บตท.ซื้อหนี้ธอส.หมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(3 สิงหาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บตท.คาดผลเจรจาซื้อสินเชื่อจาก ธอส. 10,000 ล้านบาท น่าจะเสร็จสิ้นเดือนตุลาคม ขณะนี้เหลือเพียงแค่เจรจาราคาเท่านั้น พร้อมเจรจาเอสซีบี แคปปิตอลซื้อสินเชื่ออีก 20,000 ล้านบาท เผยเดือนกันยายนเตรียมออกบอนด์ 600 ล้านบาทโดยใช้สินเชื่อบ้าน ค้ำประกัน หรือ Mortgage bond Securitization ส่วนการควบรวมกิจการกับ บสย.นั้นหากไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่น่าทำ

นายสิริวัฒน์ พรหมบุรี กรรมการผู้จัดการบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดซื้อสินเชื่อแบบคละคุณภาพจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ของ ธอส.ได้ดำเนินการจัดกองสินเชื่อเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีการเสนอรายละเอียดทั้งหมดให้กับคณะกรรมการของ ธอส. ได้รับทราบต่อไป และภายในเดือนตุลาคมน่าจะเปิดให้ผู้ที่แสดงความสนใจเข้าไปเจรจาขอ ซื้อสินเชื่อเหล่านี้ได้ ซึ่งที่ผ่านมา บตท. ได้แสดงความจำนงเข้าเจรจาขอซื้อสินเชื่อดังกล่าวตั้งแต่ปี 2546 แต่ยังไม่สามารถตกลงรายละเอียดกันได้

ทั้งนี้ เชื่อว่า หลังจากที่ปรึกษาทางการเงินของ ธ.อ.ส. ดำเนินการจัดกองสินเชื่อเรียบร้อยแล้ว การเจรจาไม่น่าจะมีปัญหา เพราะบตท. พร้อมพันธมิตร อาทิ บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีบี แคปปิตอล พร้อมเข้าไปเจรจาติดต่อซื้อหนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยจะขอซื้อสินเชื่อแบบคละคุณภาพในจำนวน 20,000 ล้านบาท ในสัดส่วนหนี้ดี 1 ส่วน ต่อหนี้เสีย 1 ส่วน ซึ่ง บตท.จะรับซื้อหนี้ดีไปบริหาร ขณะที่หนี้เสียพันธมิตรรายอื่นจะรับไปบริหารให้

"เรากำลังรอดูข้อเสนอของ ธ.อ.ส. อยู่ว่าจะออกเป็นอย่างไร ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เราพิจารณา คือ ราคา ซึ่งเราอยากรู้ว่าเขาจะต้องการราคาเท่าไร แต่ที่ผ่านมา ที่ปรึกษาทางการเงินของเขาก็ได้มา สอบถามข้อมูลกับทาง บตท. ไป 2 ครั้งว่า เราอยากจะซื้อในราคาไหน ฉะนั้นก็จะต้องดูว่า เขาจะตั้งราคาตามที่เราพอรับได้หรือเปล่า ซึ่งหาก ว่าแพงไป เราก็คงซื้อไม่ได้" นายสิริวัฒน์ กล่าว

นายสิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือน กันยายนนี้ บตท. จะออกพันธบัตร ประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นบอนด์ที่มาจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์โดยที่มีสินเชื่อบ้านเป็นตัวค้ำประกัน(Mortgage bond Securitization : MBS) ซึ่งถือเป็นการออกบอนด์มิติใหม่ที่ บตท. ถือเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยที่ใช้วิธีการนี้ระดมทุน และในระหว่างนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำซิเคียวริไทเซชันอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเรียกว่าวิธี CMO ซึ่งจะเป็นวิธีการหนึ่งของ การทำ MBS แต่จะมีความซับซ้อนมากกว่า แต่มีลูกเล่นในการระดมทุนได้มากกว่า ซึ่งบตท. พยายามจะนำมาใช้เป็นเจ้าแรกเช่นกัน

นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันบตท.มีสินเชื่อที่รับซื้อมาจากสถาบันการเงินประมาณเดือนละ 300-500 ล้านบาท โดยเป็นลูกค้าประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี ถึง 50% โดยการรับซื้อสินเชื่อจะไม่เพิ่มมากกว่าไปกว่าจำนวนดังกล่าว เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีการปรับขึ้นในช่วงนี้หรือไม่ ซึ่งในการดำเนินธุรกิจของบตท.จำเป็นที่จะต้องอ้างอิงอัตรา ดอกเบี้ยในตลาดด้วย

"ขณะนี้บตท. กำลังดูว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะเป็นยังไง เพราะยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้น แต่โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะขึ้น ซึ่งเราก็ต้องรอดูท่าทีไปก่อนว่าจะทำอย่างไร แต่ก็คิดว่ามูลค่าการปล่อยสินเชื่อใหม่เกี่ยวกับบ้านทั้งระบบน่าจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งการปล่อยสินเชื่อรวมทั้งระบบอยู่ที่ 800,000 ล้านบาท ในปี 2547"

นายสิริวัฒน์ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึง มิถุนายน 2547 บตท.ได้รับซื้อสินเชื่อจากสถาบันการเงินมาแล้วประมาณ 1,600 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ได้มีการจดจำนองเรียบร้อย แล้วประมาณ 1,300 ล้านบาท ส่วนอีก 300 ล้านบาทนั้นกำลังพิจารณาข้อมูลการจดจำนองสินเชื่ออยู่ ทั้งนี้เชื่อว่าทั้งปี 2547 บตท.จะสามารถรับซื้อสินเชื่อใหม่ได้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมการซื้อสินเชื่อจากสถาบันการเงินข้างต้นทั้ง 2 รายด้วย ซึ่งปริมาณการรับซื้อสินเชื่อต่อเดือนจะต้องมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายสิริวัฒน์ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการควบรวบกับ บรรษัทประกัน สินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ว่า ขั้นตอนในการควบรวมกิจการระหว่างทั้ง 2 แห่งนั้น ไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด แต่เรื่องนี้ยังคง เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ควบรวมกิจการอยู่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการควบรวมกันนั้น ต้องดูถึงวัตถุประสงค์ในการควบรวมว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากว่ารวมกันแล้ว ไม่มีอะไรดีขึ้นก็ไม่ควรจะรวมกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.