ปรส.โชว์ฝีมือ ตรงแนว IMF


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2541)



กลับสู่หน้าหลัก

การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจไทย ก้าวล่วงมาสู่ช่วงที่สามของกระบวนการคือการขายทรัพย์สิน ผลงานของ ปรส. หรือคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน ที่ผ่านมาได้รับการประเมินคะแนนในระดับค่อนข้างดี โดยเฉพาะความเคร่งครัดต่อกรอบเวลาที่ IMF กำหนดไว้ ซึ่งเป็นปมเงื่อนสำคัญที่ต่างชาติจับตามองในการขายทรัพย์สิน ซึ่งทีมผู้จัดการพิเศษได้ประเมินราคาทางบัญชีไว้โดยมีส่วนลด 31% เป็นอัตราต่ำสุด และ 51% เป็นอัตราสูงสุดนั้น ปรากฏว่าการขายรถยนต์รอบแรก ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือสามารถขายได้สูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ถึง 20% แต่ทรัพย์สินที่เป็นสินเชื่อรถยนต์นั้น มีสัดส่วนเพียง 8% ของทรัพย์สินทั้งหมด รายการที่ใหญ่ที่สุดคือเงินกู้นิติบุคคล ซึ่งมีสัดส่วนถึง 60% นั้น ยังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแพ็กเกจเพื่อการขาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้จัดการพิเศษชุดที่สอง ที่ต้องเข้ามาดำเนินการรับช่วงต่อจากชุดที่หนึ่งที่หมดอายุไปแล้วเมื่อ18 ก.พ.ที่ผ่านมา การดำเนินงานของ ปรส.มีเจ้าหน้าที่ของ World Bank คอยช่วยดูแลกำกับทุกด้าน ซึ่งพวกเขาเพิ่งเข้ามาประจำการในกรุงเทพฯ หลังจากที่ออฟฟิศเวิลด์แบงก์ที่อาคารดีทแฮล์มเกือบจะลดขนาดหน่วยงานลง เพราะไม่มีภารกิจใดๆ แต่หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทและเริ่มมีวิกฤติเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ของเวิลด์แบงก์ก็เริ่มกลับเข้ามาประจำดูแลการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขเงินกู้ที่เวิลด์แบงก์ปล่อยให้ไทย พวกเขามั่นใจแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก และมองปัญหาไทยแยกแยะจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ในช่วงกลางปีนี้ พวกเขาเชื่อว่าไทยต้องเจอวิกฤติหนักกว่าที่ผ่านมา!

เรื่องโดย ภัชราพร ช้างแก้ว, สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์


4 กระบวนการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน

หลังจากที่มีความขลุกขลักและสารพันปัญหาเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน จนในที่สุดการก่อตั้งและดำเนินการ FRA ก็บรรลุผลสำเร็จและมีการดำเนินงานมาเป็นลำดับนั้น ขั้นตอนปัจจุบันอาจนับได้ว่าเป็นช่วงที่ต้องกินเวลานานที่สุด มีความยุ่งยากซับซ้อนในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใสในการดำเนินงานมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะเป็นขั้นตอนของการขายทรัพย์ หลังจากผ่านสองขั้นตอนแรกที่มีความยุ่งยากไม่แพ้กันมาแล้วคือ การประกาศปิดกิจการ 56 สถาบันการเงิน และการเข้าควบคุมตรวจสอบดูแลรักษาสภาพทรัพย์สิน

ในขั้นตอนที่สามนี้ อมเรศ ศิลาอ่อน ประธานคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือ ปรส. ได้อธิบายความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ปรส. ว่ามีการประชุมเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ที่ปิดกิจการไปแล้ว 56 แห่ง ซึ่งเป็นการประชุมฯครั้งที่ 2 ไปแล้วเมื่อ 13-15 ก.พ.ที่ผ่านมา

การประชุมช่วงแรกเป็นการประชุมรวมเพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของ ปรส.ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน และรายงานแผนการกับขั้นตอนการจำหน่ายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ ในการประชุมช่วงที่สองเป็นการเสนอรายงานให้เจ้าหนี้ ซึ่งจัดเตรียมโดยผู้จัดการเฉพาะกิจ เพื่อสรุปการดำเนินงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2540 ซึ่งเป็นวันที่ได้ปิดกิจการ 56 บริษัทนี้เป็นต้นมา และเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ได้ซักถามเกี่ยวกับการดำเนินงานของแต่ละบริษัท

นับแต่การประชุมครั้งที่ 1 เมื่อ 20-21 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ปรส. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในการประชุมระหว่าง 3 วันนี้ คณะกรรมการฯ ได้จัดเตรียมรายงานสถานะทางการเงินและรายงานเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่ง เพื่อจะให้เจ้าหนี้ทุกท่านทราบถึงสถานะของสถาบันที่เขาเป็นเจ้าหนี้อยู่ รายงานต่างๆ เหล่านี้ได้จัดทำโดยผู้จัดการเฉพาะกิจ (SMs) ด้วยความช่วยเหลือของที่ปรึกษาเฉพาะกิจ (SA) และในการประชุมแยกบริษัทนั้น เจ้าหนี้ของทั้ง 56 บริษัทสามารถซักถามรายละเอียดต่างๆ ตลอดจนสถานภาพของบริษัทแต่ละแห่งจากคณะกรรมการตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ปรส. และได้จัดผู้จัดการเฉพาะกิจและที่ปรึกษาเฉพาะกิจไว้อย่างเต็มที่

"ผมขอเรียนให้ทราบโดยสรุปว่า สินทรัพย์ของสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่ง ที่รวบรวมจากรายงานสถานะการเงิน ซึ่งเดิมประเมินมูลค่าไว้ประมาณ 866,000 ล้านบาทจากรายงานของ ผจก.เฉพาะกิจก็มีการคาดคะเนว่า จะมีกรอบขั้นสูงต่ำ เมื่อขายสินทรัพย์แล้วจะเหลือเงินชดใช้เจ้าหนี้ เป็นมูลค่าสูงสุดคาดคะเนไว้ว่าประมาณ 592,000 ล้านบาท และต่ำสุดที่ 363,000 ล้านบาท นี่เป็นการคาดคะเน"

ส่วนหนี้ของสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่งเมื่อวันที่ 8 ก.พ. มีมูลค่ารวมประมาณ 866,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อคำนวณอัตราส่วนลดของทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีอัตราส่วนลด 31.64%-51.08% (ดูตาราง 1 มูลค่าสินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงิน)

อมเรศย้ำว่าตัวเลขนี้เป็นการประเมินทางบัญชี ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะ "เมื่อมีการขายสินทรัพย์นั้นขึ้นอยู่กับว่าตลาดจะให้มูลค่าสินทรัพย์นี้อย่างไรเท่าไร"

ขณะเดียวกัน ปรส.ก็กำลังเดินหน้าเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งมีความคืบหน้าไปพอสมควร มีการกำหนดวันที่จะมีการประมูลรถยึดและรถบริษัทของ 56 ไฟแนนซ์ โดยเริ่มแต่วันที่ 21 ก.พ. ซึ่งคาดว่าคงจะสามารถดำเนินการจำหน่ายสินทรัพย์อื่นๆ ต่อไปได้ตามตารางที่กำหนดไว้ (ดูตาราง 2 แผนการดำเนินงานของ ปรส.)

นอกเหนือจากภารกิจที่จะต้องดูแลกำกับสถาบันการเงินทั้ง 56 แห่ง ตลอดจนการพัฒนากระบวนการจำหน่ายสินทรัพย์หลักและสินทรัพย์อื่นๆ แล้ว คณะกรรมการ ปรส.ก็ยังได้ดำเนินการเรื่องอื่นอีก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเจ้าหนี้ และทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับ 56 บริษัทนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับ 56 บริษัทในเวลานี้มีอยู่ 3 เรื่อง :-

- การที่ ปรส.ได้ทำเรื่องขอเสนอไปยังกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือที่เรียกว่า กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อขอให้กองทุนฟื้นฟูฯ สละหลักประกันที่ได้ยึดไปจาก 56 บริษัทนี้ ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่คณะกรรมการบริหารของกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งได้มีการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ให้ความเห็นชอบในหลักการเรื่องการสละหลักประกัน โดยจะยอมรับสภาพในฐานะที่เท่าเทียมกันกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ ด้วยเหตุที่ว่ากองทุนฯ เป็นเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันรายใหญ่ที่สุดของสถาบันการเงิน 56 แห่งนี้ ความเห็นชอบในหลักการนี้จะเป็นส่วนสำคัญมากในการเปิดโอกาสที่ดีให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่าความเห็นชอบในหลักการของกองทุนฯ นี้ต้องได้รับความเห็นชอบการอนุมัติจาก รมต.คลัง ซึ่งตอนนี้ยังรอขั้นตอนขั้นสุดท้ายนี้อยู่ แต่ก็คาดว่าจะเป็นวิวัฒนาการที่น่าสนใจ

- เรื่องที่สองคือ ต้องมีการให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ต่างประเทศที่อาจจะมีเวลาในการพิจารณาข้อมูลต่างๆ น้อยกว่าคนอื่น เพื่อเป็นการขยายเวลาให้เจ้าหนี้ได้พิจารณาข้อมูลและรายงานสถานะการเงิน ตลอดจนขั้นตอนในกระบวนการจำหน่ายสินทรัพย์ ปรส.ก็ได้หารือกับแบงก์ชาติ กระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย ซึ่งธนาคารกรุงไทยได้ตกลงยินยอมที่จะยืดเวลาการแลกเปลี่ยนหนี้เป็นบัตรเงินฝากของธนาคาร ซึ่งเดิมกำหนดไว้สิ้นสุดวันที่ 20 ก.พ. 2541 ธนาคารยอมยืดออกไปเป็นวันที่ 31 มี.ค. 2541 และก่อนที่จะถึงระยะเวลาที่กำหนดนี้ ทาง ก.ล.ต.จะจัดให้มีการสัมมนากลุ่มสำหรับกลุ่มเจ้าหนี้และผู้ที่ประสงค์เข้าประมูล เพื่อให้ทุกคนเข้าใจรายละเอียดของหลักเกณฑ์และวิธีการจำหน่ายสินทรัพย์ ตลอดจนวิธีการขอเข้าร่วมประมูล

- เรื่องที่สาม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งในการพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายชำระคืนเจ้าหนี้ ปรส.ได้พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเพื่อให้มั่นใจว่าการชำระคืนแก่เจ้าหนี้ทุกคนจะดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายของไทย ก็เป็นที่สรุปในเบื้องต้นในตอนนี้ว่า หลักเกณฑ์การเฉลี่ยทรัพย์คืนแก่เจ้าหนี้ที่มีมูลหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ จะใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เฉลี่ยทรัพย์คืน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายไทย ซึ่ง ปรส. ก็ยังศึกษาเรื่องนี้ในรายละเอียดและผลกระทบที่อาจจะมีต่อการเรียกร้องสิทธิของหนี้ จากเจ้าหนี้ทั้งฝ่ายต่างประเทศและเจ้าหนี้ไทย อันนี้คงจะแจ้งผลการวินิจฉัยให้ทราบในระยะต่อไป แต่ขณะนี้เป็นที่เชื่อได้ว่าผลคงจะออกมาในลักษณะที่ว่า วันที่จะใช้ในการแปลงหนี้จากเงินไทยเป็นเงินตราต่างประเทศคงจะใช้วันที่มีการเฉลี่ยทรัพย์คืน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า และถือเป็นขั้นตอนที่สี่ของการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกสั่งปิดกิจการ

ดังนั้น ความคืบหน้าทั้ง 3 เรื่อง ถือเป็นนิมิตที่ดีแก่ฝ่ายเจ้าหนี้ และคณะกรรมการ ปรส.ก็ได้ให้ความมั่นใจแก่เจ้าหนี้ว่า จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้สินทรัพย์จำหน่ายไปได้ในราคาที่เหมาะสม และมีมูลค่าสูงสุดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ของแต่ละสถาบันการเงิน และกระบวนการประมูลสินทรัพย์จะสามารถดำเนินการไปได้ ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง


จัดแพ็กเกจขายทรัพย์สิน
ต้องล่อตาล่อใจนักลงทุนต่างชาติกันสุดๆ

กลุ่มเป้าหมายผู้ที่จะเข้ามาซื้อทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงินในปีนี้ ไม่ใช่กลุ่มนักลงทุนในประเทศอย่างแน่นอน แม้ว่าการขายรถยนต์ในช่วงแรกๆ ผู้ที่ซื้อเป็นคนในประเทศ แต่นั่นไม่ใช่ทรัพย์สินรายใหญ่

วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ เลขาธิการ ปรส. เปิดเผยว่า "หากประเมินจากแขกต่างประเทศที่ผมต้องรับอยู่ทุกๆ วัน ก็คงต้องบอกว่าความสนใจมีสูงมาก เพราะว่าจะมีผู้ที่เข้ามาถามเรื่องกระบวนการขาย เรื่องสินทรัพย์ที่จะนำออกมาขาย มีหลายแห่งบอกมาว่าเขาสนใจสินทรัพย์ประเภทไหน และหลายแห่งก็บอกว่าต้องให้แน่ใจว่าหากมีกระบวนการขายทรัพย์สินจริง เขาต้องได้รับทราบเพื่อที่จะเข้ามาร่วมประมูลได้"

ในตอนนี้ ปรส.ยังเปิดหนทางไว้กว้างมากเพื่อที่จะดูว่าจะจัดกลุ่มทรัพย์สินเพื่อขายอย่างไร "ผมคิดว่าในแง่ของคนที่สนใจนั้น ส่วนใหญ่จะสนใจตามประเภทของทรัพย์สิน เช่น สนใจลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้อสังหาริมทรัพย์ ปรส.จะดูว่าความต้องการของผู้สนใจเหล่านี้เป็นอย่างไร และเราจะจัดแพ็กเกจตามความต้องการเหล่านั้น แต่คงไม่มีการกำหนดตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดทุกครั้ง เราจะเข้าไปดูภาวะ และความต้องการของตลาด เพื่อที่จะจัดแพ็กเกจออกมาให้ดีที่สุดและได้มูลค่าที่ดีที่สุด" วิชรัตน์กล่าว

อมเรศอธิบายว่าสินทรัพย์ที่จะนำออกขายจัดได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ สินทรัพย์หลัก (core asset) กับที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลัก (non-core asset) (ดูตาราง 3 ประเภทของสินทรัพย์)

สินทรัพย์หลักคือสิ่งที่เรียกว่า สภาพของการเป็นเจ้าหนี้ สมมติมีพอร์ตโฟลิโอของรถเช่าซื้ออยู่ 1,000 คัน ก็อาจจะเอามารวมกันเป็นสัญญาสำหรับการเช่าซื้อรถ 1,000 คัน ซึ่งรถเหล่านี้บางคันอาจจะใกล้ผ่อนหมด บางคันอาจจะมีเวลาอีกนาน ก็เอาสัญญานี้มาขายเป็นกลุ่ม ซึ่งคนที่จะมาซื้อก็ต้องมาพิจารณาว่า สัญญานี้มีราคาเท่าไหร่ในระยะ 3-5 ปี และให้เสนอราคาแก่ ปรส.

ทั้งนี้ ผู้ที่ซื้อลูกหนี้เหล่านี้ไป จำเป็นต้องดำเนินการให้บริการแก่พวกเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเท่ากับว่าผู้ที่จะซื้อลูกหนี้แต่ละประเภทต้องมีใบอนุญาตที่จำเป็นแก่การดำเนินการ เพื่อให้บริการแก่ลูกหนี้เหล่านี้ต่อไป เช่น พอร์ตเช่าซื้อรถยนต์ ในกรณีนี้ก็ต้องดำเนินการธุรกิจเช่าซื้อต่อ ซึ่งหากมีใบอนุญาตธุรกิจเงินทุนก็สามารถทำได้ หรือบริษัทธรรมดาก็ทำเช่าซื้อได้เช่นกัน หรือหากต้องการซื้อธุรกิจหลักทรัพย์เพื่อไปให้บริการต่อ ก็มีหลายบริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถทำได้ ใบอนุญาตที่จำเป็นในการดำเนินการต่อนี้ วิชรัตน์กล่าวว่า "อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อหรือ bidders ต้องจัดการเรื่องเหล่านี้เอง"

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ออกจะมีความขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะ ปรส.หวังเม็ดเงินหรือกำลังซื้อจากนักลงทุนต่างชาติ ที่จะเป็นผู้เข้ามาประมูลซื้อทรัพย์สินเหล่านี้ ทว่ามีมาตรการด้านกฎหมายหลายประการ ที่อาจเป็นอุปสรรคกีดขวางการเข้ามาซื้อสินทรัพย์ของพวกเขา เช่น เรื่องการครอบครองที่ดิน

แต่วิชรัตน์มองว่าประเด็นทางกฎหมายยังมีความยืดหยุ่นอยู่มาก หลายเรื่องมีข้อยกเว้นให้ ซึ่งในประเด็นนี้ ปรส.ก็มีจุดยืนที่ชัดเจน วิชรัตน์กล่าวว่า "หากถามว่าควรมีการยกเว้นมากกว่านี้หรือไม่ ทาง ปรส.ก็เห็นว่า หากมีความคล่องตัวก็อาจจะมีคนสนใจซื้อของเรามากขึ้น ก็น่าจะดีสำหรับ ปรส. แต่ว่าหากเป็นการเกี่ยวโยงกับเรื่องมหภาคหรือภาพใหญ่ เราก็ควรถูกกำหนดโดยนโยบายหรือความเป็นไปได้ของภาพใหญ่"

ขณะที่ มารินา โมเร็ทตี้ นักเศรษฐศาสตร์การเงินแห่งเวิลด์แบงก์ กรุงเทพฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ในเรื่องนี้ว่า "มีข้อกฎหมายอยู่ 3 เรื่องที่ควรปรับปรุง เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติได้เข้าถึงทรัพย์สินในไทยได้มากขึ้น คือกฎหมายที่เปิดเผยเกี่ยวกับสินทรัพย์รอการขาย (Forclosed Law) กฎหมายล้มละลาย (Bankruptcy Law) และกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนของชาวต่างชาติ (Alien Business Law)"

โดยกฎหมายที่มารินาคิดว่ามีความสำคัญมากคือเรื่อง Foreclosed Law โดยเฉพาะการใช้กฎหมายนี้กับบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ และกับเงินกู้ที่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งก็มักจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ อาคารสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น

แม้ว่าการดำเนินการต่างๆ ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ซึ่งเจ้าหน้าที่เวิลด์แบงก์ ก็เชื่อว่าในระยะเริ่มต้นของการขายสินทรัพย์จะต้องมีความขลุกขลักพอสมควร แต่ภาพโดยรวมการทำงานของ FRA เป็นที่พอใจของพวกเขาอย่างมาก มารินากล่าวว่า "ดิฉันเห็นว่า FRA ทำงานได้อย่างดี โดยเฉพาะส่วน back office มีประสิทธิภาพมาก ทำงานดี แต่อาจจะมีจุดอ่อนในบางเรื่อง เช่น เรื่องขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย เรื่องภาษี เรื่องการฟ้องร้องบริษัทกฎหมายต่างประเทศ

การทำงานของพวกเขามีความน่าเชื่อถือมาก ซึ่งพวกเขาก็ต้องระมัดระวังอย่างมากในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่จะมีขึ้นด้วย แต่พวกเขาทำงานหนัก ทำงานได้เร็ว ซึ่งก็เหมาะสมดีแล้ว งานขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระคืนเจ้าหนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่พวกเขาก็ทำได้ดี"

ทั้งนี้เวิลด์แบงก์ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในเรื่องการปฏิรูปสถาบันการเงินเป็นเงินมูลค่า 15 ล้านเหรียญ (645 ล้านบาทที่อัตรา 43 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งในจำนวนนี้มอบให้ FRA ประมาณไม่เกิน 8-9 ล้านเหรียญ

ในการที่จะทำให้สินทรัพย์ของ 56 ไฟแนนซ์เป็นที่น่าสนใจนั้น ปรส. คิดเรื่องการไปทำโรดโชว์เสนอขายสินทรัพย์เหล่านี้ในต่างประเทศด้วย โดยวิชรัตน์กล่าวว่า "เรื่องนี้เรายังไม่ได้ดูในรายละเอียด แต่เราถือว่า ข้อมูลและความชัดเจนในเรื่องทรัพย์สินที่เราจะขาย ต้องกระจายไปสู่จุดต่างๆ ในทั่วโลกได้ เช่น กระจายผ่านสื่อมวลชน ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะเดียวกันมีผู้สนใจหลายรายมาเกริ่นกับเราว่ากลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้าของเขา เป็นลูกค้าของวาณิชธนกิจต่างๆ ที่มีความสนใจในทรัพย์สินเหล่านี้ หากเราสามารถไปพูดคุยทำความเข้าใจกับเขาได้ ก็อาจจะมีประโยชน์ อันนี้เราก็พิจารณาอยู่ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ผมคิดว่าในแง่หนึ่ง เราต้องมีการกระจายข้อมูลต่างๆ ออกไป เพราะลูกค้าเรามีอยู่ทั่วโลก เราจะมาจำกัดการให้ข้อมูลเฉพาะในเมืองไทยไม่ได้ เป็นหน้าที่ของ ปรส. ที่จะกระจายข้อมูลไปทั่วโลก"


เน้นกระบวนการโปร่งใสทุกขั้นตอน

ในการทำงานของ ปรส.นั้น เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการเน้นเรื่องความโปร่งใสของขั้นตอนต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นทิศทางที่ทั้ง IMF และ World Bank พอใจ บวกกับบุคลิกของอมเรศ ศิลาอ่อน ประธานฯ ด้วย

ในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆที่มีการกำหนดไว้นั้น ปรส.จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการและการแถลงข่าวในทุกครั้ง ซึ่งในกลางเดือนนี้ก็จะมีการจัดสัมมนากลุ่มเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการประมูลสินทรัพย์ ให้ผู้สนใจเสนอซื้อและสื่อมวลชนเข้าฟังด้วย

ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เร่งจัดกลุ่มสินทรัพย์และทำรายละเอียดสินทรัพย์และขั้นตอนการเสนอซื้อ

วิชรัตน์เล่าว่า "ในการประมูลหลักของทาง ปรส. เราจะมีการประกาศเป็น announcement เพื่อให้ผู้สนใจทราบว่าในเดือนใด เราจะเริ่มนำทรัพย์สินประเภทใดออกมา เมื่อเราประกาศให้ทราบแล้ว เขาสามารถมาขอข้อมูลได้ ที่เรียกว่า sales memorandom ซึ่งเขาสามารถมาเลือกดูได้ และเสนอ bid ได้ ดังนั้นเราก็มีวิธีการประกาศให้ทราบว่าเราจะขายทรัพย์สินอะไรบ้าง ซึ่งคงจะเป็นวิธีการหลักที่เราจะใช้ในการจัดจำหน่ายทรัพย์สินทั้งหมด"

แต่ในเวลาเดียวกัน ปรส.จะเปิดช่องไว้อีกทางหนึ่ง คือทรัพย์สินประเภทที่ไม่ได้มีการประกาศ แต่มีคนมาบอกกับ ปรส. ว่าเขาสนใจทรัพย์สินนี้ เขาขอซื้อได้ไหม วิชรัตน์กล่าวว่า "เราก็จะเข้ามาทำการประเมินว่า การที่ให้เขาเข้ามาซื้อทรัพย์สินนี้จะมีประโยชน์อะไรไหม น่าจะได้ราคาดีไหม จะมีอะไรที่ขัดกับการขายทรัพย์สินหลักหรือไม่ หากเราเห็นว่าน่าสนใจ จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ หากเราจัดกลุ่มทรัพย์สินนี้ไปให้คนที่เขาสนใจ เราก็จะต้องเรียกแข่งขันราคา แต่ว่ากรณีเช่นนี้ต้องเป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่ทั่วไป และต้องมีเหตุผลจริงๆ ว่าทำไมเราให้เขาทำ ทำไมเราต้องเอาทรัพย์สินไปขายตามที่เขาขอมา แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นขั้นตอนว่า ปรส.จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเอาทรัพย์อะไรมาและก็ประกาศขายออกไป"

นี่คือขั้นตอนต่อไปที่จะได้เห็นใน การดำเนินการขายทรัพย์สินของ ปรส. ส่วนประเด็นเรื่องการชำระราคาหลักทรัพย์ที่ประมูลไปได้นั้น การกำหนดว่าจะรับอะไรเพื่อการชำระสินค้าเป็นเรื่องที่ ปรส. เห็นว่ามีความสำคัญและมีการพิจารณาเรื่องนี้ในรายละเอียดมาก

"หากเราจะกำหนดว่าเราจะรับอะไร เราจะมีการแจ้งมาแต่ต้น เช่นสำหรับสินทรัพย์ชุดนี้ เรารับเฉพาะเงินสด หรือรับพันธบัตรด้วย เราจะชี้แจงให้ทราบตั้งแต่ต้นก่อน เพื่อที่คน bid เข้ามาจะได้ทราบ rule of the game และเราจะมีกระบวนการของการทำ deep evaluation ในเรื่องของการประเมินซองประมูลต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอนของวิชาชีพที่ถูกต้องและสามารถที่จะอธิบายให้ทราบได้ว่า ทำไมเราเลือกคนนี้มาเป็นผู้ bid เพื่อไม่ให้เราถูกกล่าวหาได้ว่าเรารับโน่น นี่เป็นกรณีพิเศษสำหรับใครหรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกคนว่าใครก็ตามที่เข้ามา bid สามารถทำได้ด้วยความเสมอภาค เราไม่ได้กำหนดกติกาที่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบแก่ใคร เพราะฉะนั้นประเด็นนี้เราจะระวังอย่างมาก และเราจะคอยฟังปฏิกิริยาของตลาดว่ามี market reaction กลับมาอย่างไรในเรื่องที่เราทำไปแล้ว และเราจะพยายามพัฒนาขั้นตอนของเรา เพราะว่าเรายึดหลักการว่าต้องมีความโปร่งใส เสมอภาคกับทุกท่าน" วิชรัตน์ ให้คำมั่นไว้


ความเห็นเวิลด์แบงก์ (กรุงเทพฯ)
ต้องแยกไทยออกจากประเทศอื่นๆ

หลังจากที่มีพัฒนาการคืบหน้าในการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน 56 แห่ง ไปได้มากแล้ว รวมทั้งการประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลชุดใหม่ การปรับเงื่อนไขในหนังสือแสดงเจตจำนงเงินกู้ฉบับที่ 3 ฯลฯ หลายประเด็นของความคืบหน้าเหล่านี้ ทำให้มีนักวิเคราะห์ไม่น้อยที่เห็นว่า สถานะการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความแตกต่างจากอีก 2 ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือทำนองเดียวกันจาก IMF คืออินโดนีเซียและเกาหลีใต้

นักวิเคราะห์บางท่านให้ความเห็นว่า ไทยได้หักมุมกลับจากอาการที่เศรษฐกิจทรุดต่ำลงอย่างต่อเนื่องแล้ว (turned the corner) ซึ่งเมื่อถามความเห็นนี้กับ ดร.สเตฟาน โคเบอรี่ นักเศรษฐศาสตร์แห่งเวิลด์แบงก์ ที่กรุงเทพฯ เขาก็เห็นด้วย แต่ทำนายว่าในระยะ 6 เดือนข้างหน้า สถานการณ์จะเลวลงกว่านี้ หลังจากนั้นจึงจะดีขึ้น

ทั้งนี้เม็กซิโกใช้เวลาประมาณ 18 เดือน จึงจะสามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในระดับที่พอมีเสถียรภาพได้บ้าง แต่ก็มีเงินช่วยเหลือขนาดมหึมาจากสหรัฐฯ มาค้ำยัน ขณะที่ไทยแตกต่างจากเม็กซิโกมากนัก

เหตุที่ ดร.สเตฟานคิดว่าสถาน การณ์ข้างหน้าจะแย่ลงอีก 6 เดือน เพราะผลกระทบของเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง เพิ่งจะส่งผลออกมายังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ การหยุด-ชะลอการผลิต คนว่างงานมากขึ้น บริษัททั่วไปต้องระงับกิจการ บริษัทส่งออกต้องเลิกกิจการ เป็นต้น ผลพวงของปรากฏการณ์เหล่านี้จะสะท้อนออกมาในปัญหาสังคมซึ่งเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี แนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เดินมาถูกทางนั้นก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้ประเทศมาถึงจุดหักมุมได้เร็วขึ้นด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.