ม มากขึ้น แต่ต้องการทำในจุดนี้ให้เข้าที่ก่อน เพื่อจะเพิ่มยอดขายพีซีให้เพิ่มมากขึ้น โดย 3 ปีแรกตั้งเป้าไว้ที่ 5 แสนยูนิต และล้านยูนิตในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากการเพิ่มยอดขายแล้วยังจะทำให้ผู้ผลิตพีซีกลุ่ม นี้มีอำนาจการต่อรองกับผู้ผลิตชิ้นส่วนมากขึ้นด้วย

"เราจะไม่หยุดแค่นี้ เพราะเราต้องการเขียนประวัติศาสตร์ไอทีหน้าใหม่ ในเรื่องของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ บางทีอาจจะเป็นการฝันมากเกินไป แต่ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ต้องเริ่มจากฝัน ส่วนการทำตรงนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่ยังไม่สามารถบอกได้แต่เราได้เริ่มแล้ว"

ด้านรายได้และยอดขาย ของเอสวีโอเอรอบปีนี้นั้น ตั้งเป้าไว้ ว่าจะมียอดขายคอมพิวเตอร์เอสวีโอเอประมาณ 1 แสนเครื่อง เป็นสินค้าส่งออกประมาณ 1 หมื่น เครื่อง มูลค่าประมาณ 100 ล้าน บาท จากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ประมาณ 5 หมื่นเครื่อง ส่วนรอบปี 2548 ตั้งเป้าส่งออกพีซี 2.5 หมื่นเครื่อง คิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.